xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ถกปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค รุมสับผู้ประกอบการใหญ่ รพ.เอกชน ส่อโดนด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม สปช.ถกปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค “สารี” ชี้ปัญหาเกิดจากขาดยุทธศาสตร์ระดับชาติ ต้องเร่งแก้ สมาชิกรุมถล่มผู้ประกอบการค้ารายใหญ่ ทำโชวห่วยและผู้ค้ารายย่อยเจ๊ง จี้รัฐเร่งออก พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า คาดเสร็จในวาระปฏิรูป จับตาลุย รพ.เอกชน-บริษัทประกันเอาเปรียบประชาชน หลังเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่น 3.3 หมื่นชื่อเสนอตั้งคณะ กก.ควบคุมราคา รพ.เอกชน

วันนี้ (12 พ.ค.) การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทร์ ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภควาระปฏิรูปที่ 31 วาระการคุ้มครองผู้บริโภค โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีปัญหาในระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ อาทิ สิทธิของผู้บริโภคยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคและการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อประกอบการตัดสินใจในการบริโภค องค์กรผู้บริโภคไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังขาดยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคระดับชาติและขาดบูรณาการการทำงานของภาครัฐ รวมถึงขาดระบบเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค ดังนั้น การแก้ปัญหา ต้องทำให้เกิดการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง มีมาตรฐานตามหลักสากล มีประสิทธิภาพ มั่นคงและยั่งยืน

“ขณะนี้มีผู้ที่รณรงค์ไม่ให้เข้าไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อ จากการลงพื้นที่รับฟังความเห็นจากชาวบ้านพบว่ามีร้านค้าอาหารตามสั่งในบริเวณร้านสะดวกซื้อต้องปิดกิจการลงเพราะสู้อาหารแช่แข็งไม่ได้ ผลที่ตามมา ร้านขายหมู ขายไก่ ขายผัก ขายผลไม้ใสตลาดก็จะได้รับผลกระทบเพราะไม่มีผู้ประกอบการมาซื้อวัตถุดิบเหล่านั้น อีกทั้งผู้บริโภคก็ยังไม่ทราบว่าเมื่อกินอาคารแช่แข็งที่ต้องไปเข้าไมโครเวฟก็จะทำให้กระทบต่อสุขภาพ และไม่ได้กินอาหารที่หลากหลาย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และเราต้องให้ความรู้แก่ผู้บริโภค”

นอกจากนี้ยังพบว่า ร้านอาหารตามสั่งที่ปิดตัวไป ลูกหลานของพวกเขายังได้รับผลกระทบโดยไม่มีเงินใช้สอยและเลี้ยงปากท้องด้วย และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นจะต้องปรับปรุงกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ทำร่วมกันกับ กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ ให้มีความทันสมัยและทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545

“ผลที่จะได้รับลดการผูกขาดการค้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม เท่าเทียม และมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเข้าใจประโยชน์ของการแข่งขันที่มีต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของกิจการของตน” น.ส.สารีระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สปช.หลายคนได้อภิปรายแสดงความเห็นพร้อมสนับสนุนรายงานชุดนี้ ขณะที่บางส่วนได้ท้วงติงประเด็นปัญหาร้านสะดวกซื้อของผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ที่ทำการค้าแข่งจนส่งผลให้ร้านค้าโชวห่วยต่างๆ ต้องปิดกิจการ รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เช่น ร้านหมูปิ้ง ได้รับผลกระทบ และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแล รวมทั้งยังไม่เห็นด้วยกับการค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่ราคาแพง และการโฆษณาของบริษัทประกันภัยที่หลอกลวงประชาชน ที่บอกว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่เมื่อประชาชนได้เข้ารักษาพยาบาลหรือเสียชีวิต กลับไม่ได้ค่าประกันภัยโดยอ้างว่าปิดบังโรคประจำตัว

ขณะที่นายประชา ไตรรัตน์ สปช.ชลบุรี อภิปรายว่า การแข่งขันทางการค้าโดยในทั่วโลกเขาจะคุ้มครองคนที่ทำการค้าที่มีอยู่แล้วตามเมือง ไม่ปล่อยให้คนที่มีอำนาจเหนือตลาดที่จะมาแข่งขันกับประชาชนหรือโชวห่วยรายย่อย ที่ขณะนี้ย่อยยับไปทุกมุมเมือง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มีแต่ไม่เวิร์ก ยืนยันว่าใช้ไม่ได้เลยต้องรีบปรับปรุงโดยด่วน ทำไมไม่กำหนดว่าการจะเปิดร้านสะดวกซื้อทั้งหลายไม่ใช่คิดจะเปิดก็เปิด เซเว่นฯ เปิดได้ บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ก็เปิดได้ ทำให้คนค้ารายย่อยในพื้นที่มีแต่เฉาตาย หากคนยากจนยังถูกรังแกเช่นนี้ปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมามากมาย จึงต้องรีบปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้าโดยด่วน โดยต้องมีข้อมูลสำคัญและชัดเจนห้ามเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ

