xs
xsm
sm
md
lg

จับตารถไฟเชื่อมเหนือ-อีสาน “เพชรบูรณ์–ชัยภูมิ” ใครเข้าวิน ??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสกสรร   นิยมเพ็ง
รายงานการเมือง

ดูเหมือนแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของรัฐบาลไทยในช่วงหลัง จะเน้นหนักไปที่การพัฒนาและปฏิรูปการขนส่งระบบราง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดที่แล้ว กับโครงการ “THAILAND 2020” ที่วางแผนที่จะใช้งบประมาณถึง 2 ล้านล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของไทย แต่ก็ไปไม่รอด ต้องพับฐานไปเสียก่อน ที่นำ “ระบบราง” ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่มาเป็น ตัวชูโรง

พอมาถึงในยุค คณะรักษาความสงบแห่งแห่งชาติ (คสช.) การขนส่ง “ระบบราง” ก็ยังเป็นพระเอกของยุทธศาสตร์ด้านการคมนาคม ของรัฐบาลเช่นเคย ประเดิมด้วยการผลักดันรถไฟทางคู่ไทย - จีน เส้นทางหนองคาย - กรุงเทพฯ - ระยอง ระยะทางกว่า 800 กม. งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท ที่คืบหน้าอย่างรวดเร็ว หรือการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมเศรษฐกิจ ตะวันตก - ตะวันออก เส้นทาง กาญจนบุรี - ระยอง - อรัญประเทศ ที่อยู่ระหว่างการพูดคุยกับทางประเทศญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้ และอาจรวมไปถึงรถไฟความเร็วสูงระยะสั้น จาก กรุงเทพฯ - พัทยา หรือ กรุงเทพฯ - หัวหิน ที่มีแนวโน้มว่าจะชักชวนภาคเอกชนไทย มาร่วมลงทุน

สาเหตุที่รัฐบาลไทยต้องหันมาเน้นหนักการพัฒนาและปฏิรูประบบราง ก็เนื่องจากเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกแล้วว่า การลงทุนในระบบราง ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากว่าการขนส่งในรูปแบบอื่น ทั้งในแง่การลดต้นทุนในการเดินทาง การขนส่ง และการลดการใช้พลังงาน เป็นต้น

นอกเหนือจาก “เมกะโปรเจกต์” ที่กล่าวไปแล้วนั้น หลายๆ เส้นทางในประเทศก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาควบคู่กันไปด้วย เพื่อรองรับเส้นทางสายหลักที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยในเร็วๆ นี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็กำลังจะสรุปผลการศึกษาการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ 1 เส้นทางสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงภาคเหนือ - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรัฐบาล คสช. ได้มีมติเห็นชอบในแผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2 แนวเส้นทาง คือ 1. เส้นทางรถไฟสายสายลำนารายณ์ - เพชรบูรณ์ - เลย - หนองบัวลำภู และ 2. เส้นทางรถไฟสายจัตุรัส - ชัยภูมิ - เลย - หนองบัวลำภู

ความแตกต่างของ 2 เส้นทาง ที่เส้นทางหนึ่งผ่าน จ.เพชรบูรณ์ เป็นหลัก ขณะที่อีกเส้นทางหนึ่ง จะผ่าน จ.ชัยภูมิ เป็นหลัก ทำให้ต่างมีความเคลื่อนไหวแสดงความพร้อม และความต้องการเส้นทางรถไฟด้วยกันทั้ง 2 จังหวัด

โดยเฉพาะด้าน จ.เพชรบูรณ์ ที่มีการขับเคลื่อนผ่านแคมเปญ “รถไฟต้องมาเพชรบูรณ์” ซึ่งมีการแสดงพลังอย่างพร้อมเพรียง จนปัจจุบันถูกยกให้เป็น “วาระแห่งเพชรบูรณ์” เลยทีเดียว สาเหตุที่ชาวเมืองมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์ ให้ความสนใจเรื่องการเข้ามาของทางรถไฟนั้น ก็เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ไม่มีเส้นทางรถไฟแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะ จ.เพชรบูรณ์ อาจจะไม่ใช่จังหวัดใหญ่ แต่ก็มีประชากรรวมแล้วเกินกว่า 1 ล้านคน

อีกทั้งในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมมากมาย ทั้งอุทยานแห่งชาติเขาค้อ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ที่ช่วงเทศกาลจะมีผู้คนแห่แหนกันไปสัมผัสบรรยากาศกันอย่างล้นหลาม

เรื่องนี้ “เสกสรร นิยมเพ็ง” นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีของ จ.เพชรบูรณ์ ที่จะมีเส้นทางรถไฟผ่านเสียที หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามผลักดันมาไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มาครั้งนี้มีการตั้งงบประมาณในการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง เพียงแต่มีคู่เปรียบเทียบอีกเส้นทางหนึ่งด้วย ทางจังหวัดจึงอยากให้ทั้ง ร.ฟ.ท. และบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนที่จะรายงานสรุปเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจ เพราะในระหว่างการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาฯมีการตึ้งเวทีรับฟังข้อมูลขจากชาวเพชรบูรณ์เพียงครั้งเดียว แตกต่างจากจังหวัดที่มีการตั้งเวที 3 - 4 ครั้งต่อจังหวัด

