xs
xsm
sm
md
lg

วิษณุแนะยึด"นิติธรรม"แก้ปัญหา ยันศาลรธน.ยังจำเป็นต้องมีต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (29เม.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 17 ปี เรื่อง"การปฏิรูปประเทศ" โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "หลักนิติธรรมกับการบริหารประเทศ" ตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญตั้งมา 17 ปี เคยถูกไม่ยอมรับ ถูกขับไล่ ตุลาการถูกข่มขู่ คุกคาม คำวินิจฉัยมีผู้ประกาศไม่ยอมรับ ถือว่าเป็นวิกฤต ผ่านความเจ็บปวดมาพอสมควร แต่ก็ตัดไม่ตายขายไม่ขาด ร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังยอมรับให้มีสถาบันศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดิม และคงถูกวิจารณ์เหมือนเดิม ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อมีการใช้อำนาจ และไปกระทบกับคนเข้า ก็ย่อมมีทั้งฝ่ายพอใจ และไม่พอใจเป็นธรรมดา เพราะอย่างน้อยที่สุดคุณค่าสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ คือ ช่วยแก้ปัญหาทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติทางการเมือง หรือแก้วิกฤติการเมืองที่เกิดจากความไม่ชัดเจนในถ้อยคำของกฎหมาย
นายวิษณุ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติบังคับว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ตนเคยพูดที่เล่นที่จริงหลายที ว่า รัฐธรรมนูญสามร้อยมาตรายาวเกินไป แค่มีมาตราเรื่องหลักนิติธรรมไว้มาตราเดียว ก็เหลือกิน ใช้ได้กับทุกเรื่อง เพียงแต่บ้านเราไม่ฝากผีฝากไข้ มีการตีความอะไรเป็นหลักนิติธรรม และ อะไรไม่เป็น จึงต้องขยายความอีกหลายมาตรา เหมือนเป็นแม่น้ำที่แยกสายมาจากหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมเกิดขึ้นโดยเหตุผลพิเศษ เดิมทีไม่มีคนคิดหลักนี้ คิดแต่เพียงว่า ประเทศต้องมีการปกครอง คนมีอำนาจเป็นผู้วางกติกา ผู้ปกครองมีอำนาจเหนือกว่ากติกา เพราะฉะนั้น เหนือฟ้าต้องมีฟ้า หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักที่คอยเหนี่ยวรั้งผู้ปกครอง ไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ
นายวิษณุ ยังกล่าวว่า ต่อไปหลักนิติธรรมจะแสดงอิทธิฤทธิ์ เพราะกระจายอยู่หลายมาตรา ในรัฐธรรมนูญ ทุกองค์กรจะเผชิญหน้ากับการเอาหลักนิติธรรมมาใช้ เมื่อก่อนผู้ใช้อำนาจจะกลัวกับความผิดครอบจักรวาลของ ป.วิอาญา มาตรา 157 แต่ต่อไปจะเจอความผิดครอบจักรวาลมากกว่าคือ ผิดขัดหลักนิติธรรม การพิจารณาของศาลเองต่อไปก็อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น อาจจะหากฎหมายมาตัดสินไม่ได้ เพราะบางเรื่องไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดหลักนิติธรรม ซึ่งก็อาจทำให้ศาลโดนด่าได้อีก จึงต้องวางหลักให้ดี แต่ทั้งนี้ในอดีต ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ขายตรง ขัดหลักนิติธรรม เพราะเป็นกฎหมายที่เอาความผิดไปใส่ผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ต้น แต่หลักนิติธรรมข้อหนึ่ง ระบุว่า ให้ถือว่าบริสุทธิ์ก่อน แล้วค่อยตรวจสอบ จนกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งรุนแรง คณะกรรมการกฤษฎีกา เรียกประชุม เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวกระทบกฎหมายกว่าร้อยฉบับ ซึ่งในส่วนของรัฐบาล ก็ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม ในวิธีการบริหารประเทศด้วยเช่นกัน หากประมาท ไม่สนใจยึดแต่กฎหมาย ก็อาจขัดหลักนิติธรรมได้ง่าย
ดังนั้น หลักนิติธรรม ถือเป็นรากแก้ว ใช้ให้เป็นก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล แก้ไขได้ทุกปัญหา เป็นหลักที่ช่วยกำกับรัฐบาลในการออกกฎหมาย กำกับรัฐบาลในการบริหารประเทศ ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เป็นคู่มือช่วยศาล เวลาตีความหรือสร้างหลักกฎหมาย หากดำเนินการตามหลักนี้ได้ ลองคิดดูว่าสังคมไทยจะน่าอยู่เพียงไร

