xs
xsm
sm
md
lg

บำนาญแห่งชาติเกมวัดใจ “บิ๊กตู่” ปรับโครงสร้างภาษีดึงคนรวยช่วยคนจน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการและภาคประชาชน ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์เพื่อเปลี่ยนผ่านจากประชานิยม สู่รัฐสวัสดิการ ด้วยการปรับยุทธศาสตร์เบี้ยยังชีพ ก้าวสู่ “ระบบบำนาญแห่งชาติ” หลอมรวมระบบบำนาญพื้นฐานใน 3 กองทุน ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมหาแหล่งรายได้เพิ่มอีก 3-4 แสนล้านบาท จากการปรับโครงสร้างระบบภาษี “เก็บคนรวยและขยายเพดานเงินสมทบประกันสังคมเพิ่ม” ด้านผู้แทนชุมชนในท้องถิ่น เสนอรัฐเขย่าการจัดสรรงบประมาณของประเทศ หันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตทางตรง มากกว่าทุ่มงบประมาณด้านโครงสร้างสาธารณะ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้หรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในสภาวะที่อัตราการเกิดลดลง และจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 แต่รัฐและสังคมยังไม่ตื่นตัวต่อความเป็นสังคมสูงวัย โดยเฉพาะการที่ยังไม่มีนโยบายหลักประกันทางรายได้หรือบำนาญเมื่อสูงวัยสำหรับทุกคน ขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งที่ควรเป็นหลักประกันทางรายได้ ซึ่งรัฐต้องจัดให้ประชาชนทุกคนเมื่อสูงวัย (รัฐสวัสดิการ) เพื่อให้มีรายได้ โดยคำนึงถึงการดำรงชีพอยู่ได้ของผู้สูงอายุ

ล่าสุดเครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ออกมาเคลื่อนไหวโดยเปิดเวทีสาธารณะ “สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกันด้วยระบบบำนาญแห่งชาติ” โดยเสนอให้รัฐควรปรับ “เบี้ยยังชีพ” ให้เป็น “บำนาญพื้นฐาน” เพื่อเป็น “หลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุ” โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ …. ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก ให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัย เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้แบบรายเดือนในอัตราที่อ้างอิงเส้นความยากจน ในปี 2558 อยู่ที่ 2,400 บาทต่อเดือน

ประการที่สอง ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมของประชาชน ในการเป็นกลไกที่มีบทบาทจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบเดียวกัน

ที่สำคัญบำนาญแห่งชาติ เป็นสิทธิที่คนไทยทุกคนควรได้รับเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป และหากจะให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่อดตายในเวลา 20 ปี ด้วยการมีอาหาร 3 มื้อ จะต้องมีรายจ่ายต่อหัวถึง 876,000บาท และตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อหัวตรงนี้แหละคือสิ่งที่เป็นปัญหาว่ารัฐจะหารายได้มาจากไหน และทำไมต้องเป็นตัวเลขนี้ และตัวเลขใดจึงจะเหมาะสม รวมไปถึงทำไมต้องผลักดันให้เกิดบำนาญแห่งชาติขึ้นมา

ทั้งหมดนี้มีคำตอบจากการเสวนาในเวทีสาธารณะ “สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกันด้วยระบบบำนาญแห่งชาติ” ในหัวข้อเรื่อง “บำนาญพื้นฐาน สวัสดิการผู้สูงวัยที่สังคมทำได้” โดยมี นักวิชาการ และภาคประชาชน ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์เพื่อเปลี่ยนผ่านจากประชานิยม สู่รัฐสวัสดิการนั้น รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การหลอมรวมบำนาญขั้นพื้นฐานไปสู่เป้าหมายบำนาญแห่งชาติ เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหา เพราะแม้ว่าในปัจจุบันนี้ในทางกฎหมายยังไม่ได้เขียนระบุคำว่า “บำนาญ “ แต่โดยพฤตินัยแล้ว ประชาชนทุกกลุ่มได้รับหลักประกันที่เป็นระบบผู้สูงอายุแทบจะทุกคน โดยระบบบำนาญ ระบบประกันสังคม และระบบการออม เปรียบเสมือนบำนาญพื้นฐานสำหรับทุกคน แต่ออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลการันตีประกันรายได้ของผู้สูงอายุไว้แล้ว แต่มีการแบ่งประเภทแยกส่วนออกจากกัน

