xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรศิษย์ : เหลือบไรแห่งวัดบ้านไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพของหลวงพ่อคูณนั่งรถเข็นโดยมีลูกศิษย์ประคองมือให้จับสายสิญจน์เพื่อปลุกเสกพระเครื่อง ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสม
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -พลันที่ นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และนพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด พร้อมคณะแพทย์ทีมรักษาอาการอาพาธพระเทพวิทยาคมหรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา แถลงเมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 16 พฤษภาคม ว่าหลวงพ่อคูณมรณภาพภาพลงเมื่อเวลา 11.45 น. วันเดียวกัน

ความโกลาหลเริ่มปรากฏขึ้นทันที เมื่อบรรดาศิษยานุศิษย์และคนใกล้ชิดสายวัดบ้านไร่ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะนำสังขารของหลวงพ่อ กลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านไร่

...ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ที่นำมากล่าวอ้างกัน แต่ในที่สุดปัญหาเรื่องนี้ก็ยุติลงตามมาในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อมีการประชุมร่วมกันของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดย มีนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมประชุมกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) คณะลูกศิษย์และคณะสงฆ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในการจัดการกับสรีระหลวงพ่อคูณ สุดท้ายที่ประชุมมีมติให้ปฏิบัติตาม “พินัยกรรม” ของหลวงพ่อ ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2543 หรือเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับที่ 2 ที่ให้ยกเลิกความในฉบับที่ 1

สาระสำคัญของพินัยกรรมอยู่ที่ข้อ 1.ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นหรือ มข. ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมรณภาพลง เพื่อให้ มข.มอบให้กับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ นำไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาควิชาต่อไป และ 3.การจัดทำพิธีบำเพ็ญกุศลเมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ

พร้อมให้คณะแพทยศาสตร์ มข. กระทำพิธีเช่นเดียวกับการจัดพิธีศพของอาจารย์ใหญ่นักศึกษาแพทย์ประจำปีร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น จากนั้นให้เผา ณ ฌาปนสถานวัดหนองแวง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น หรือวัดอื่นใดที่คณะแพทยศาสตร์เห็นสมควรและเหมาะสม โดยทำพิธีเผาให้เสร็จสิ้นที่ จ.ขอนแก่น จากนั้นให้นำอัฐิ เถ้าถ่าน ไปลอยอังคารที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย

การประกอบพิธีเกี่ยวกับสรีระสังขารของ “หลวงพ่อคูณ” ไม่ปรากฏชื่อ “วัดบ้านไร่” ในพินัยกรรมแม้แต่บรรทัดเดียว!!!

นั่นแสดงว่าหลวงพ่อคูณเองก็รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในวัดบ้านไร่เป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้น คงไม่ตัดสินใจมอบธาตุขันธ์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มข. รวมทั้งให้ฌาปนกิจที่วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น ทั้งๆ ที่วัดบ้านไร่เป็นวัดที่หลวงพ่อคูณสร้างเองมากับมือ

หลวงพ่อคูณเคยบอกเหตุผลกับศิษยานุศิษย์และลูกหลานผ่านสื่อมวลชนถึงเหตุผลการทำพินัยกรรมดังกล่าวว่า “กูเองไม่อยากเป็นภาระกับคนอื่น เมื่อตายไปแล้วก็อยากให้ทุกคนได้ดำเนินการทุกอย่างตามที่ได้ระบุเอาไว้ในพินัยกรรม โดยกูเองก็ได้ให้ลูกศิษย์ทั้ง 4 คนเป็นผู้ดูแลทุกอย่าง หลังที่กูตายไปแล้ว ส่วนเหตุผลที่กูให้เผาศพกู ก็เพราะกูไม่อยากให้เป็นภาระ ไม่อยากให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากตัวกู กูไม่ต้องการให้ศิษยานุศิษย์เดือดร้อน หรือเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อยามที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อไม่ต้องการให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างลูกศิษย์ด้วยกัน อย่างน้อยก็เป็นการลดภาระลงไปได้ เพราะเมื่อได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นมาลูกศิษย์จะได้ไม่ต้องเกิดความขัดแย้งกันเอง”

