xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์การปฏิรูปศาลยุติธรรม (ตอนที่ 3 ) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดิสเครดิตศาลยุติธรรม ?

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย

เมื่อไม่กี่วันมานี้ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมออกมาแถลงถึงจุดยืนของศาลยุติธรรม ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 7 ข้อ

ข้อสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นประเด็นเรื่อง การเพิ่ม ก.ต. คนนอกที่มาจากฝ่ายการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จากจำนวน ก.ต. ที่เป็นผู้พิพากษาทั้งหมด ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายและให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษามากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อมูลว่า ก.ต. คนนอก 2 คน ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายการเมืองเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่อาจทำหน้าที่ได้ หรือมีอุปสรรคอันใดจึงจำเป็นต้องเพิ่ม ก.ต.คนนอก

ที่นักวิชาการบางคนออกมาให้ความเห็นว่า ก.ต.คนนอก 2 คน น้อยเกินไป ไม่อาจทำอะไรได้นั้น ก็ไม่ทราบว่าจะให้เข้ามาถ่วงดุลการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาหรืออย่างไร แต่ถ้าตัวแทนฝ่ายการเมืองได้ทำหน้าที่ ก.ต. อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แม้ ก.ต. คนนอกเพียงคนเดียวก็สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ก.ต. ศาลยุติธรรมได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่โปร่งใสอย่างไร

และหากพบข้อบกพร่องก็สามารถเสนอแนะและสะท้อนปัญหาขององค์กรศาลยุติธรรมไปยังวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชนได้ โดยไม่จำต้องมีตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็น ก.ต. ถึง 2 คน ด้วยซ้ำไป

ประวัติศาสตร์ของศาลยุติธรรมในการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองนั้น มีระยะเวลายาวนานและยากลำบาก กว่าที่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมจะมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่โดยปลอดจากการแทรกแซงและครอบงำของฝ่ายการเมืองมาได้จนถึงทุกวันนี้

แต่กลับมีความเห็นของนักวิชาการบางฝ่ายที่คิดลอกเลียนแบบของต่างประเทศ พยายามเสนอให้มีตัวแทนฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็น ก.ต. เพิ่มขึ้น โดยกล่าวอ้างว่า ศาลยุติธรรมไทยไม่มีความยึดโยงกับอำนาจของประชาชน จึงควรมีตัวแทนฝ่ายการเมืองเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วเข้ามาตรวจสอบอำนาจตุลาการให้โปร่งใสกว่าที่เป็นอยู่

ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงประจักษ์แจ้งว่า การเมืองไทยที่ผ่านมามีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง ทั้งการเมืองระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ สังคมก็ยังไม่อาจไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมืองได้ อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในขณะนั้นกำหนดให้มี ก.ต.ที่มาจากการสรรหาของวุฒิสภา 2 คน โดยอ้างว่าเพื่อให้มีการยึดโยงกับตัวแทนประชาชน และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ก.ต. คนนอก

การปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. ซึ่งมีคนนอก 2 คน ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น จึงสงสัยว่า การเพิ่มตัวแทนฝ่ายการเมืองใน ก,ต. คนนอก ถึง 1 ใน 3 จะเป็นการเพิ่มความโปร่งใสให้มากไปกว่าเดิมหรือว่าจะสร้างความขุ่นมัวให้แก่ศาลยุติธรรมกันแน่

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งศาลยุติธรรมคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ควรให้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ ก.ต.ที่ให้ลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาไปยังศาลฎีกาได้นั้น หากดูเพียงผิวเผินแล้วก็จะรู้สึกว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้พิพากษามากขึ้น

แต่มองอีกมุมหนึ่งก็อาจจะทำให้รู้สึกได้ว่า ก.ต. ศาลยุติธรรม มีความบกพร่องในการพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาอย่างไร จึงได้มีแนวคิดกำหนดให้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ ก.ต. ในประเด็นเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาได้

ก.ต.ศาลยุติธรรม เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรม มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาทุกระดับชั้น หลักการนี้สืบทอดมาเป็นระยะเวลายาวนานจนเป็นที่ยอมรับของสังคมว่า ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างที่ดีของระบบราชการทั่วไป ไม่เคยมีข่าวอื้อฉาวเรื่องการวิ่งเต้นหรือให้ผลประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา

