xs
xsm
sm
md
lg

สมาชิก สปช.ยันต้องมีคุ้มครองผู้บริโภคใน รธน. เสนอตั้งองค์กรดูแลสินค้าปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วิทยา” สมาชิก สปช. ชี้ ปฏิรูปต้องมี “คุ้มครองผู้บริโภค” บรรจุในรัฐธรรมนูญ เสนอตั้งองค์กรอิสระ ดูแลความปลอดภัยสินค้า บริการ มีกองทุนชดเชย พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ. ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ทั้งบุหรี่ เหล้า ยา อาหารเด็ก

ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค และรองประธานกรรมการด้านสาธารณสุข สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ไม่ปรากฏเรื่องปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคในสาระของการปฏิรูปที่ชัดเจน จึงเสนอให้มีเรื่องนี้ด้วย นอกเหนือจากการปฏิรูป 15 ด้านที่มีอยู่ โดยให้มีการบรรจุมาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ในภาคที่ 4 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 การปฏิรูปด้านต่างๆ โดยให้มีการปฏิรูป ดังนี้ คือ การขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้มีกฎหมายให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน การบูรณาการการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคเข้ากับการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้มีกลไกหลักประกันด้านความปลอดภัยของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะความปลอดภัยของอาหาร และจัดให้มีระบบหรือกลไกคุ้มครองผู้บริโภคตามหลักการป้องกันล่วงหน้า เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย หรือ ลดผลกระทบจากกรณีที่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า และ จัดให้มีกองทุนเพื่อชดเชย หรือเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย โดยให้มีคณะกรรมาธิการคณะหนึ่งที่จะดูแลการปฏิรูปดังกล่าว

ภก.วิทยา กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการปฏิรูปด้านสาธารณสุข มาตรา 294 เสนอให้เพิ่ม (6) ผลักดันกฎหมายและนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารเด็ก ร่าง พ.ร.บ.ยา ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ร่าง พ.ร.บ. เตือนภัยสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น ตลอดจน ประกาศควบคุมสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เช่น อันตรายจากโฟมที่บรรจุอาหารร้อน หรือมีน้ำมัน อันตรายจากแร่ใยหิน อันตรายจากสีทาบ้านที่มีตะกั่ว และ อันตรายจากสารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปในภาค 4 เพื่อสร้างความเข้มแข็งของพลเมือง ในการปฏิรูปด้านต่างๆ รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้ใช้สำนักงานของสภาที่ปรึกษาฯ เป็นกลไกหน่วยธุรการที่จะรองรับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯให้เป็นจริง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น