xs
xsm
sm
md
lg

ยุติธรรมประเมินผลคืนคนดีสู่สังคม เผยห่วงปัญหามาตรการดูแลติดตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTVผู้จัดการ - กระทรวงยุติธรรม ประเมินผลการดูแลและติดตามพฤติกรรมผู้ที่พ้นโทษจากการได้รับอภัยโทษเพื่อส่งคนดีคืนสู่สังคม ระบุต้องเตรียมการล่วงหน้า 1 ปี รัฐควรส่งเสริมมาตรการภาษี ขณะที่ต้องยกร่างกฎหมายราชทัณฑ์ และร่างโครงการมหกรรมเจรจาธุรกิจ เผย “บิ๊กตู่” ห่วงจำนวนผู้พ้นโทษจำนวนมากการติดตามดูแลไม่เพียงพอ



วันนี้ (21 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายเรืองศักดิ์ สุวารี รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นางอัญชลี พัฒนสาร ผอ.สำนักพัฒนาคุมประพฤติ ร่วมแถลงผลการดูแลและ ติดตามพฤติกรรมผู้ที่พ้นโทษจากการได้รับอภัยโทษเพื่อส่งคนดีคืนสู่สังคมว่า ภายหลังที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมหารือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการในการดูแลและส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษ โดยกำหนดมาตรการให้บุคคลเหล่านั้นมีอาชีพรองรับ และมาตรการดูแลติดตามพฤติกรรมผู้พ้นโทษที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาได้มีการกำหนดบทบาทที่เกี่ยวข้องในหลายส่วน ทั้งเรื่องหน่วยงานที่ต้องเป็นผู้ดำเนินมาตรการในการดูแลและติดตามพฤติกรรมผู้พ้นโทษไว้ในกฎหมาย ในส่วนกรมราชทัณฑ์ควรจัดทำรายชื่อผู้ที่จะพ้นโทษ พร้อมด้วยที่อยู่ที่จะออกไปใช้ชีวิตและอาชีพที่ประสงค์จะประกอบเพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมก่อนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี แล้วประสานส่งข้อมูลดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐควรกำหนดให้มีมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น มาตรการทางภาษี หรือมาตรการในการจูงใจเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดหรือผู้พ้นโทษ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของเอกชนที่มีต่อผู้เคยต้องโทษ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่เอกชนและสังคม

นายธวัชชัยกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1. การยกร่างกฎหมายราชทัณฑ์ พ.ศ. .... โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกลไกป้องกันกระทำผิดซ้ำ และการส่งเสริมเอกชนให้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และ 2. การยกร่างโครงการมหกรรมเจรจาธุรกิจคืนคนดีสู่สังคม เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สังคม

ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการข้อห่วงใยหลายประเด็น 1. นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อกรณีการปล่อยตัวผู้ต้องขังพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2558 จำนวน 38,000 คน และผู้ที่พ้นโทษไปแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 - 31 มีนาคม 2558 จำนวน 18,000 คน รวมเป็น 56,000 คน ว่าหน่วยงานของรัฐมีมาตรการในการติดตามดูแลหรือไม่ อย่างไร 2. เรื่องที่จะต้องมีมาตรการในการติดตามดูแล เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมได้ หากพ้นโทษออกไปแล้วไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งกรณีนี้จะกลายเป็นจุดอ่อนในชีวิตของบุคคลเหล่านี้ในการดำรงชีวิต รวมถึงคนเหล่านี้จะยังชีพอยู่ได้อย่างไร เพราะถ้ายังชีพไม่ได้คนเหล่านี้ก็จะกระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัย ดังนั้นควรมีมาตการในเรื่องนี้และแจ้งให้สังคมทราบ

รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวอีกว่า กรมราชทัณฑ์ได้เสนอแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วนและแบบระยะยาว โดยแบบเร่งด่วน เสนอให้มีโครงการติดตามดูและส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษ ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการได้ ส่วนแบบระยะยาวนั้นที่ประชุมให้กรมราชทัณฑ์จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรสงเคราะห์ผู้พ้นโทษของต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ มาเสนอ อย่างไรก็ ตาม สำหรับการจัดตั้งองค์กรสงเคราะห์ผู้พ้นโทษเป็นการเฉพาะนั้น จะนำเรื่องไปพิจารณาร่วมกับ ก.พ.ร.ต่อไป ทั้งนี้ในที่ประชุมยังได้รับฟังบทบาทและผลการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านช่วยเหลือติดตามดูแลผู้พ้นโทษ โดยมีการเน้นย้ำระวังเรื่องมาตรการจูงใจ กับผู้จ้างงานผู้พ้นโทษ และการติดตามดูแลผู้พ้นโทษจะต้องดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1. ระวังไม่ให้คนเหล่านี้กระทำความผิดฐานเดิม 2. ไม่ให้คนเหล่านี้ไปกระทำความผิดฐานใหม่ 3. ให้คนเหล่านี้อยู่ได้โดยเป็นที่ยอมรับของสังคม และ 4. ให้คนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้โดยมีอาชีพทำ

นอกจากนี้ จากการหารือดังกล่าวยังให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายมาตรา 89/1มาตรา 89/2 และมาตรา 246 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ไม่มีศักยภาพในการกระทำความผิดอีกแล้ว เช่น เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นผู้สูงอายุมาก เป็นต้น หากกฎหมายที่มีอยู่ไม่เอื้ออำนวยก็ให้เสนอขอแก้ไขกฎหมาย หรืออาจใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แก้ไขปัญหาไปก่อน

ด้านนายเรืองศักดิ์กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการคัดกรองนักโทษที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ตั้งครรภ์ พิการ หรือสูงวัย ในทุกปีอยู่แล้ว โดยนักโทษที่เข้าเกณฑ์เป็นนักโทษสูงวัยคือมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และได้รับโทษ 1 ใน 3 ของโทษแล้ว สำหรับในปี 2558 นักโทษที่เข้าหลักเกณฑ์พักการลงโทษไปแล้วมีจำนวน 187 ราย และนักโทษหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการพิจารณาพักโทษแล้วอีกจำนวน 246 ราย

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักโทษที่ต้องโทษคดีมาตรา 112 จะได้รับการพิจารณาหลักเกณฑ์นี้ด้วยหรือไม่ นายเรืองศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของนักโทษที่ต้องโทษคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ

ส่วนกรณีกำนันเป๊าะจะได้รับการพิจารณาด้วยหรือไม่ เนื่องจากระหว่างต้องโทษ กำนันเป๊าะพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตลอดเวลา รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า กรณีนี้ ผู้ต้องขังป่วยและมีความจำเป็นต้องพักรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งเป็นไปตามความเห็นของแพทย์

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขังสูงอายุ 4,656 ราย เป็นชาย 3,544 ราย หญิง 1,112 ราย ส่วนผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ขณะนี้มี 262 ราย และผู้ต้องขังพิการมีจำนวน 2,203 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น