แน่นอน ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลในวัดบ้านไร่คือ เงื่อนปมสำคัญของปัญหา ทั้งจากเงินบริจาคที่ลูกศิษย์ลูกหาทำบุญกับหลวงพ่อ หรือการสร้างวัตถุมงคล

“ในยุคที่หลวงพ่อกำลังดังสุดๆ เงินบริจาคของหลวงพ่อ จะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารมานับเงินและฝากเข้าบัญชีที่วัดบ้านไร่แบบวันต่อวัน ช่วงนั้นจำได้ว่ามี 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่มีรายได้เข้าวัดบ้านไร่เป็นจำนวนมหาศาล เฉพาะเงินบริจาคทำบุญไม่ต่ำกว่าวันละหลายแสนบาทถึง 1 ล้านบาท ซึ่งนำมากองจนเต็มห้องกุฏิหลวงพ่อคูณเพื่อร่วมกันนับทุกวัน ขณะนั้นหลวงพ่อคูณจะมีเงินเข้าออกไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

“สำหรับในช่วงบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อคูณนั้น ผมทราบว่าผู้ที่จะทำการสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อคูณต้องขอใบอนุญาตจากทางวัดบ้านไร่ และต้องจ่ายเงินสูงถึงใบละ 2 ล้านบาท อยากถามว่าเงินส่วนนี้เข้าวัดบ้านไร่หรือไม่และหายไปไหน เพราะมีการมาขอใบอนุญาตกันจำนวนมาก” ลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อ รุ่นบุกเบิกก่อสร้างพัฒนาวัดบ้านไร่ให้ข้อมูล

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ทำไมในยามที่หลวงพ่อคูณอาพาธจึงยังมีการสร้างวัตถุมงคลออกมาไม่หยุดไม่หย่อน

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ผู้คนในโลกออนไลน์ได้วิพากษ์วิจารณ์และแชร์ส่งต่อเผยแพร่เรื่องราวอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ เมื่อปรากฏภาพของหลวงพ่อคูณนั่งรถเข็นโดยมีลูกศิษย์ประคองมือให้จับสายสิญจน์เพื่อปลุกเสกพระเครื่องโดยไม่สนใจสภาพร่างกายหลวงพ่อคูณที่กำลังเจ็บป่วยและชราภาพเลยแม้แต่น้อย

กระนั้นก็ดี ปัญหาเรื่องการจัดการกับสังขารของหลวงพ่อคูณจบลง แต่กลับมีปัญหาใหม่ตามมา เมื่อพระครูพีรเดชธำรง เจ้าคณะตำบลกุดพิมาน มีคำสั่งที่ 10/2558 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส โดยแต่งตั้งให้ พระภาวนาประชานารถ (นุช รตนวิชโย) อายุ 66 พรรษา 22 วิทยฐานะน.ธ.โท วัดบ้านไร่ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ และมีอำนาจหน้าที่เสมือนหนึ่งเจ้าอาวาส

เป็นคำสั่งที่ออกมาในบ่ายวันเดียวกันกับที่หลวงพ่อมรณภาพ จนสร้างความกังขาให้กับศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก

นายธวัช เรืองหร่าย ไวยาวัจกรวัดบ้านไร่ และเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อคูณ พูดถึงเรื่องนี้ว่าการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสไม่ได้เป็นไปตามที่หลวงพ่อสั่งเสียไว้ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้ไม่จบง่ายๆแน่ หลวงปู่(หลวงพ่อคูณ)ยังไม่ทันจะละสังขาร ก็รีบแต่งตั้งกันเข้ามาหาประโยชน์ที่วัดทันที เมื่อเสร็จสิ้นจากงานบำเพ็ญกุศลของหลวงปู่ที่ จ.ขอนแก่น แล้ว คงต้องมีการหารือกัน วันนี้หลวงปู่ได้จากไปแล้วทุกคนควรจะสานต่อสิ่งที่ท่านสั่งไว้ เพราะท่านมองอะไรทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว ท่านรู้ว่าสิ่งใดจะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา

ต้องไม่ลืมว่านายธวัช เรืองหร่าย คือ 1 ใน 4 คน ที่ลงนามเป็นพยานรับรองพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณพินัยกรรมฉบับนี้

ขณะที่พระครูพีรเดชธำรง เจ้าคณะตำบลกุดพิมาน ชี้แจงว่าได้ปฏิบัติกิจตามอำนาจหน้าที่ และตามคำเรียกร้องของคณะกรรมการวัดบ้านไร่ คณะสงฆ์ และชาวบ้านส่วนใหญ่ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการภายในวัดบ้านไร่ช่วงนี้ เพราะในเบื้องต้นต้องมีผู้นำวัดก่อน ทั้งยืนยันว่าพระภาวนาประชานาถ เป็นพระนักพัฒนาเหมือนหลวงพ่อคูณ ร่วมสร้างวัดบ้านไร่กับหลวงพ่อคูณมาตั้งแต่ต้น

แต่ลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อคูณหลายคนเชื่อว่ามีการวางแผนกันมาอย่างดี และไม่ชอบมาพากล เพราะพ่อคูณเคยสั่งไว้ว่า อย่าให้พระรูปนี้เข้ามาที่วัดบ้านไร่เด็ดขาด เพราะท่านเคยสั่งไล่ออกจากวัดไปแล้ว เนื่องจากมุ่งหาผลประโยชน์จากวัตถุมงคลช่วงที่อยู่กับหลวงพ่อคูณ เช่น ทำกำไลมงคล และสร้างความวุ่นวายภายในวัด อีกทั้งเมื่อครั้งยังไม่บวชเป็นพระ ได้เคยมาช่วยงานหลวงพ่อที่วัด และต่อว่าหลวงพ่ออย่างรุนแรงเรื่องเงินบริจาคของญาติโยมที่รับไว้เพียงครึ่งเดียว โดยต่อว่าหลวงพ่อว่าทำไมโง่ ไม่รับเงินบริจาคทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องอื่นอีกมาก

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เกือบ 20 ปี แม้จะพยายามขอเข้ามาอยู่วัดบ้านไร่โดยตลอด แต่หลวงพ่อปฏิเสธและไล่กลับไปทุกครั้ง ไม่ว่ามีงานใหญ่ สำคัญขนาดไหน หรือครบรอบวันเกิดหลวงพ่อก็ตาม

“ในวันนั้น หลวงพ่อคูณได้ไล่ออกจากวัดบ้านไร่ไป พร้อมให้นำเงินที่ได้จากงานฝังลูกนิมิตทั้งหมดกว่า 30 ล้านบาท รวมทั้งให้ขนเอาวัตถุมงคลที่จัดทำขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงนั้นไปทั้งหมดด้วย ซึ่งจำได้ว่าวัตถุมงคลดังกล่าวมีเป็นจำนวนมากถึงขั้นต้องนำรถบรรทุกสิบล้อมาขนออกไป และนับตั้งแต่นั้นมาพระองค์นี้ก็ไม่เคยได้กลับเข้ามาที่วัดบ้านไร่อีกเลย”ลูกศิษย์วัดบ้านไร่รุ่นบุกเบิกให้ข้อมูล

สำหรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ หลวงพ่อเคยทาบทามเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทดรูปปัจจุบัน แต่เนื่องจากเจ้าคณะอำเภอเห็นว่าหลวงพ่อคูณยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ จึงไม่รับ ทำให้ทุกคนต่างรู้ดีว่าหลวงพ่อต้องการให้ใครมาสานต่อเจตนารมณ์ ซึ่งนอกจากเจ้าคณะอำเภอแล้ว ยังมีพระมหาสุริยา อภิวฑฺฒโน หรือพระมหาโอเล่ ที่หลวงพ่อส่งเสียเล่าเรียนทั้งทางธรรมและทางโลก จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือดอกเตอร์ ก็มีความเหมาะสม แต่กลับไม่ได้รับการแต่งตั้ง