“สมัยที่ผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้คำสั่งปกครอง เพราะรอให้ออกกฎหมายจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันก็ยังออกไม่ได้ หากจะเปิดพื้นที่ทำการค้าแห่งใหม่ต้องไปเปิดในพื้นที่ชนบทเพื่อกระจายความเจริญ แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับจึงทำให้ต้องมาค้าขายในพื้นที่ที่เจริญแล้ว ดังนั้นสิ่งนี้ต้องทำเร่งด่วนไม่เช่นนั้นปัญหาความเดือดร้อนของคนยากจนที่ทำการค้าเล็กน้อยจะเกิดขึ้นมากมายและยังต้องมีกฎหมายบังคับให้มีสินค้าของชุมชน 30-40% ในห้างนั้น และวิสาหกิจชุมชน หรือโอทอป จะได้มีตลาดขายของ รวมถึงต้องมีมาตรการป้องกันสินค้าด้านอาหาร สคบ.ต้องมีอยู่ทุกจังหวัด เมื่อประชาชนไม่เจ็บป่วยก็ละลดต้นทุนด้านบริการสังคมได้อีกมาก หากมีเจ้าหน้าที่ละเลย หรือทุจริตก็ต้องมีบทลงโทษอย่างเข้มงวด”

นายพิสิษฐ์ ลี้อาธรรม สมาชิก สปช.แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยต่อการให้มีปฏิรูปและมีองค์กรอิสระในการคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศไทยได้พัฒนาถึงระดับหนึ่ง ในอดีตเรามักส่งเสริมคุ้มครองผู้ลงทุน แต่ตอนนี้เรื่องการบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญในทางเศรษฐกิจ เป็นตัวกลางที่ใหญ่ที่สุดในตัวแปรของจีดีพี การให้ความสำคัญและดูแลจึงสอดคล้องกับสภาวการณ์

“ผมเห็นด้วยกับการปฏิรูปให้แยกออจากระบบราชการ เพราะเวลานี้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคและองค์กรอื่นๆ ยังสังกัดกระทรวงต่างๆ เราทราบดีว่าระบบราชการมีข้อจำกัดน่าจะจะตกอยู่ในอิทธิพลทางการเมืองได้ จึงสมควรที่ต้องแยกองค์การคุ้มครองผู้บริโภคออกจากระบบการเมืองให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และต้องมีการดูแลไม่ให้มีการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้าด้วย หากจะมีการตั้งเป็นองค์กรอิสระขึ้นมาต้องดูแลทั้งงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และการป้องกันการผูกขาด ไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามามีอิทธิพล”

ขณะที่ น.ส.สารีระบุว่า หวังว่าจะมีการนำประเด็นเหล่านี้ไปเขียนให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคจะมุ่งทำงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป โดยเฉพาะกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค จะทำให้เสร็จในวาระการปฏิรูปครั้งนี้

ด้านนางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนะ ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมคณะ นำรายชื่อประชาชน 33,000 รายชื่อ ยื่นต่อคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน โดยนางปรียานันท์กล่าวว่า ได้นำรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลที่มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการควบคุมราคาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งกำหนดบทลงโทษได้ ทั้งนี้เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ด้าน น.ส.สารีกล่าวว่า ขอชื่นชมทางเครือข่ายที่ได้รวบรวมรายชื่อประชาชน ซึ่งทราบมาว่าใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ กรณีดังกล่าวทางกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล ทราบปัญหาเป็นอย่างดี เนื่องจากมีการร้องเรียนมาโดยตลอด ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของประชาชนที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ตนเคยเสนอว่าควรมีการดำเนินการ 3 เรื่อง ประกอบด้วย ควรออกประกาศของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ห้ามโรงพยาบาลเก็บเงินผู้ป่วยกรณีรักษาฉุกเฉิน สนับสนุนให้มีการสำรองเตียงผู้ป่วย กรณีเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน และพัฒนากลไกดูแลควบคุมราคาค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตนจะนำข้อเสนอของเครือข่ายฯ เข้าสู่การพิจารณาของ กมธ.ปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งที่ สปช.ทำได้ทันที คือ พิจารณาโครงสร้างราคากลางในขณะนี้ที่ใช้อย่างน้อย 3 ระบบ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา



กำลังโหลดความคิดเห็น