xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องการศึกษานี้ ใครจะบอกใคร

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์และศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เรื่องการศึกษานี้ ใครจะบอกใคร

เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ไทย ปี 2558 ที่ผ่านมา มีข้อความโพสต์หนึ่งของกวีและนักวิชาการอิสระแห่งศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม ได้โพสต์เรื่อง “โมฆคุรุ” ในเฟซบุ๊กชื่อ Siwakarn Patoommasoot มีผู้ติดตามอ่านและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยสาระสำคัญของข้อความโพสต์ดังกล่าว มีอยู่ว่า

ฉันอยู่ในสังคมแห่ง “โมฆชน” และหมู่ชนผู้โมฆะ พวกเขาเหล่านั้นมาจากไหนกันละหรือ แต่เดิมฉันมีความเชื่อเพียงว่าโมฆบุตรย่อมมีที่มาจากครอบครัวอันเป็นโมฆะ อันกอปรด้วยโมฆบิดาและโมฆมารดาเป็นสาเหตุสำคัญ แต่ทว่าวันนี้ ฉันกลับพบสาเหตุสำคัญยิ่งกว่าเดิมอีกว่าพวกเขาต่างล้วนมีที่มาจากสถานศึกษา และระบบการจัดการศึกษาอันเป็นโมฆะในประเทศของฉันด้วย

1. น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ในประเทศของฉันสอนเด็กให้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

2. น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ยังทำแผนการสอนเพียงเพื่อให้ผู้มีอำนาจตรวจ แต่มิได้ใช้แผนนั้นเพื่อการสอนจริง และบางส่วนยังไม่สามารถออกแบบการสอนที่จะสามารถนำพาผู้เรียนไปสู่สัมฤทธิผลแท้จริงของมาตรฐานหลักสูตรและ “ตัวชี้วัด” ได้

3. น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ในประเทศของฉันล้วนตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้ได้ผลคะแนนจากการประเมินผลและทดสอบที่ดีขึ้น ด้วยวิธีการ “ติวข้อสอบ” กันอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งไม่ต่างกับการตำข้าวสารกรอกหม้อไปวันๆ

4. น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ในประเทศของฉันยังทำเอกสารข้อมูลประกันคุณภาพการศึกษาเพียงแค่ให้ สมศ.ตรวจประเมิน และไม่น่าเชื่อว่าบรรดา สมศ.จำนวนไม่น้อยซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ก็ยังคงก้มหน้าก้มตาตรวจประเมินแค่เอกสารข้อมูล วัตถุพยาน และร่องรอยของการ “ได้ทำ” หรือ “ได้สอน”แล้วปล่อยให้โรงเรียน “ผ่าน” การประเมิน ทั้งที่คุณภาพเชิงสัมฤทธิผลตามมาตรฐานหลักสูตรของผู้เรียนยังฟ้องอยู่ทนโท่ในทางตรงกันข้าม

5. น่าเศร้านักที่ผู้บริหารการศึกษา ศน. และบุคลากรทางการศึกษาในระดับเขตพื้นที่ และสำนักการศึกษา ซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก ซึ่งมีตำแหน่งรับผิดชอบบริหาร กำกับดูแล และพัฒนาคุณภาพการศึกษา ยังมัวแต่สร้างโครงการ กิจกรรม และงานยิบย่อยที่ไม่เกิดประโยชน์ผลจริงแท้ลงไปให้โรงเรียนต้องเสียเวลาทำงาน ทั้งงานข้อมูล รายงาน และการดำเนินงานเพียงแค่ให้ “ได้ทำ”

6. น่าเศร้านักที่ครูและผู้บริหารการศึกษาซึ่งจบปริญญาตรี โท เอก และแถมยังมีตำแหน่งทางวิชาการ ที่ล้วนกินเงินเดือนอันเป็นเงินภาษีของราษฎรในแผ่นดินคนละ 15,000 บาท ถึง 50,000 กว่าบาท ยังคงถูกปล่อยปละละเลยให้ทำงานแบบไร้คุณภาพ แฟบฝ่อสติปัญญา และไร้อนาคตอีกมากมายอยู่เช่นนั้น