ดังนั้นจึงเสนอให้มีการจัดระเบียบระบบบำนาญของประเทศ โดยการปรับทำให้ “เบี้ยยังชีพ” กลายเป็นบำนาญพื้นฐานไป ซึ่งเมื่อไหร่ที่หลักประกันเหล่านี้กลายเป็นบำนาญพื้นฐานได้ จะทำให้ยุทธศาสตร์บำนาญของประเทศไทยไปในทิศทางที่ชัดเจน และมีความมั่นคงมากขึ้น
รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ
สิ่งสำคัญอีกประการคือ การบูรณาการจัดระบบ โดยหลอมบำนาญขั้นพื้นฐานทั้ง 3 ส่วนที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายเข้าด้วยกัน นำมาจัดระบบระเบียบให้เห็นภาพรวมและเห็นทิศทางที่จะก้าวไป เพื่อเป็นแนวทางให้เป็นบำนาญแห่งชาติให้ได้

ส่วนเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก ถ้าระบบเบี้ยยังชีพและบำนาญพื้นฐานไม่มีการคิดร่วมกัน จะทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาด้านการจัดการว่าจำนวนเงินเท่าไหร่จึงสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ประกันสังคมก็อย่างหนึ่ง เบี้ยยังชีพก็อย่างหนึ่ง บำนาญของข้าราชการก็ขึ้นเอาๆ ท้ายสุดคิดไปคนละทาง ซึ่งเป้าหมายรวมของการมีระบบบำนาญแห่งชาติ คือ ช่วยลดเม็ดเงิน ไม่ทำให้รัฐบาลเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าตัดสินใจร่วมกันได้จะทำให้ช่วยประหยัดเม็ดเงินได้ และทำให้มีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น

ดังนั้นหากมีการนำระบบต่างคนต่างคิดนี้มารวมกันไว้ และพิจารณาโดยคณะกรรมการ หรือเป็นกลไกที่มองภาพรวมจะทำให้เบี้ยยังชีพ หรือบำนาญพื้นฐานมีสถานะที่มีความมั่นคงมากขึ้น ที่สำคัญฐานะทางการเงินของภาครัฐ ก็จะอยู่ในสถานะที่มั่นคงกว่าเดิม ดีกว่าปล่อยให้ทุกระบบแยกกันเดิน

สำหรับอุปสรรคของการแจ้งเกิดระบบ “บำนาญแห่งชาติ” เกิดจากเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร ในแต่ละยุคมักมีการเปลี่ยนแปลงแผนยุทธศาสตร์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความชัดเจน โดยคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ยื่นเรื่องเสนอว่า ต้องทำให้มีระบบบำนาญขั้นพื้นฐานให้ได้

ปรับโครงสร้างภาษีก้าวสู่สังคมที่มีคุณภาพ

ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนวทางการจัดหางบประมาณมาใช้จ่ายเพื่อเพิ่มเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ด้วยการปรับโครงสร้างระบบภาษีใหม่ ซึ่งถ้าเป็นไปได้เก็บภาษีจากคนรวยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 75 เพราะภาษีคนรวยเป็นภาษีที่เก็บได้ยาก รวมถึงขยายเพดานของการเก็บเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันมีขั้นสูงสุดว่ารายได้มากขนาดไหนก็จ่ายไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน

“ผมมีกำลังที่จะส่งเข้าประกันสังคมได้ถึงเดือนละ 3,000 บาท แต่รัฐมีเพดานที่ 750 ก็ทำให้ออมได้แค่ 750 ซึ่งถ้าขยายเพดานได้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ”