ขณะเดียวกันเปิดปูมประวัติดูแล้ว พระภาวนาประชานาถ(นุช รตนวิชโย) โด่งดังมากเมื่อปี 2549 ชนิดถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม เคยสร้างความฮือฮา โดยเมื่อครั้งที่ออกจากวัดบ้านไร่ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวทุ่ง ต.ตาจั่น อ.คง จ.นครราชสีมา ได้สร้าง “โถส้วมทองคำ” ในห้องน้ำ 6 ห้องในกุฏิรับรองพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และบุคคลสำคัญ รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยเป็นโถส้วมแบบนั่งยอง เคลือบทองคำ 18 เค ค่าก่อสร้างห้องละประมาณ 50,000 บาทปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนไปทั่วประเทศ โดยล่าสุดไปเป็นที่ปรึกษาวิหารหลวงปู่โต อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

จนวันที่ 19 พฤษภาคม พระภาวนาประชานาถจึงเปิดปากกับสื่อมวลชนขณะมาปฏิบัติหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่หลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า “มารับตำแหน่งเนื่องจากชาวบ้านอยากให้มาอยู่ที่นี่ ความจริงจะอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ส่วนจะเอาเรื่องราวในอดีตมาเป็นประเด็นปัญหานั้น มันเป็นเรื่องของอดีตที่เคยมีปัญหากันจริง จะรื้อฟื้นกันไปทำไม อย่างไรก็แก้ไขอดีตไม่ได้ แต่อนาคตเราสามารถทำให้ดีได้

“และเมื่อให้อาตมามาทำหน้าที่ ก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังบารมีจะทำได้ ซึ่งต้องร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่าย ถ้าขัดแย้งกันก็ทำอะไรไม่ได้ จะให้อาตมาอยู่หรือไม่ให้อยู่แล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ งานในกิจนิมนต์เก่าของอาตมายังเหลืออีกมาก จึงมาดูแลวัดบ้านไร่ได้วันละไม่กี่ชั่วโมง แต่ไม่ต้องถามว่าอาตมาจะอยู่ที่ไหน ถ้ามีเวลาว่างจะมาปฏิบัติกิจของสงฆ์ที่วัดบ้านไร่ให้ดีที่สุด

“ถ้ามีเรื่องโต้แย้ง ขัดแย้งกัน ไม่ให้อยู่ อาตมาก็ไม่อยู่ ถ้าอยากดังอย่าหวังสนุก อาตมาขออยู่เงียบๆดีแล้วโยม”

ทว่า คำชี้แจงดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ข้อกังขาได้รับการคลี่คลาย เพราะแม้แต่พระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ยังพูดถึงเรื่องนี้ว่ายังมีข้อข้องใจอยู่หลายประเด็น การแต่งตั้งต้องดูที่ความเหมาะสม ดูที่คุณสมบัติ โดยเอาอนาคตของวัดเป็นตัวตั้ง เช่น มีพรรษาครบ 5 พรรษา คือ บวชมาเกินกว่า 5 ปี มีความรู้ความสามารถ จบนักธรรมโทหรือเอก อย่างพระอาจารย์นุชนักธรรมโท เหมาะหรือไม่กับวัดระดับนี้

นอกจากนี้ยังวัดกันที่หน้าที่ของเจ้าอาวาสที่มี 4 ข้อหลักว่าทำได้ครบหรือไม่ เช่น 1.หน้าที่ในการบำรุงรักษาวัด จัดกิจการและสาธารณะสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี 2.ปกครองสอดส่องพระภิกษุสามเณร ให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามกฎหมายบ้านเมือง กฎมหาเถรสมาคม ตลอดจนพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช

3.เป็นธุระในการจัดการศึกษาเล่าเรียนอบรมพระภิกษุและผู้อยู่อาศัย และ 4.เป็นธุระในการบำเพ็ญกุศลของชาวบ้าน หน้าที่ 4 ข้อนี้จะเอามาเป็นตัวชี้วัดว่าเหมาะหรือไม่เหมาะสม หากมีความสามารถพอเราก็เบาใจว่าทำงานได้