ไม่เหมือนกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การของรัฐอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของฝ่ายการเมืองที่มีข้อครหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่งและการใช้อำนาจทางการเมืองก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการและเจ้าพนักงานของรัฐตลอดมา

ส่วนการลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา ก็มีกระบวนการสอบสวนและการพิจารณาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น เมื่อมีมูลความผิดก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย แล้วส่งความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนไปให้คณะอนุกรรมการ ก.ต.ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาทั้ง 3 ชั้นศาล รวม 21 คน พิจารณากลั่นกรอง หลังจากนั้นจึงเสนอความเห็นไปยัง ก.ต. ศาลยุติธรรม ซึ่งมีกรรมการจำนวน 15 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่เป็นตัวแทนทั้ง 3 ชั้นศาล และ ก.ต. คนนอกซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายการเมือง 2 คน จะร่วมพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนความและความเห็นของกรรมการสอบสวนและความเห็นของอนุ ก.ต. ประกอบด้วย

ที่ประชุม ก.ต. ศาลยุติธรรมจะมีการอภิปรายและลงมติว่า ผู้พิพากษาที่ถูกดำเนินการทางวินัยนั้นมีความผิดวินัยหรือไม่ และหากมีความผิดจะสมควรลงโทษสถานใด

ผู้สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรรมการสอบสวนทางวินัย อนุ ก.ต. และก.ต.ศาลยุติธรรม ก็ล้วนแต่เป็นผู้พิพากษาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ โดยใน ก.ต.ศาลยุติธรรม มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานในที่ประชุม

การพิจารณาโทษทางวินัยนั้น ถือว่าเป็นการคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษามิให้ถูกบุคคลใดใช้อิทธิพลกลั่นแกล้งรังแก และยังเป็นการป้องปรามมิให้ผู้พิพากษาประพฤติปฏิบัตินอกลู่นอกทาง จึงต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบถี่ถ้วน แต่ก็ต้องมีความเด็ดขาดเอาจริงเอาจังแก่ผู้กระทำผิดวินัย

ที่ผ่านมา ก้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก.ต.ศาลยุติธรรมได้ทำหน้าที่บกพร่องในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา ยกเว้นกรณี ก.ต.ในช่วงวิกฤติตุลาการเมื่อประมาณปี 2535 -2536 ซึ่งขณะนั้นฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาระดับสูง จึงทำให้แกนนำผู้พิพากษาหลายคนที่ร่วมคัดค้านฝ่ายการเมืองถูก ก.ต. ซึ่งมาจากฝ่ายการเมืองพิจารณาลงโทษถึงขั้นให้ออกจากราชการ

แต่ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันทรงมีพระราชวินิจฉัยไม่โปรดกล้าฯให้ออกจากราชการ ผู้พิพากษาเหล่านั้นจึงพ้นจากการถูกลงโทษและได้รับราชการต่อไป เท่าจำได้ก็มีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช. รวมอยู่ด้วย

การให้ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา จึงมีคำถามว่าองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่ถูกแต่งตั้งโดย ก.ต.ศาลยุติธรรม จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ก.ต. ศาลยุติธรรม ซึ่งมีประธานศาลฎีกานั่งเป็นประธานนั่งพิจารณาอยู่ด้วยกระนั้นหรือ?

การที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้พิพากษาที่ถูก ก.ต.ศาลยุติธรรมลงโทษทางวินัยสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ จะเท่ากับว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ไว้วางใจ ก.ต. ศาลยุติธรรมว่าจะสามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาได้ ทั้งเป็นการทำลายหลักการสำคัญที่ว่า ก.ต. ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรมหรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมออกมาแถลงว่า ศาลยุติธรรมไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น

ในกรณีที่มีปัญหาว่า คดีหนึ่งคดีใดที่มีการฟ้องร้องต่อศาลแล้วนั้นจะอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลใดกันแน่ ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกำหนดให้มีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาและตุลาการของศาลต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานร่วมกันพิจารณาชี้ขาดว่า ศาลใดจะต้องรับผิดชอบในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