อีกทั้งจะต้องมีการผลักดันด้วยการปลูกฝังสร้างวินัยให้มีการออมตั้งแต่อายุ 20 ปี และสำหรับคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็อยากเสนอโครงการให้ลูกหลานเป็นคนออมให้พ่อแม่ ซึ่งอยู่ในรูปแบบการสมทบเข้ากองทุนต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในวัยเกษียณ

ส่วนการจะผลักดันในบำนาญพื้นฐาน เป็นระบบที่มีคุณภาพได้อย่างจริงจังนั้น รัฐจะต้องดูสังคมทั้งระบบ เช่น การที่จำนวนประชากรเด็กมีจำนวนน้อยลง แต่จะมีน้อยแบบคุณภาพอย่างไรนั้น รัฐจะต้องช่วย และประชาชนก็ต้องให้ความสำคัญด้วย โดยการให้สวัสดิการเด็กเล็ก ยิ่งลูกหลานของคนจนแล้วมีน้อยมาก สุดท้ายเมื่อเติบโตจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีอนาคต ไม่มีคุณภาพ อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้รับการศึกษาที่ดี และเด็กมีจำนวนน้อยลง ซึ่งจะต้องพยายามปั้นให้เด็กในวันนี้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในอนาคตได้ด้วย

ดังนั้นเมื่อรัฐและประชาชนมีความเข้าใจตรงกันในเรื่องบำนาญแห่งชาติแล้ว ก็นำไปสู่ขั้นตอนที่จะต้องพูดถึงแหล่งเงิน หรือ แหล่งรายได้ที่จะนำมาใช้ในการจ่ายบำนาญพื้นฐาน ซึ่งแหล่งรายได้ของรัฐจะต้องมาจ่ายการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ โดยเฉพาะภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคลจะต้องมีการจัดเก็บรายได้อย่างทั่วถึง ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีแวต ภาษีจากการลงทุนในตลาดทุน เป็นต้น
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
“รัฐบาลต้องกล้าดำเนินการปรับโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สิน ที่วันนี้ภาคเอกชนรับรู้และพร้อมที่จะจ่าย แต่ปรากฏรัฐบาล(นายกฯ) มาสั่งถอยเสียแล้ว”

ที่สำคัญการจะปรับโครงสร้างภาษีและได้รับความร่วมมือนั้น รัฐจะต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า รัฐจะดูแลระบบภาษีอย่างเป็นธรรมและอย่างทั่วถึง ซึ่งถ้าทุกคนร่วมมือกันแบบนี้ ประมาณการว่าจะสามารถเก็บภาษีเพิ่มได้ถึง 3-4 แสนล้านบาทต่อปี และคาดว่าระบบบำนาญพื้นฐานน่าจะเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะทำให้ระบบการออมของประชาชนแข็งแรงขึ้น

“เราจะต้องสร้างระบบการออม และต้องให้รู้ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนดีที่สุด ไม่ใช่รอความหวังจากรัฐเพียงอย่างเดียว”

เสนอรัฐปรับมาทุ่มงบให้คุณภาพชีวิต

ด้าน นายมณเฑียร สอดเนื่อง ตัวแทนภาคประชาชน จากกลุ่มสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า โอกาสที่จะเกิดระบบบำนาญแห่งชาตินั้นมีความเป็นไปได้ เพราะทุกๆ รัฐบาลที่เข้ามา จะมีเป้าหมายหลักคือ คุณภาพชีวิตของคน โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในทางอ้อม เช่น ใส่เม็ดเงินเข้าไปในโครงการ โครงสร้างพื้นฐานมาก แต่คุณภาพชีวิตทางตรงไม่ได้ทำ เช่นตัวอย่างของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับความเจริญทางวัตถุ โดยทุ่มงบประมาณไปที่โครงสร้างพื้นฐาน มักจะสร้างปัญหาตามมา เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความเจริญทางวัตถุอย่างสูงสุดนั้น มีคนที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุดก็ว่าได้

