เกณฑ์วิทยะใหม่เริ่มใช้แล้ว เน้นยึดตามผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน เลขาธิการ ก.ค.ศ. ระบุรอหลักสูตรอบรมใหม่จาก สพฐ. ซึ่งจะส่งมาภายใน 30 มิ.ย. นี้ ซึ่งครูที่จะขอวิทยฐานะต้องใช้เกณฑ์ใหม่ทันที เผยเร่งเคลียร์ผู้ยื่นขอมีวิทยฐานะตามเกณฑ์ ว 13 เดิมที่ค้างอยู่ 500 คนให้เรียบร้อย ขณะที่ ปลัด ศธ. ฝาก ก.ค.ศ. ให้การทำงานทุกเรื่องผูกพันกับเรื่องคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียน
วันนี้ (14 พ.ค.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบมอบนโยบายแก่บุคลากร และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการดูแลความก้าวหน้าของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งเรื่องวิทยฐานะ เงินเดือน ฯลฯ โดยตนอยากให้ทุกเรื่องที่ ก.ค.ศ. ดำเนินการมีความผูกพันและเชื่อมโยงกับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียน โดยเฉพาะเรื่องการขอมีวิทยฐานะ ซึ่งขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาขอมี และเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ที่ปรับใหม่เรียบร้อยซึ่งจะเริ่มนำร่องทันที หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องส่งหลักสูตรการทดสอบฉบับใหม่มาให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อใช้ในการทดสอบและประเมินครูก่อนเข้าสู่กระบวนการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะรูปแบบใหม่ ซึ่งจะยึดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเป็นสำคัญ โดยสาเหตุที่จะต้องใช้วิธีนำร่องก่อนเพราะอาจต้องมีการปรับแก้ไขเพื่อให้เกณฑ์เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ด้าน นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า สำหรับหลักการของหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามี วิทยฐานะ และเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement) ดังนี้ 1. การประเมินตามหลักเกณฑ์นี้ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยประเมินจากผลในการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่เน้นคุณภาพด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคุณภาพของผู้เรียน 2. ต้องสามารถขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม 3. ใช้ห้องเรียนและนักเรียนเป็นฐาน โดยให้มีการประเมินการปฏิบัติงานจริง ณ สถานศึกษา ซึ่งจะทำให้ครูไม่ทิ้งห้องเรียน 4. ผู้ที่ขอรับการประเมินต้องมีความรู้ในสาขาวิชาที่สอน โดยต้องผ่านการทดสอบความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎี และประเมินประสบการณ์วิชาชีพจากส่วนราชการต้นสังกัด ก่อนยื่นคำขอรับการประเมิน 5. เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน ที่สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบตามมาตรฐานตำแหน่ง และคุณภาพการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน วิทยฐานะที่ ก.ค.ศ. กำหนด และ 6. หลักเกณฑ์การประเมินนี้ใช้สำหรับประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ทุกตำแหน่ง
“หลักเกณฑ์ดังกล่าวถือว่ามีผลในทางปฏิบัติแล้ว ซึ่ง สพฐ. ส่งหลักสูตรการทดสอบฉบับใหม่ให้ ก.ค.ศ. ครูที่ต้องการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะก็จะต้องใช้เกณฑ์ใหม่ทันที ซึ่งตามกำหนดจะต้องส่งให้ ก.ค.ศ. ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ขณะเดียวกัน ก.ค.ศ. กำลังเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ ว13 เดิม ซึ่งยังมีค้างอยู่ประมาณ 500 คน ให้เรียบร้อย และหากใครไม่ผ่านการประเมินก็สามารถยื่นได้อีกครั้งตามหลักเกณฑ์ใหม่”เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่