“นายกเสกสรร” บอกด้วยว่า ในวันที่ 1 เม.ย. 58 ทางจังหวัดโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะมีการจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเป็นเวทีที่ จ.เพชรบูรณ์ จัดขึ้นมาเอง และเชิญผู้แทนจาก ร.ฟ.ท. รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษาฯมาร่วมรับฟังความเห็นของชาวเพชรบูรณ์อีกครั้ง

ด้าน “วิศัลย์ โฆษิตานนท์” ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เพชรบูรณ์ ให้ข้อมูลเสริมว่า เส้นทางรถไฟใหม่ที่จะผ่านเพชรบูรณ์นั้น ถือว่ามีศักยภาพที่เหนือกว่าในหลายด้าน และยังคุ้มค่าการลงทุนอีกด้วย อาทิ การขนส่งสินค้าทางการเกษตร ทั้ง มะขาม ข้าวโพด กะหล่ำปลี ขิง ที่เป็นสินค้าเศรษฐกิจของ จ.เพชรบูรณ์ จุดยุทธศาสตร์ที่ถือเป็นกึ่งกลางระหว่างภาคเหนือ - ภาคอีสาน และเชื่อมโยงไปถึงประเทศลาว ผ่าน อ.ท่าลี่ ได้ง่าย การประหยัดงบประมาณเนื่องจากพื้นที่เส้นทางตามแผนส่วนใหญ่เป็นของรัฐ จำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มมากกว่า จากแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งยังจะได้เส้นทางท่องเที่ยงทางรถไฟที่สวยงามด้วยภูมิศาสตร์ที่มีภูเขาขนาบทั้ง 2 ด้านของเส้นทาง

ด้าน “กษิต โฆษิตานนท์” ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวถึงกระแสการตอบรับของชาวเพชรบูรณ์ ว่า ขณะนี้ต้องบอกว่าทั้งจังหวัดมีความเห็นด้วย กับการที่จะมีเส้นทางรถไฟผ่าน พูดได้เสียงเป็นเอกฉันท์ จากทั้งประชาชน และหน่วยงานต่างๆ มีการแสดงพลังอย่างพร้อมเพรียงโดยมิได้นัดหมาย จนถูกต้องยกให้เป็น “วาระแห่งเพชรบูรณ์” ทั้งมีสังคมออนไลน์ หรือการร่วมกันขยายสื่อประชาสัมพันธ์ไปทั่วทั้งจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง

ทั้งนี้ เมื่อเข้าตรวจสอบแฟนเพจ “รถไฟต้องมาเพชรบูรณ์” ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 58 เพื่อรณรงค์ผลักดันเส้นทางรถไฟ พบว่า ปัจจุบันมีผู้กดไลค์มากกว่า 1.1 หมื่นคน มีการแชร์ภาพกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นแล้วมากกว่า 1 แสนครั้ง

ขณะที่ จ.ชัยภูมิ นั้น แม้จะมีเส้นทางรถไฟผ่านทางด้านตะวันออก - ใต้ ของจังหวัดอยู่แล้ว แต่ก็มีความต้องการให้มีการพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมโยงกับจังหวัดในด้านอื่นด้วย โดย “มนตรี ชาลีเครือ” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชัยภูมิ เคยยื่นหนังสือถึง ร.ฟ.ท. ในนาม อบจ.ชัยภูมิ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างทางรถไฟ เส้นทางสายจัตุรัส - ชัยภูมิ - เลย - หนองบัวลำภู แล้วเช่นกัน ขณะที่ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ก็มีการรณรงค์เส้นทางรถไฟสายจัตุรัส - ชัยภูมิ - เลย - หนองบัวลำภู ในลักษณะใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ร.ฟ.ท. ระบุว่า สัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในส่วนของเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงภาคเหนือ - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งบประมาณ 30 ล้านบาทนั้น จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 เม.ย. 58 ซึ่งหมายความว่า บริษัทที่ปรึกษาฯ ต้องจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาให้แล้วเสร็จเพื่อนำส่ง ร.ฟ.ท. และรัฐบาลในเดือน เม.ย. นี้ ก่อนที่ในปีงบประมาณ 2559 จะเสนองบประมาณในส่วนของการออกแบบรายละเอียด เพื่อดำเนินโครงการต่อไป

เดือน เม.ย. 58 จึงถือเป็นช่วยเวลาสำคัญของทั้ง “เพชรบูรณ์ - ชัยภูมิ” ที่จะชี้ขาดว่า “รถไฟไทย” จะหันหัวไปทางไหน ซึ่งย่อมต้องมีฝ่ายหนึ่ง “สมหวัง” ขระที่อีกฝ่ายต้อง “อกหัก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น