xs
xsm
sm
md
lg

แนะสปช.ประชาพิจารณ์ร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 พ.ค) สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)ได้จัดเสวนาและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "การปฏิรูปในทรรศนะของข้าพเจ้า" โดยมีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ นายวิทยากร เชียงกูล ผอ.ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ม.รังสิต และผู้เข้าร่วมอบรมภายใต้หลักสูตร“ผู้นำธรรมาธิปไตย”รุ่นที่ 1 เข้าร่วมงาน
นายสังศิต กล่าวตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ถือเป็นการต่อสู้ของภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม ตนในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 เปรียบเสมือนการมอบคบไฟจากรุ่น สู่รุ่น ที่เป็นการคาดหวังของสังคม ในยุคนั้นสิ่งที่เรามองประชาธิปไตย เป็นเพียงแค่การเลือกตั้ง และการมีรัฐธรรมนูญเป็นพอ และนำมาสู่การเรียกร้องเดินขบวนของนักศึกษา การถูกขับไล่เข้าป่า และกลับออกมา ภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 ซึ่งความจริงนั้น มีหลากหลายที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ประชาธิปไตยก็เช่นกัน
นายสังศิต กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศ ออกแบบมาเพื่อให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง พรรคการเมืองเข้มแข็ง ทำให้แต่ละกลุ่มมักสร้างความจริงของประชาธิปไตยกันขึ้นมา มีการต่อสู้ขับเคี่ยวกัน นำมาซึ่งเผด็จการรัฐสภา ไม่ฟังใคร รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังการรัฐประหารปี 2549 ก็มีความพยายามสร้างองค์กรตรวจสอบภาครัฐทั้งหลายขึ้นมา แต่สุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ก็ยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และผลที่ตามมาก็คือ ได้รัฐบาลจากพรรคเดียวที่รวบคะแนนนิยม อย่างท้วมท้น
" โจทย์ใหญ่สำคัญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไปจนกลายเป็นการรวบอำนาจ จึงไปศึกษาแนวคิด การบริหารบ้านเมืองจากประเทศเยอรมัน เพื่อมาปรับใช้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน ทั้งสภาพลเมือง และสมัชชาคุณธรรม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยประชาชน คือ มีความต้องการให้ภาคพลเมืองเป็นใหญ่ ถึงอย่างไรข้อสรุปนี้คงต้องมีการถกเถียงกันต่อไป"
นายสังศิต กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนเคยเสนอ และคิดว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง คือ การแยกอำนาจกรรมการบริหาร ออกจากฝ่ายสำนักงานประจำ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้กรรมการฯ มีอำนาจแค่วินิจฉัย ดูสำนวน หรือให้คำแนะนำ เพื่อลดการแทรกแซง และแบ่งอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน รวมทั้งการผลักดันให้เกิดศาลคดีทุจริต และการบริหารการปกครองท้องถิ่น ที่ยังมีคดีค้างคาอยู่มาก ก็ควรที่จะมีศาลเฉพาะทางขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ตนอยากเห็นทุกคนที่เป็นภาคประชาสังคม มีการเกาะกลุ่ม ผนึกกำลังกัน เพื่อทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ปราศจากการทุจริตทุกประเภท ทั้งในภาครัฐ และเอกชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน สปท.ทุกคนก็ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งโอกาสนั้นไม่ง่าย เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือพวกเรา แต่ขอให้พยายามเต็มที่ แพ้ ชนะไม่เป็นไร ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ถ้าไม่สำเร็จ ต้องเข้าใจสถานการณ์ และเดินหน้าต่อไป

** ปชต.ถูกทุนครอบงำ

ด้านนายวิทยากร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นระบบทุนนิยมแบบบริวารของนายทุน ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบที่ทั่วโลกใช้ แต่คนไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาความคิด ในด้านอิสรภาพ และสิทธิเสรีภาพ กลับถูกครอบงำทางด้านประชาธิปไตย รับมาแค่เพียงรูปแบบ เช่น การเลือกตั้งผู้แทน แต่ไม่ได้มีการพัฒนาเนื้อหา สาระ ประกอบกับยังมีแนวคิดเก่าค้างอยู่ ทั้งระบบอุปถัมภ์นิยม อำนาจนิยม จากระบบศักดินา มันเลยกลายเป็นอุปสรรค และเป็นการเปิดช่องทางให้นักการเมือง หรือนายทุน เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากแนวคิดดังกล่าว
"ผมคิดว่า การแก้ปัญหาคือ ต้องสร้างแนวคิดที่ก้าวหน้าทั้ง สิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยที่มีความเป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หรือธรรมาธิปไตย รวมถึงสร้างสังคมนิยมแห่งประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ถอดถอนนักการเมือง คิดในเชิงปฏิรูป มีการกระจายอำนาจ และทรัพยากรลงไปยังท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อนายทุน หรือนักการเมือง และต้องใส่ใจในระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" นายวิทยากร กล่าว

**แนะสปช.ทำประชาพิจารณ์หาข้อสรุป

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า กระแสวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มเข้มข้นขึ้น อาจเป็นเพราะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ที่เปิดให้มีการแปรญัตติปรับแก้ได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ ถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นประโยชน์กับการปรับปรุง เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่การปฏิรูปประเทศจริงๆ
แต่ที่น่าห่วงในขณะนี้ คือ ต่างคนต่างพูดมากเกินไป ทำให้สังคมเกิดความสับสน ไม่รู้จะเชื่อใคร ฟังใครดี เพราะต่างก็มีเหตุผล จึงอยากเสนอให้ สปช. นำเอาประเด็นหลักๆ ที่ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ มาจัดประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ มากกว่าถกเถียงกันภายในสปช. เท่านั้น
ซึ่งในช่วงที่สปช.แปรญัตติ 7 วัน 7 คืนนั้น มีหลายประเด็น ที่โต้แย้งกัน และเป็นประเด็นใหญ่ๆ ยังไม่ได้ข้อยุติ เช่น ระบบเลือกตั้ง ระบบถ่วงดุลตรวจสอบ ที่มาส.ว. ตำรวจ การปรองดอง เป็นต้น
ฉะนั้น การประชาพิจารณ์ในขณะนี้ จำเป็นเร่งด่วนกว่า การทำประชามติ เพราะการเปิดให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้แสดงเหตุผลของตัวเอง จะทำให้สังคมวงกว้างได้ไตร่ตรอง หรือมองร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีเหตุผล มีข้อมูล และจะทำให้ขั้นตอนลงประชามติถ้ามี ก็ไม่ใช่แค่พิธีกรรม หรือถ้าไม่มี ก็ถือว่าเป็นการให้การศึกษากับประชาชนและการเรียนรู้ร่วมกัน
ทั้งนี้ หากปล่อยให้ต่างคนต่างคิด หรือแสดงความเห็นไปแบบทีใครทีมัน จะทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเกมการเมือง จนสุดท้ายกระทบกับทิศทางการปฏิรูปที่ประชาชนคาดหวังได้
นายสุริยะใส ยังกล่าวถึง คนที่ออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการตัดสินใจเร็วเกินไป เพราะกระบวนการ ยังอยู่ในขั้นตอนที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ที่สำคัญ ผู้ที่เห็นต่างจากกรรมาธิการยกร่างฯ ควรทำข้อเสนอ หรือทำคำขอแปรญัตติประกบไปเลย จะทำให้ประชาชนได้เห็นว่าแบบไหนดีกว่ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น