สำหรับการจัดกิจการและสาธารณสมบัติของวัด จะมีคำจำกัดตอนท้ายว่า ต้องให้เป็นไปด้วยดี ไม่ให้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย แต่พอมาเป็นปั้บยุ่งทันที แสดงว่าไม่เหมาะสม จะแก้ปัญหาที่ตามมาอีกยาวได้ยาก และอีกข้อ คือ เป็นธุระในการจัดการศึกษานั้น จะเปิดเรียนได้หรือไม่ และจะเปิดสอนนักธรรมโท นักธรรมเอกได้หรือไม่ ในเมื่อรักษาการเจ้าอาวาสมีวุฒิแค่นักธรรมโท และนักธรรมโทจบมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ลืมไปหมดหรือยัง นานป่านนี้แล้ว หรือสอบได้ตั้งแต่ปีไหน ทิ้งไปปี 2 ปีก็ลืมไปหมดแล้ว

ฉะนั้นจะมาเปิดเรียนต้องเอาพระที่มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถทางการศึกษาไปอยู่ ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถผลักดันวัดบ้านไร่ให้เป็นวัดสถานศึกษาได้ แต่การแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสเป็นอำนาจของเจ้าคณะตำบล ดังนั้นตอนนี้ก็คล้ายๆทดลองฟังกระแสสังคมไปก่อน แต่ความจริงมีหน้าที่เหมือนเจ้าอาวาส เพียงแต่โดยมารยาทเขาก็จะรู้อยู่แล้วว่าควรจะทำอะไรอย่างไร

คุณสมบัติที่กล่าวมานี้ เจ้าคณะตำบลจะต้องไปตรวจสอบว่าครบสมบูรณ์หรือไม่ ก็ต้องปรึกษากันกับสงฆ์ในตำบลและอำเภอด้วย สุดท้ายต้องให้เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งจึงจะสมบูรณ์

“มีคนติดใจเรื่องนี้มาก อาตมาก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน ตกใจว่าทำไมทำกันแบบนี้ มีลับลมคมใน หรือมีการเตรียมแผนกันมาอย่างไร เพราะเป็นเวลาเดียวกับที่หลวงพ่อคูณยังไม่ขาดใจ มันกระชั้นชิดและเร็วเกินไป อยากถามว่าหลวงพ่อคูณยังไม่ขาดใจ เอาเวลาไหนไปปรึกษาหารือ เพราะในเอกสารแต่งตั้ง มีคำหนึ่งบอกว่าได้ปรึกษาหารือกัน ไปปรึกษาอย่างไร หลวงพ่อคูณยังไม่ขาดใจก็แช่งให้หลวงพ่อตายไวๆ อย่างนั้นหรือ เขาไม่เคยทำกันหรอก นี่ก็เท่ากับแช่งหลวงพ่อคูณให้ตายไวๆ

“หลวงพ่อคูณยังไม่ขาดใจเลยก็ตั้งรักษาการแล้ว นี่ก็แสดงว่าชิงไหวชิงพริบ หรือมีอะไรอยู่ลึกๆว่า ถ้าไม่รีบเอาช่วงนี้ก็อาจจะเพลี่ยงพล้ำเสียทีอะไรอย่างไร มันบ่งบอกอยู่ ให้สื่อมวลชนไปสืบหาเอาเองก็แล้วกัน”เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาให้ความเห็น

คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ “พระนุช” จะได้รับการสนับสนุนจาก “กำนัน” อย่างออกนอกหน้า เพราะทั้งสองคนต่างเคยทำงานอยู่ในโรงงานปั๊มพระมาก่อน

ถึงบรรทัดนี้ต้องบอกว่า ปมการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ กำลังกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหม่ ที่คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา ต้องช่วยกันหาทางออกให้ ในการประชุมประจำเดือนคณะสงฆ์วันที่ 25 พฤษภาคม ทั้งที่ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะตำบล ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งต้องเป็นผู้แก้ไข

หากไม่มีมีลับลมคมในหรือเตรียมแผนกันมาก่อน อย่างที่พระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวไว้!!!



พระภาวนาประชานารถ รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่
พระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา
พระครูพีรเดชธำรง เจ้าคณะตำบลกุดพิมาน
พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ เจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด
กำลังโหลดความคิดเห็น