xs
xsm
sm
md
lg

บ้าน-วัด-โรงเรียน (4) : วัดควรถูกจัดว่าเป็นเรือไม่พาย

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ตามอุดมการณ์ บ้าน วัดและโรงเรียนเป็นสามก้อนเส้าที่ควรจะมีบทบาทเท่าๆ กันในการให้การศึกษาแก่เยาวชน อย่างไรก็ดี เท่าที่ผ่านมา สมาชิกในสังคมมักมองผิดคิดกันว่า การศึกษาเป็นหน้าที่ของโรงเรียน การคิดเช่นนั้นนำไปสู่การให้การศึกษาบนฐานที่เปรียบเสมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกพลาด โอกาสที่จะกลัดเม็ดต่อๆ ไปได้ถูกต้องย่อมไม่มี บ้านควรเป็นผู้ปูฐานของการศึกษาเป็นอันดับแรกเนื่องจากบ้านเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมที่เยาวชนสัมผัสอยู่ตลอดเวลาจนกว่าเขาจะปีกกล้าขาแข็งและออกจากบ้านไป อย่างไรก็ดี บ้านทำงานด้านนี้ล้มเหลวมานานดังที่ชี้ให้เห็นแล้วในตอน (2) และ (3) วัดเคยมีบทบาทแบบเป็นรูปธรรม แต่เมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนไป วัดแทบไม่มีบทบาทเหลืออยู่ ร้ายยิ่งกว่านั้น ในปัจจุบัน วัดควรถูกจัดว่าเป็นเรือไม่พายในการให้การศึกษาแก่เยาวชนเสียด้วยซ้ำ

ย้อนไปราวร้อยปี เมืองไทยยังไม่มีระบบการศึกษาแบบเป็นทางการที่แพร่กระจายออกไปทั่วทุกหัวระแหงเช่นในปัจจุบัน โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาที่พอมีอยู่บ้างประปรายเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาแก่ลูกเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น ประชาชนโดยทั่วไปไม่มีโรงเรียน เยาวชนเพศชายที่ได้บวชอยู่ในวัดมีโอกาสเรียนเขียนอ่านเบื้องต้นสอนโดยพระที่สามารถอ่านเขียนได้ ส่วนเยาวชนหญิงไม่มีโอกาส การศึกษาที่เยาวชนโดยทั่วไปได้รับอย่างทัดเทียมกันได้จากบ้าน ประกอบด้วยฐานทางศีลธรรมจรรยาและขนบธรรมเนียมประเพณีพร้อมกับความรู้ด้านการประกอบอาชีพซึ่งมีเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนาเป็นหลัก

หลังมีพระราชบัญญัติการประถมศึกษาฉบับแรกเมื่อปี 2464 โรงเรียนที่สอนเขียนอ่านและวิชาการเบื้องต้นต่างๆ เริ่มแพร่กระจายออกไปสู่ชุมชนที่ไม่มีโรงเรียนมาก่อน เนื่องจากรัฐบาลขาดงบประมาณที่จะสร้างอาคารเรียนได้ทันความต้องการก่อตั้งโรงเรียนใหม่ อาคารของวัดที่มีอยู่ทั่วไปในเกือบทุกชุมชน โดยเฉพาะศาลาจึงถูกนำมาใช้เป็นอาคารเรียน ผู้เขียนเองซึ่งเกิดหลังพระราชบัญญิตินั้น 24 ปีก็ยังไม่มีอาคารของโรงเรียนในระหว่างเรียนชั้นประถม แม้ถิ่นกำเนิดจะห่างจากกรุงเทพฯ เพียงราวหนึ่งร้อยกิโลเมตรเท่านั้นก็ตาม โรงเรียนของผู้เขียนถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2476 ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ในชั้นประถม 4 ปี ผู้เขียนมีศาลาของวัดแหลมไม้ย้อยเป็นอาคารเรียน ผู้เขียนเรียนจบไปเกือบ 10 ปีก่อนที่อาคารของโรงเรียนจะถูกสร้างขึ้นใหม่ในเขตที่ดินของวัด
(ศาลาวัดแหลมไม้ย้อยซึ่งใช้เป็นอาคารเรียนอยู่ 30 ปี)
(อาคารแรกของโรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยซึ่งอายุกว่า 50 ปีแล้ว)
ย้อนไปในสมัยที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ในระดับชั้นประถม 1-4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนปี 2500 วัดไม่มีบทบาทโดยตรงในด้านการให้การศึกษาแก่นักเรียนในโรงเรียนยกเว้นเด็กผู้ชายที่ผู้ปกครองนำมาฝากไว้กับพระซึ่งมีเพียงปีละไม่กี่คน เด็กวัดอาจมาจากครอบครัวยากจนมากๆ หรือจากเด็กที่บ้านอยู่ห่างไกลจนไม่สะดวกแก่การมาโรงเรียนซึ่งต้องเดินมาตามคันนา เด็กวัดมีหน้าที่หลายอย่างรวมทั้งการกวาดถูพื้นอาคาร การล้างถ้วยชาม การติดตามพระไปในขณะพระออกบิณฑบาตและเมื่อรับกิจนิมนต์ ลูกศิษย์วัดมักได้รับการอบรมด้านกิริยามารยาทเป็นพิเศษ และเมื่อต้องการความช่วยเหลือจำพวกคำแนะนำในการทำการบ้านก็มักได้รับหากวัดมีพระที่จะช่วยได้ เด็กวัดมักกลัวพระและมักจะดูพระเป็นต้นแบบในช่วงที่อยู่ในวัด ฉะนั้น พระที่ปฏิบัติตัวดีจึงมีอิทธิพลต่อการถักทอบุคลิกของเยาวชนที่เป็นลูกศิษย์วัด