ในลักษณะนี้ จึงทำให้สัดส่วนของงบประมาณแต่ละปีหายไปที่คุณภาพชีวิตทางอ้อมมาก เห็นได้จากงบประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท สัดส่วนใหญ่นั้นอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานมากกว่างบประมาณด้านคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับเรื่องสังคม ซึ่งมีสัดส่วนในงบประมาณประจำปีประมาณ 1% เท่านั้น ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท ชี้ให้เห็นว่างบประมาณประจำปีของประเทศลงมาสู่คุณภาพชีวิตทางตรงของประชาชนน้อยมาก จึงเสนอว่าควรจะนำรายได้ทั้งหมดมาเขย่า ปรับสัดส่วนใหม่

ดังนั้นหากรัฐบาลปรับวิธีคิด ปรับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยไม่เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ทำโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่เป็นรางคู่หรือรางธรรมดา มีการจัดการระบบให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตทางตรงเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้คนในชาติมีเม็ดเงินในมือเพื่อทำให้ประชาชนมีหลักประกันรายได้ และมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น และยืนยันว่าระบบบำนาญแห่งชาติมีโอกาสเป็นไปได้

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ปัญหาของการออมเงิน

นางชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนภาคประชาชน จากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เห็นว่ามีคนในสังคมไทยจำนวนมากที่ไม่มีหลักประกันด้านรายได้มากถึงร้อยละ 80 โดยเฉพาะหลังเกษียณอายุ นั่นเพราะแต่ละคนมีความสามารถในการออมไม่เท่ากัน และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถมีเงินออมได้อีกด้วย เพราะอันที่จริงหลายๆ คนอยากออมเงิน ไม่มีใครที่ไม่ห่วงบั้นปลายชีวิตของตนเอง แต่เพราะรายได้ไม่เหลือออม ขณะที่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็เพิ่ม และต้องดูแลบุตร พ่อแม่

ดังนั้นจำเป็นที่รัฐซึ่งเป็นผู้ออกแบบประเทศไทย ต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการจัดสรรงบประมาณใหม่ และลดปัญหาคอร์รัปชันกระทั่งหมดไป ซึ่งถ้านำการบริหารจัดการคลังของประเทศมาตีแผ่ จะเห็นว่าทุกๆ รัฐบาลใช้เงินกับคุณภาพชีวิตทางอ้อมมากกว่า

“ในฐานะที่เป็นภาคประชาชนทำงานสาธารณะมานาน เห็นมาตลอดว่า งบประมาณที่มีการแบ่งสรรบอกว่าลงที่ประชาชนทั้งนั้น แต่สุดท้ายงบประมาณที่ว่ามาถึงมือประชาชนน้อยมาก และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปดีขึ้นหรือไม่ อยากให้เชื่อมั่นว่าประชาชนจัดการดูแลตัวเองได้หากว่ารัฐจัดสรรให้เหมาะสม และทดลองให้ประชาชนได้จัดการตัวเอง โดยการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐแบบไม่ต้องผ่านหน่วยงานมากนัก เพราะคงไม่ถึงประชาชนทั้งหมด เช่น งบประมาณที่ให้ประชาชนจัดกิจกรรมกระเบียดกระเสียรบีบคั้นทุกรูปแบบ แต่เมื่อรัฐจัดกิจกรรมจะเห็นเลยว่าเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ นี่คือ สิ่งที่อยากให้รัฐกลับไปทบทวน”

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆ ที่ตระหนักถึงปัญหาและภาระที่จะเกิดขึ้นจากสังคมสูงวัย จึงได้ร่วมกันออกแบบเพื่อผลักดันให้สังคมสูงวัยของประเทศไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถส่งผ่านไปยังรุ่นต่อรุ่น ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่า เมื่อเราก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย แม้จะไม่มีลูกหลานส่งเสียเลี้ยงดูก็จะมีข้าวกิน ไม่อดตาย เพราะเรามีรายได้จากบำนาญพื้นฐานไว้ใช้จ่าย

แต่บำนาญพื้นฐานหรือบำนาญแห่งชาติ จำนวนเงิน 2,492 บาทต่อเดือน ที่อ้างอิงกับเส้นความยากจน ปี พ.ศ.2555-2557 ซึ่งเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น!
กำลังโหลดความคิดเห็น