**รองปธ.ศาลปค.แนะสร้างจิตสำนึกเยาวชน

จากนั้น ได้มีการอภิปรายนำเสนอผลการศึกษาของผู้เข้าอบรมหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) ในหัวข้อ "แนวทางการปฏิรูปประเทศ" ที่ได้แบ่งการปฏิรูปประเทศออกเป็น 4 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และรัฐธรรมนูญ โดยนายปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึง แนวทางปฏิรูปด้านสังคมว่า แม้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ที่ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน มีจุดเด่น คือ เพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบ เกิดสมัชชาพลเมือง รวมทั้งองค์กรใหม่หลายองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ มีการคุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานไว้มากขึ้น แต่อยากเสนอให้เน้นการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก และเยาวชน เพราะแม้กฎหมายจะดี แต่หากไม่ได้สร้างจิตสำนึก ก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายบกพร่องได้ ควรเน้นหลักธรรมาภิบาล และคุณธรรม ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าส่วนตน ยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เน้นการใฝ่รู้ และจิตอาสา เพิ่มพูนหลักนิติธรรม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนทุกระดับ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กำหนดแผนดูแลผู้สูงวัยที่ครบวงจรรับกับอาเซียน มีหลักประกันสาธารณสุข ส่วนการปฏิรูปจะทำในด้านใด ก็ควรรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับ อยากให้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่ยอมรับ

** หนุนใช้ม. 44 แก้เรือประมง-สลาก

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจว่า ประเทศชาติจะก้าวหน้าได้ ต้องมีความมั่นคง การบริหารงานของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา พบว่าเกิดปัญหาหลายด้าน ทั้งการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเน้นภาคอุตสาหกรรมเกินพอดี ละเว้นการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม การจับสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมาย ปัญหาทุนนิยมผูกขาด การศึกษาที่สร้างคนเก่ง มากกว่าคนดี และปัจจุบัน ไทยถูกกดดันทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศในหลายด้าน ทั้ง การค้ามุนษย์ ความปลอดภัยทางการบิน จึงเห็นว่าแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น ควรนำ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาใช้บังคับกับกรณีที่อียู เตือนให้ไทยเข้มงวดกับเรือประมงที่ผิดกฎหมาย และปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล ระยะปานกลาง และระยะยาว ควรเสนอร่างกฎหมายเฉพาะทาง ให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณา และควรส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ ปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจบางนโยบายโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เน้นการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีคุณธรรมและมีหลักธรรมาภิบาล ทรัพยากรงบประมาณแผ่นดินต้องได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรม และปฏิรูประบบภาษีให้สอดคล้องกับประเทศ

“ชวน “ชี้หากใช้ระบบลต.ใหม่แต่แรกคงไม่ได้เป็น ส.ส.

