xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลแก้ปัญหาผู้พ้นโทษทำผิดซ้ำ ฝึกอาชีพ-ส่งนักจิตวิทยาตามประกบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงการประชุมมาตรการในการดูแล และส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษ ว่า ขณะนี้มีนักโทษออกมา 38,000 คน บวกกับของเก่าอีก 18,000 คน รวมเป็น 56,000 คน ซึ่งเราจะต้องมีมาตรการตั้งแต่ยังอยู่ในห้องขัง ต้องมีอาชีพ และทำให้เขามีทัศนคติที่ดี และเมื่อออกมาแล้วจะทำอะไร
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ให้คนเหล่านี้ออกมาแล้ว มาทำความผิดซ้ำอีก ซึ่งขณะนี้นักโทษที่ปล่อยออกมา 70 % เป็นนักโทษคดียาเสพติด ทำอย่างไรไม่ให้หวนกลับไปเสพ หรือไปก่ออาชญากรรมใหม่ และทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะถ้ามีปมด้อย เขาก็คิดว่าเขาเป็นโจรดีกว่า รวมถึงทำอย่างไรให้เขาพึ่งตัวเองได้
" เราคงไม่ไปแจกปลาให้เขา แต่ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาตกเบ็ดเป็น ซึ่งต้องดูกันตั้งแต่อยู่ในคุก สำหรับนักโทษหญิงคงไม่เท่าไหร่ เพราะมีแนวโน้มจะทำอะไรได้เป็นเรื่อง เป็นราว กว่านักโทษชาย แต่จะต้องมีมาตรการติดตามหลังปล่อยตัวด้วย โดย 6 เดือนแรก จะมีอาสาสมัครที่เป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ไปตามหมู่บ้าน อำเภอ คอยติดตามเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำทุกเรื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่ส่วนใหญ่คนที่ออกมาจะไปบวช แต่ก็เป็นห่วงว่าเมื่อสึกออกมาก็อาจจะก่อเรื่องอีก ดังนั้นต้องพูดคุยกันตั้งแต่อยู่ในคุก " รองนายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายเรืองศักดิ์ สุวารี รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงข่าว มาตรการดูแลและติดตามพฤติกรรมผู้ที่พ้นโทษจากการอภัยโทษ ว่า นายกรัฐมนตรี มีความกังวลถึง กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปล่อยผู้ต้องขัง 38,000 คน จากการอภัยโทษ จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยของคนในสังคม และอาจเกิดการกระทำผิดซ้ำ นายกฯจึงสั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หารือร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการในการจัดหาอาชีพรองรับ ติดตามดูแลพฤติกรรมผู้พ้นโทษ โดยเร็วๆนี้จะจัดมหกรรมเจรจาธุรกิจ คืนคนดีสู่สังคม ด้วยการเชิญบริษัทเอกชน ให้โอกาสผู้พ้นโทษด้วยการรับเข้าทำงาน โดยจะออกมาตรการทางภาษีจูงใจบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ ได้ประสานให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อติดตามดูแลผู้พ้นโทษ ซึ่งจะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากในแต่ละปีจะมีผู้พ้นโทษประมาณ 120,000 คน เมื่อเทียบเคียงกับจำนวนหมู่กว่า 70,000 หมู่บ้าน ดังนั้น เฉลี่ยผู้ใหญ่บ้าน 1 หมู่บ้าน จะมีภาระดูแลผู้พ้นโทษหมู่บ้านละ 2 คน สำหรับมาตรการระยะยาว รัฐบาลสั่งการให้กรมราชทัณฑ์จัดทำรายชื่อผู้ที่เข้าข่ายจะได้รับการพักการลงโทษ การปล่อยตัวออกจากเรือนจำ พร้อมที่อยู่ และการประกอบอาชีพหลังได้รับการปล่อยตัว ส่งให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานในภูมิลำเนา เพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับผู้พ้นโทษ
ทั้งนี้ จากสถิติแต่ละปีพบว่า มีผู้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำปีละ 180,000 คน ปล่อยออกปีละ 120,000 คน ดังนั้น จึงต้องเร่งวางมาตรการ เพื่อดูแลการส่งเสริมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์จะศึกษาการดูแลผู้พ้นโทษจากประเทศสิงคโปร์ และญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรที่จะเข้ามาดูแลผู้พ้นโทษของไทยเป็นการเฉพาะ พร้อมกันนี้กระทรวงยุติธรรม จะเร่งพิจารณาข้อกฎหมาย เพื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังสูงอายุที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ซึ่งเดิมหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องรับโทษมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ ดังนั้นจะเร่งแก้หลักเกณฑ์ที่ไม่เอื้อกับการปล่อยตัวผู้ต้องขัง หรืออาจใช้มาตรการที่ออกโดยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า หลักเกณฑ์ที่จะออกมาใช้ ควรได้กับทุกฐานความผิด ไม่ยกเว้นคดีความผิด มาตรา 112
ด้านนายเรืองศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังสูงอายุป่วยเรื้อรัง และพิการถึงขั้นเป็นภาระให้เรือนจำต้องดูแลเป็นจำนวนมาก บางรายแม้ก่อเหตุข่มขืน อนาจาร แต่มีอายุ 85 ปี จึงไม่เหลือศักยภาพในการก่อเหตุอีกแล้ว บางรายพิการแต่แพทย์ระบุว่า ยังไม่ถึงระดับ 4 เป็นโรคเอดส์ หรือมะเร็งระยะที่ไม่ใช่สุดท้าย ก็ยังไม่สามารถปล่อยตัวได้ หากใช้มาตรา 44 จะทำให้สามารถปล่อยตัวได้
นอกจากนี้ในส่วนผู้ต้องขังตั้งครรภ์ จะมีการใช้มาตรา 246 กำหนดสถานควบคุมผู้ต้องขังตั้งครรภ์ให้ไปคลอดบุตรนอกเรือนจำ หลังจากนั้นให้กลับมารับโทษจนครบกำหนดโทษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากใช้มาตรา 44 ในการปล่อยตัวผู้ต้องขังสูงอายุ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง นายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรีตลอดมา จะเข้าเกณฑ์ได้รับปล่อยตัวทันทีหรือไม่ นายเรืองศักดิ์ กล่าวว่า ในการปล่อยตัวตามมาตรา 44 จะไม่พิจารณารายชื่อผู้ต้องโทษ แต่จะพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ทั้งนี้ ยอมรับว่าราชทัณฑ์ต้องสูญเสียกำลังในการดูแลผู้ต้องขังเจ็บป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 6 คน แบ่งเป็น 3 ผลัดๆ ละ 2 คน ส่วนค่ารักษาพยาบาล ไม่แน่ใจว่าเป็นภาระของงบประมาณรัฐหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น