แต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกลับเห็นว่า เรื่องการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเช่นนั้น ผู้พิพากษาและตุลาการที่เป็นกรรมการอาจไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอหรือไม่ จึงได้กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายจำนวนหนึ่งเข้าร่วมเป็นกรรมการชี้ขาดด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ ที่กฎหมายกำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการฯ โดยตำแหน่ง ก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ โดยให้คณะกรรมการเลือกประธานในที่ประชุม

ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า ถ้าที่ประชุมมีมติเลือกบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ประธานศาลฎีกาเป็นประธานในที่ประชุม ประธานศาลฎีกาควรจะนั่งเป็นกรรมการอยู่ในที่ประชุมด้วยหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดความขัดแย้งในเรื่องเขตอำนาจศาล และกำหนดวิธีการเลือกประธานกรรมการเสียใหม่ตามเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดให้นักวิชาการด้านกฎหมายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาใช้อำนาจตุลาการในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล และยังเป็นการลดสถานะภาพของประมุขฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมให้ต่ำลงหรือไม่ ?

เชื่อว่า เมื่อมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป อาจจะมีผู้เสนอความคิดเห็นเปลี่ยนแปลงศาลยุติธรรมอีกหลายประการ ที่จะเป็นเหตุให้ฝ่ายการเมืองมีโอกาสเข้ามาแทรกแซงศาลยุติธรรมด้วยเหตุผลเดิม ๆ ที่ว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมใช้อำนาจตุลาการโดยไม่มีการยึดโยงกับประชาชน และอ้างอิงแบบอย่างที่ใช้ในต่างประเทศตามที่ตนได้ไปศึกษาและรับรู้มา

อาจมีนักวิชาการหรือนักกฎหมายบางคนเสนอความเห็นว่า ควรมีทางลัดพิเศษให้บุคคลภายนอก เช่นอาจารย์และนักวิชาการด้านกฎหมาย ทนายความ หรือข้าราชการฝ่ายอื่น สามารถเข้ามาเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาได้โดยวิธีการสรรหา แล้วให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภารับรอง

และอาจจะเสนอให้ ก.ต. ศาลยุติธรรมคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีคุณสมบัติเป็นประธานศาลฎีกาจำนวนหนึ่ง แล้วให้นักการเมืองในสภาผู้แทนหรือวุฒิสภาเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ใครเป็นประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาที่ได้รับการเสนอชื่อคนไหนมีความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองก็อาจได้รับเลือกเป็นประธานศาลฎีกา

อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 27 ก็บัญญัติว่า “ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านกระบวนการยุติธรรมด้วย.....ทั้งนี้เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย.....

จึงไม่ควรอ้างแต่เพียงว่า รูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ที่คิดว่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยนั้น มีใช้ในหลาย ๆ ประเทศแล้วเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมิได้ศึกษารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของวัฒนธรรมองค์กร และการเมืองของประเทศนั้น ๆ โดยละเอียดเสียก่อนว่า มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยหรือไม่


พืชพันธุ์และผลไม้ที่ขึ้นอยู่ในท้องถิ่นใดให้รสชาดเป็นที่ชื่นชอบของคนที่รับประทาน เช่น ส้มโอนครชัยศรี หรือทุเรียนเมืองนนท์นั้น มิใช่ว่าจะนำไม้ผลพันธุ์เดียวกันนั้นไปปลูกในท้องถิ่นอื่นแล้วจะได้ผลดีเช่นเดียวกันฉันใด หากจะนำรูปแบบและวิธีการที่ใช้อยู่ในต่างประเทศมาใช้ภายในประเทศไทยที่มีสภาพสังคมและการเมืองแตกต่างกันอย่างมาก ก็พึงต้องระมัดระวังในการนำมาปรับใช้เช่นกัน

มิฉะนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่สร้างองค์กรประเภทต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ แต่ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลดังที่บรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการยกร่างรัฐธรรมนูญและสังคมไทยคาดหวัง อีกทั้งอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ก็เป็นได้

โดย.....นายหิ่งห้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น