ฉันกำลังแสวงหา “มิตรผู้ไม่โมฆะ” ท่ามกลางสถานการณ์อันเป็น “โมฆะ” ดังที่กล่าวมา...หากครู ผู้บริหาร และข้าราชการท่านใด มิได้เป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องร้อนตัวนะครับ แต่ท่านที่มีคุณภาพทั้งหลายจะต้องลุกขึ้นมาก้าวนำ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิเสธในสิ่งที่รู้ว่า ไม่ใช่และไม่เป็นประโยชน์ ช่วยกันผลักเคลื่อนระบบและองคาพยพการศึกษาให้พัฒนาไปสู่ทิศทางที่แม่นตรงเถิด แต่หากท่านตื่นรู้แล้วก็ยังร่วมกระทำผิดซ้ำซากกับบุคคลผู้ไร้คุณภาพ ไร้คุณธรรม และไร้จิตสำนึกเหล่านั้นอยู่ ท่านก็ไม่ต่างอะไรกับ “โมฆคุรุ” เหล่านั้นหรอก!

โอ้...เมื่อครูผู้สอนคนในประเทศของฉันเป็นเช่นนี้ ก็มิต้องพูดถึงมวลมหาประชากร (ส่วนใหญ่) ที่เป็นผลผลิตของ “โมฆสิกขา” กันอีกแล้ว ว่าพวกเขาจะเป็นไปเช่นไรกันบ้าง (ลงวันที่ 17.4.2558)

จากสาระข้อเขียนข้างต้น ว่าไปแล้ว ข้อเขียนของ Siwakarn Patoommasoot ก็ได้สะท้อนภาพปัญหาการจัดการศึกษาของชาติ ได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างน่าคิดว่า นั่นคือภาพความเป็นจริง ที่ถูกมองผ่านตานอก และตาในของกวี และนักวิชาการคนหนึ่ง ที่เป็นห่วงการศึกษาไทยอย่างจริงจัง และเห็นว่า การศึกษาไทยกำลังเดินออกไปนอกเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง คือ ความต้องการให้คนเป็นมนุษย์ และรู้จักตนเอง ซึ่งผู้เขียน ก็เห็นว่า เจตนาของข้อเขียนที่ Siwakarn Patoommasoot ได้เสนอ แจ่มชัดแล้ว

แต่สิ่งหนึ่งผู้เขียน เห็นว่า Siwakarn Patoommasoot ได้พยายามให้ข้อเสนอแนะ และร่วมปฏิรูปการศึกษาอยู่ตรงข้อความที่ว่า หากครู ผู้บริหาร และข้าราชการท่านใด มิได้เป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องร้อนตัว แต่ท่านที่มีคุณภาพทั้งหลายจะต้องลุกขึ้นมาก้าวนำ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ปฏิเสธในสิ่งที่รู้ว่าไม่ใช่และไม่เป็นประโยชน์ ช่วยกันผลักเคลื่อนระบบและองคาพยพการศึกษาให้พัฒนาไปสู่ทิศทางที่แม่นตรงเถิด

ผู้เขียนเอง ยังเชื่อมั่นอยู่ว่า ครู ผู้บริหาร ข้าราชการ ที่มีพลังและจิตวิญญาณความเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษา อีกมาก ที่คิดจะทำอย่างที่ Siwakarn Patoommasoot เสนอให้ เพียงแต่ว่า พลังคนละเล็กละน้อยที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ จะสามารถฉายแสงและถูกนำเสนอแก่สังคมเพียงใด เพื่อเป็นกระแส จุดประกายเริ่มต้นแห่งพลังการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามความมุ่งหมายที่แท้จริง เพราะระบบการศึกษาไทย ผูกติดกับกระดาษและงานธุรการ ซึ่งเป็นระบบราชการที่พยายามพัฒนาตัวเองตามหลังความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าไปก่อนแล้ว คล้ายกับว่าระบบราชการเป็นตัวถ่วงให้การศึกษา ต้องรอให้ระบบ (ข้อบังคับ กฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอนที่ปฏิบัติ) และกลไก (สิ่งที่สนับสนุนให้ระบบเดินหน้าได้) เป็นผู้รองรับการจัดการ และประทับรับรองถือว่า แล้วเสร็จสมบูรณ์

