xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกาแก้โทษจำคุก 2 ปี 16 เดือน แนวร่วมพันธมิตรฯ ขับรถชนตำรวจ ปี 51

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษจำคุก 2 ปี 16 เดือน แนวร่วมพันธมิตรฯ ขับรถชนตำรวจ เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ปี 51 ผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไป และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยบันดาลโทสะ หลังศาลอุทธรณ์ให้จำคุกตลอดชีวิต แต่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าเจ้าหน้าที่พูดจายั่วยุและทำร้ายผู้ชุมนุมจนบาดเจ็บ และจำเลยถูกทำร้ายตาขวาบอด



วันนี้ (20 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำ อ.1338/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายปรีชา ตรีจรูญ อายุ 58 ปี ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยไต่ตรองไว้ก่อน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย, ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกเป็นกลุ่ม พธม.ไปร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ปิดล้อมถนนและทางเข้าออกรัฐสภาเพื่อไม่ให้ ส.ส.และ ส.ว.ออกจากรัฐสภา โดยจำเลยมีเจตนาฆ่า ร.ต.ต.เกียงไกร กิ่งสามี, ส.ต.ท.พงษ์ไท เชื้อชุมสุข ส.ต.ต.พีรเชษฐ์ ธราปัญจทรัพย์, ส.ต.ท.เศรษฐวุฒิ บัวทุม และ ส.ต.ท.วุฒิชัย คำปงศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 1-5 เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของ กลุ่ม พธม.โดยวางแผนล่วงหน้าเตรียมรถกระบะโตโยต้า สีน้ำเงิน ทะเบียน วพ-1968 กรุงเทพมหานคร จำเลยได้ขับรถดังกล่าวไล่ชนผู้เสียหายทั้งห้าอย่างแรง จนผู้เสียหายล้มลง จากนั้นจำเลยขับรถกระบะถอยหลังทับผู้เสียหายที่นอนบาดเจ็บอยู่ จำเลยกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เมื่อผู้เสียหายไม่เสียชีวิต เหตุเกิดที่แขวงและเขตดุสิต กทม.ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 288, 289, 297

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดฐานพยายามฆ่า ตามมาตรา 289 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี แต่จำเลย ไม่เคยต้องโทษอาญามาก่อน ประกอบกับจำเลยมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา 2 ปี โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี และให้ทำงานสาธารณะประโยชน์บริการสังคมเป็นเวลา 48 ชั่วโมงด้วย

ส่วนความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปนั้น แม้จำเลยจะเข้าร่วมชุมนุม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยร่วมกับบุคคลใดในการวางแผนก่อความวุ่นวาย พฤติการณ์ของจำเลย ยังมีเหตุที่น่าพิรุธสงสัยตามสมควร จึงพิพากษายกฟ้องข้อหานี้

ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลย มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ สั่งจำคุกตลอดชีวิต รวมทั้งความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่การนำสืบของจำเลย มีประโยชน์ต่อรูปคดี มีเหตุบรรเทาโทษคงจำคุกเหลือ 33 ปี 12 เดือน

ต่อมาจำเลยยื่นฎีกาว่าจำเลยไม่ได้มั่วสุม 10 คนขึ้น ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่ากระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายฯ โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นข้อยุติว่าการชุมนุมของประชาชนในเหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ บางคนมีหนังสติ๊กและไม้ด้ามธงแหลม จำเลยจึงมีความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายฯ โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ ประเด็นต่อมาวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยไต่ตรองไว้ก่อนหรือไม่

ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างรับฟังมาได้ข้อยุติว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อขัดขวางไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาลได้ โดยผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธ เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่บริเวณแยกราชวิถี ถึงแยกการเรือนและบริเวณใกล้เคียง ได้มีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งช่วงเช้า ช่วงบ่ายและตลอดจนกลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนปืนและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต 2 ราย คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือโบว์ และ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ซึ่งเป็นผู้ชุมนุม ต่อมาภายหลังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความไม่สงบ 7 ต.ค. 2551 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ได้ผลสรุปตรงกันว่า การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เป็นไปตามหลักระเบียบราชการ และเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จนทำให้มีบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต เห็นว่าแม้การชุมนุมดังกล่าวผู้ชุมนุมบางรายจะมีอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถกระทำการอย่างรุนแรงหรือลุแก่อำนาจได้ รวมทั้งปรากฏว่ามีการใช้คำพูดยั่วยุที่ไม่เหมาะสมกับผู้ชุมนุม ตลอดจนแพทย์ที่เข้าไปช่วยเหลือปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บก็ได้รับอันตรายด้วย ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในหนังสือตำรวจฆ่าประชาชนและแผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่จำเลยก็ได้รับบาดเจ็บกระดูกตาข้างขวาแตก จนทำให้ตาข้างขวาบอดสนิทถาวรและดั้งฉมูกมีบาดแผล ซึ่งไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดช่วงก่อนหรือขณะจำเลยขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 ราย แต่ก็ถือว่าเป็นเหตุให้จำเลยเกิดบันดาลโทสะหรือเหตุเพราะบาดเจ็บจากการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ ขณะเดียวกันการกระทำของจำเลยทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปีนั้นเห็นว่าเบาเกิดเหตุ เห็นควรแก้โทษให้เหมาะสม จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อาญา มาตรา 289 (2) จำคุก 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน และความผิดฐานมั่วสุม 10 คนขึ้นไปฯ ตาม ป.อาญามาตรา 215 (2) จำคุก 8 เดือน รวมจำคุกจำเลย 2 ปี 16 เดือน

ภายหลัง น.ส.รัศมี ไวยเนตร ทนายความ กล่าวว่า คดีนี้จำเลยติดคุกมาแล้ว 2 ปี 5 เดือน ตั้งแต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุก 33 ปีโดยไม่รอลงอาญา เห็นว่าจำเลยได้รับโทษติดคุกมาแล้วเกินกว่า 2 ใน 3 จึงจะขอพักโทษตามระเบียบของราชทัณฑ์ต่อไป ทั้งนี้ยอมรับคำพิพากษาของศาล โดยยืนยันว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นสิทธิตามกฎหมาย




กำลังโหลดความคิดเห็น