xs
xsm
sm
md
lg

คดี 7 ตุลาฯ มีแต่ พธม.ติดคุก?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย...สุนันท์ ศรีจันทรา

เหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ ปี 2551 ล่วงเลยมา 7 ปีแล้ว โดยมีคดีฟ้องร้องกันมากมาย ทั้งรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) แต่ฝ่ายที่ต้องรับโทษหนัก กลายเป็นประชาชนผู้ถูกกระทำจากอำนาจรัฐเท่านั้น

ล่าสุด ศาลฎีกาได้พิจารณาคดีนายปรีชา ตรีจรูญ 1ในผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยถูกอัยการฟ้องในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และความผิดในการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งถูกตัดสินจำคุกรวม 2 ปี 16 เดือน

คดีนายปรีชาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมชาย ที่บริเวณหน้ารัฐสภา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตหลายราย พิการนับสิบคน และบาดเจ็บนับพันราย

นายปรีชาได้ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 5 นาย และถูกตั้งข้อหาหนัก ตั้งแต่การพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน มั่วสุมตั้งแต่ 10คนขึ้นไป

ศาลชั้นต้นตัดสินว่า นายปรีชามีความผิดฐานพยายามฆ่า ลงโทษจำคุก 3ปี แต่จำเลยไม่เคยต้องโทษอาญามาก่อน มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงให้โอกาสปรับตัวเป็นคนดี โทษรอลงอาญาไว้ 2 ปี

ส่วนโทษมั่วสุดตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยร่วมกับบุคคลใดในการวางแผนก่อความวุ่นวาย จึงยกฟ้อง

ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ตัดสินง่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่การนำสืบของจำเลยมีประโยชน์ต่อรูปคดี มีเหตุบรรเทาโทษเหลือจำคุก 33 ปี 12 เดือน

จำเลยได้ยื่นฎีกา โดยศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไป ลงโทษจำคุก 8 เดือน ประเด็นต่อมาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่

ข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุ จำเลยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อขัดขวางบไม่ให้นายสมชาย อดีตนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาล และได้มีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างต่อเนื่องทั้งช่วงเช้าจนถึงกลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงกระสุนปืนและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตและ บาดเจ็บ

ต่อมาภาพหลังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการนอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความไม่สงบ 7 ต.ค.2551 สรุปตรงกันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไม่เป็นไปตามหลักระเบียบราชการ และเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จนทำให้มีผู้ขาดเจ็บและเสียชีวิต

แม้ผู้ชุมนุมบางรายจะมีอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถกระทำการอย่างรุนแรงหรือลุแก่อำนาจได้ รวมทั้งปรากฏว่า มีการใช้คำพูดยั่วยุที่ไม่เหมาะสมกับผู้ชุมนุม ขณะที่จำเลยได้รับบาดเจ็บกระดูกตาข้างขวาแตก จนทำให้ตาข้างขวาบอดสนิท และดั้งจมูกมีบาดแผล เป็นเหตุให้จำเลยเกิดบันดาลโทสะ

แต่การกระทำของจำเลยถือว่ามีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยบันดาลโทสะ ตัดสินจำคุก 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือ 2 ปี 8 เดือน รวมความผิดมั่วสุม 10 คนขึ้นไป จำคุก 2 ปี 16 เดือน

นายปรีชาติดคุกมาแล้ว 2 ปี 5 เดือน เกินกว่า 2 ใน 3 ของโทษที่ตัดสิน ทนายความจึงจะขอพักโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์

คดีของนายปรีชา สู้กันมา 3 ศาล และถือว่าสิ้นสุดแล้ว แต่คดี 7 ตุลาทมิฬปี51 ยังไม่สิ้นสุด เพราะผู้ที่ก่อความผิด ไม่ได้มีเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุม

แต่รัฐบาลนายสมชายและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนจนบาดเจ็บล้มตายนับพันคน
เหตุการณ์ผ่านไป 7 ปี แต่ความอำมหิตของรัฐบาลนายสมชายและตำรวจยังอยู่ในความทรงจำ เสียงนายตำรวจใหญ่ สั่งยิงใส่ประชาชนไม่เลี้ยงยังดังก้องอยู่

นายปรีชาอาจเห็นพี่น้องพันธมิตรถูกกระทำอย่างอำมหิตต่อหน้าต่อตา ถูกยิงใส่ตั้งแต่เช้าตรู่ และอาจถูกตำรวจยั่วยุหรือถูกใช้ความรุนแรงด้วยตัวเอง จึงเกิดบันดาลโทสะตอบโต้ทันที แต่ก็ได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว

คำถามคือ เมื่อไหร่นายสมชายจะต้องรับโทษ เมื่อไหร่ตำรวจที่ไล่ฆ่าประชาชนจะติดคุกชดใช้ความผิดบ้าง

นายตำรวจหลายคนถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชี้มูลความผิด และถูกสั่งให้ออกราชการ แต่ไม่นาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็รับกลับเข้ารับราชการตามเดิม

ยังไม่มีตำรวจคนใดต้องรับผลกรรมในการกระทำ เพราะตำรวจปกป้องพวกพ้องตัวเอง

ประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบ ถูกตำรวจไล่เข่นฆ่า และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายสมชายปี 2551 เท่านั้น

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556-2557 ตำรวจก็ใช้อาวุธหนักถล่มใส่ผู้ชุมนุมที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และบุกสลายชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ อย่างป่าเถื่อน รวมทั้งการตั้งทีมไล่ล่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่รื้อป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนบางคนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยคดีเงียบหาย

วันนี้สังคมกำลังตื่นตัวปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ร่างหลักเกณฑ์การปฏิรูปสำนำงานตำรวจแห่งชาติไว้แล้ว โดยจากแยกงานสอบสวนออก ซึ่งประชาชนแทบทั้งประเทศเห็นด้วย มีแต่ตำรวจเท่านั้นที่ออกต่อต้าน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นต้นธารของความอยุติธรรม เป็นต้นธารของความชั่วร้ายในสังคม แต่จะมีการปฏิรูปตำรวจหรือไม่ อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเท่านั้น

มีคนพูดไว้ รัฐบาลไหนจะดีหรือไม่ รัฐบาลไหนของจริงหรือของปลอม ดูกันแค่การแก้ปัญหาตำรวจเท่านั้น ถ้าไม่แก้ปัญหาตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน อย่าคุยโม้เลยว่า จะเข้ามาทำให้สังคมสงบสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น