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง แนวทางการปฏิรูปด้านการเมืองว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้เห็นความหวังดีในบางเรื่อง เช่น รูปแบบการเลือกตั้ง แต่ถ้าเอาการเลือกตั้งตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปใช้ตอนตนสมัครเป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรก ตนคงไม่ได้รับเลือก สัจธรรมความจริง บ้านเมืองมีทั้งคนดี และไม่ดี การทำให้บ้านเมืองปกติเรียบร้อย ไม่ได้แปลว่า ทุกคนเป็นคนดี เพียงแต่ให้คนดีมาปกครอง การปฏิรูปประเทศ คือการปรับปรุงให้เหมาะสม ที่ผ่านมาไม่ดีอย่างไร มีจุดอ่อนอย่างไร ก็ให้ไปดูการยึดอำนาจแต่ละครั้ง ที่มักจะมีเหตุผลว่า ฝ่ายการเมืองทุจริต ประพฤติไม่ชอบ แทรกแซงองค์กรอิสระ แตกแยกอย่างรุนแรง และ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ทั้งหมดนี้จริงตามนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่พวกเราต้องร่วมกันพิจารณา
ส่วนคำถามว่า ทำไมต้องยึดอำนาจ เป็นเพราะพฤติกรรมของผู้ใช้อำนาจ ผู้ใช้รัฐธรรมนูญ พฤติกรรมของผู้ปกครอง คือฝ่ายการเมือง จึงต้องกำหนดให้กฎ หรือหลักนั้นมีความเหมาะสมกับคนไทย และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล คือ เป็นประชาธิปไตย มองการยึดอำนาจไม่ได้เป็นอุปสรรค นายชวน กล่าวอีกว่า ตนมองบ้านเมืองของเราไปในทางบวก หากยึดเอาตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 ตลอด 82 ปีที่ผ่านมา ภาพบ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่ถ้ามองภาพย่อย ระบอบประชาธิปไตยของเรา มีอุปสรรค มีการยึดอำนาจของทหาร แต่ในวันที่มีการเผาบ้านเผาเมืองทหารไม่ได้ออกมายึดอำนาจ ทำให้คิดว่า ทหารไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยอีกแล้ว และเมื่อเราคิดว่าการยึดอำนาจไม่เป็นอุปสรรคแล้ว แต่เราลืมนึกไปว่า มีโรคใหม่ทางการเมือง คือ โรคธุรกิจทางการเมือง ไม่ได้ซื้อแต่นักการเมือง แต่ซื้อทั้งพรรค ซื้อวุฒิสภา แม้จะไม่ปฏิเสธ ที่สภามีเสียงข้างมาก เพราะเป็นสิ่งจำเป็น ระบบนี้ คุณสมบัติของนักการเมืองควรที่จะต้องมีวินัย การให้ ส.ส. เป็นอิสระไม่ต้องสังกัดพรรค จะทำให้พรรคการเมืองไม่มีวินัย แต่การเมืองไทย ที่มักจะมีการซื้อส.ส. เพื่อให้โหวตตามมติหัวหน้า หรือนายทุนพรรค ซึ่งพรรคการเมืองประเภทนั้น ไม่อาจเอามาเป็นมาตรฐาน
มองบ้านเมืองสงบไม่ได้ อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่เป็นหลักนิติธรรม
นายชวน กล่าวต่อว่า เห็นการพัฒนาทางของบ้านเมืองในทางที่ดี แม้มีความเลวร้ายในบางเรื่อง ความเหมาะสมในการกำหนดแนวทางการปฏิรูป จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การคิดออกนอกกรอบไม่ผิด แต่ถ้าออกนอกกรอบกฎหมายเมื่อไหร่ปัญหาจะเกิดขึ้น ตนภูมิใจที่เป็นคนหนึ่งที่ยึดมาตลอด แต่การใช้นโยบายนอกหลักนิติธรรม เช่น การที่ปราบผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ ส่งผลร้ายกับประเทศ
"มูลเหตุของการชุมนุม ผมชื่นชมที่คนเหล่านั้นกล้าออกมา ไม่ใช่ช่างหัวมัน หรือไม่สนใจ เคยมีคนกล่าวว่า บ้านเมืองนี้ดีทุกอย่าง ยกเว้นคนไทย แต่ผมเห็นว่า บ้านเมืองนี้ดีทุกอย่าง ดีที่สุดคือ มีคนไทย เพียงแต่คนไทยบางส่วนยังไม่ได้ลึกซึ้ง ทำไมยังมีคนโกง เพราะมีแต่คนพูด ไม่ปฏิบัติ เราจึงต้องทำให้หลักนิติธรรม เป็นภาคปฏิบัติ ถ้าใช้หลักนิติธรรมปกครอง ป่านนี้ไฟใต้ดับหมดแล้ว" นายชวน กล่าว และว่าวันที่บ้านเมืองจะสงบ ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การยึดหลักนิติธรรม เพราะถ้ายึดหลักนี้ คงไม่มีการยึดอำนาจ ไม่มีเงื่อนไขให้ทหารเข้ามา แนวทางข้างหน้า เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2559 ทหารต้องถอนออกไป ไปไล่จับคนลุกป่า ยาเสพติด ไม่ได้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ทำไมวันนี้ทหารทำหน้าที่นี้ เป็นเพราะความบกพร่องของตำรวจไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะติดบุญคุณผู้ที่แต่งตั้ง ดังนั้น เมื่อทหารออกไป ตำรวจก็ต้องเตรียมพร้อม

** ไม่เอารธน.ยืดยาว-เน้นปฏิรูปคน

นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปด้านรัฐธรรมนูญว่า การที่เราบัญญัติกฎหมาย หลักนิติธรรมในการใช้อำนาจ 3 ฝ่าย นอกจากนี้ เอกชนและภาคธุรกิจ หรือทุกภาคส่วน ต้องมีหลักนิติธรรม ตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญ เราหวังว่าจะมีหลักนิติธรรม แต่ ตลอดระยะเวลา 82 ปี เราไม่เคยได้ มีการเปลี่ยนแปลงสั่นคลอนตลอดเวลา การที่เรามาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของคนใช้ทั้งนั้น ถ้าเราปฏิรูปคน ปัญหาบ้านเมืองไม่เกิด ระยะแรก เป็นระยะเฉพาะหน้า ที่ชัดเจนว่าเราต้องสร้างกฎเกณฑ์ ให้คนที่เข้ามามีอำนาจใช้หลักนิติธรรม อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยืดเยื้อ เขียนด้วยภาษาง่ายๆ ไม่อยากเห็นการตั้งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเยอะจนเกินความจำเป็น เพราะจะกลายเป็นการตรวจสอบแบบงูกินหาง องค์กรโน้นมาองค์กรนี้ ยิ่งสร้างเยอะ จะสร้างภาระมากกมาย ไม่อยากเห็นรัฐธรรมนูญ บังคับ เสนอแนะ หรือสั่งสอน ให้คนเป็นคนดี อย่าเขียนรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายภายในที่แก้ปัญหาเรื่องคน เพราะจะแก้ไปไม่มีสิ้นสุด อย่าคิดว่าเขียนทีเดียวจะแก้ได้ กฎหมายภายใน ประมวลหรือ พ.ร.บ.เขียนชัดเจนอยู่แล้ว จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมาใส่ในรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายลูกไม่เคยถูกยกเลิก แต่รัฐธรรมนูญ ถูกยกเลิกได้ง่ายกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น