ในสมัยนี้ แทบจะไม่มีเด็กวัด ทั้งนี้เพราะภาวะทางเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลให้ความช่วยเหลือมากขึ้นโดยเฉพาะงบประมาณอาหารกลางวัน และถนนหนทางดีขึ้น นอกจากนั้น รัฐบาลมีงบประมาณสร้างอาคารให้โรงเรียนแล้ว ศาลาวัดจึงหมดบทบาทในการเป็นห้องเรียน นั่นหมายความว่า บทบาทของวัดซึ่งมีน้อยอยู่แล้วได้ลงลงไปอีก

ในกรณีของผู้เขียน ศาลาวัดหลังนั้นได้ถูกรื้อไปและที่ดินตรงนั้นถูกใช้สร้างโบสถ์หลังที่สองของวัดแหลมไม้ย้อย (โบสถ์ขนาดใหญ่ในภาพต่อไป) วัดได้สร้างศาลาขึ้นมาใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่และดูถาวรและสวยงามกว่าศาลาไม้หลังเก่า การมีโบสถ์สองหลังสร้างคำถามตามมาว่าสร้างขึ้นมาทำไมในเมื่อทั้งสองหลังใช้ทำพิธีกรรมเป็นครั้งคราวเท่านั้น วัดเรี่ยไรเงินมาได้หลายล้านเพื่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ซึ่งใช้เป็นครั้งคราว ชาวบ้านก็บริจาคด้วยความเต็มใจ แต่ทั้งพระและชาวบ้านไม่ใส่ใจอาคารของโรงเรียนซึ่งพื้นผุจนทะลุเห็นพื้นดิน (ดังภาพที่นำมาเสนอในตอนที่แล้ว)

วัดแหลมไม้ย้อยเป็นเพียงตัวอย่างน้อยๆ ที่ไม่ค่อยเด่นชัดนัก ตัวอย่างที่เด่นชัดกว่ามีอีกมากมายโดยเฉพาะการแข่งขันกันสร้างอาคารและพระพุทธรูปขนาดเล็กใหญ่ไปจนถึงใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้น ยังแข่งขันกันก่อสร้างสิ่งที่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาขึ้นมาในเขตวัดอีกด้วย (สองภาพต่อไป) กิจทางศาสนาโน้มเอียงไปในด้านการค้ามากกว่ามุ่งไปที่การช่วยวางรากฐานทางศีลธรรมจรรยาให้แก่สังคม ผู้ใดคัดค้านการก่อสร้างเหล่านี้มักมีปัญหากับพระผู้ใหญ่ในท้องถิ่นเสมอ จึงเกิดบทกลอนแนวนี้ขึ้นมา

พระองค์ใหญ่ สร้างกันได้ สร้างกันดี
เน้นกระพี้ จนลืมแก่น ลืมแท่นฐาน
ใครขัดขวาง ต่างต่อว่า เขาสามานย์
พวกคนพาล มักโอหัง ไม่ฟังใคร



การก่อสร้างสิ่งต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลและเน้นการดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เงินนั้นนอกจากจะมิได้ใช้ลงทุนในด้านการช่วยปูฐานทางศีลธรรมจรรยาแล้ว ยังอาจโน้มน้าวเยาวชนให้เข้าใจผิดคิดไปว่ากิจทางศาสนาคือการท่องเที่ยวไปชมสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นอีกด้วย ร้ายยิ่งกว่านั้น ยังมีการโน้มนำจำพวกบุญซื้อได้ นั่นคือ ยิ่งบริจาคทรัพย์ให้วัดมากเท่าไร ก็ยิ่งไปสวรรค์ชั้นสูงได้เร็วขึ้นเท่านั้น การทำบุญกลายเป็นการค้ามากกว่าการให้ทานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน

การมุ่งไปในทางก่อสร้างเดินสวนทางกับการศึกษาคำสอนและการปฏิบัติของศาสนา ส่งผลให้พระส่วนใหญ่ไม่แตกฉานในพระไตรปิฎกและไม่ปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด พระมักเป็นเพียงผู้นำ หรือองค์ประกอบของการทำพิธีกรรมต่างๆ เท่านั้น ซ้ำร้าย การบวชกลายเป็นเพียงอาชีพหนึ่งซึ่งทำให้ผู้บวชหาเงินได้อย่างง่ายดายจนกลายเป็นเศรษฐีไปตามๆ กัน เมื่อการบวชกลายเป็นเพียงอาชีพหนึ่ง พระจึงดำเนินชีวิตไม่ต่างกับคนทั่วไปและทำเรื่องอื้อฉาวให้เกิดขึ้นรายวันเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสังคมนอกวัด ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะเป็นผู้นำในด้านการจรรโลงศาสนาและปูฐานทางศีลธรรมจรรยาให้แก่เยาวชน วัดกลายเป็นแหล่งทำลายศาสนาและมีลักษณะเป็นเรือไม่พายแล้วยังเอาเท้าราน้ำในด้านการให้การศึกษาแก่เยาวชนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น