กรณีนี้ ผู้เขียนเปรียบเทียบได้กับระบบหนังสือเวียนของราชการในโรงเรียน อาทิ หนังสือราชการด่วนที่สุดฉบับหนึ่ง ส่งตรงจากกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 1 ม.ค. เพื่อต้องการข้อมูลจากโรงเรียนและให้ตอบหนังสือราชการคืนภายในวันที่ 15 ม.ค. โดยผ่านหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สำนักงานเขตพื้นที่...สำนักการศึกษา เป็นต้น กว่าโรงเรียนจะได้รับหนังสือเวียน ผ่านระบบธุรการกี่ครั้ง ผ่านผู้เกี่ยวข้องในการเกษียนหนังสือกี่คน จนแล้วจนรอด ก็ไม่สามารถทำงานได้ตามเวลาที่ระบุ จึงก่อให้เกิดความล่าช้า และปัญหาในการดำเนินการต่างๆ ที่ติดขัด ก็จะตามมา

หากว่ากันไปแล้ว การศึกษาไทยในบริบทสติปัญญาของเด็กไทย สติปัญญาของครู ผู้บริหาร หรือนักวิชาการของไทย ต่างมีความเป็นเลิศไม่ด้อยกว่าชาติอื่น เพียงแต่การจัดการระบบ และการบริหาร กลยุทธ์ทางการศึกษายังไม่สามารถแก้ปัญหาระบบเก่าที่เป็นมา ซึ่งถือตามธรรมเนียมปฏิบัติ และคิดว่าอยู่แบบเดิมก็ดีแล้ว จะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงใหม่ทำไมให้เกิดความยุ่งยาก

ประเทศไทยปรับปรุงหลักสูตรทุกระดับเฉลี่ย 10 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่ยังไม่สามารถสะท้อนภาพผลผลิต คือคุณภาพผู้เรียนที่ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ ให้ผู้มีอำนาจ ผู้มีมองเห็นปัญหา ผู้มีข้อมูลสำคัญ และผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ช่วยกันนำพาการศึกษาไทยไปสู่สมัยแห่งการเรียนรู้ ที่เป็นไปเพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง เป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย สัมพันธ์กับชีวิตจริง และสอดคล้องกับความต้องการในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ไปสู่ความเป็นไท ทางการศึกษาอย่างแท้จริง

ค่านิยมที่เป็นเปลือก เป็นใบ ทางการศึกษา เช่น ค่านิยมชื่อเสียงสถาบัน ค่านิยมทำแค่ให้เสร็จ ค่านิยมกระดาษ ค่านิยมของฝากของเส้น เป็นต้น คงต้องได้รับการขัดเกลาโดยใช้กระบวนการทางสังคมที่ดี แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้คงต้องใช้เวลา แต่เรามีเวลาไม่มากกันนัก เพราะเสียเวลากันมามากแล้ว

บางที การแก้ปัญหาทางการศึกษาอาจจะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคล พฤติกรรมครอบครัว พฤติกรรมสังคม พฤติกรรมองค์กร พฤติกรรมองค์การ หรือพฤติกรรมศาสตร์ของคนไทย ให้มีพฤติกรรมเพื่อการเป็นส่วนร่วมต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งอาจลดการบังคับใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือระบบต่างๆ ที่ไม่อาจแก้ปัญหาการศึกษาได้อย่างยั่งยืน

บทสรุปและบทเริ่มต้นของความฝันถึงคุณภาพการศึกษาที่ได้คุณภาพ เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการศึกษาในแต่ละระดับของชาติ สิ่งที่น่าเป็นจุดร่วมและจุดเริ่มต้นเดียวกัน อยู่ที่การศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับ ผลลัพธ์ของเป้าหมายการศึกษาที่ต้องการให้เด็กไทย คนไทย (1) อ่านออกเขียนได้ (2) ประกอบอาชีพได้ (3) รู้จัก-เข้าใจตนเอง คำนึงถึงส่วนรวม และ (4) มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แล้วร่วมกันคิด ร่วมกันทำ

ขอบคุณโพสต์เรื่อง “โมฆคุรุ” ในเฟซบุ๊กชื่อ Siwakarn Patoommasoot และขอบคุณ คุณครูทุกคนของประเทศนี้ ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ รัฐบาล และนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้ปกครองทุกคนที่เห็นว่า การศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติ ฉะนั้น อย่าให้การศึกษาเป็นภาระของใคร หน่วยงานใด รัฐบาลใด เพราะการศึกษานั้น เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ใครเห็นสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ช่วยกันคิด ช่วยกันเขียน ช่วยกันบอกกล่าว และช่วยกันทำ สำหรับผู้เขียนนั้นได้พรรณนามายาวแล้ว ในหลายประเด็นอาจไม่สัมพันธ์กัน...แต่อยากช่วยคิด อยากช่วยทำ...สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น