xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธาน คสช.

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
20 เมษายน 2558

เรื่องขอให้แก้ไขกฎหมายอาญาโดยกำหนดบทลงโทษใน “ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ” เพื่อเป็นหลักประกันให้ศาลและองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดี ต้องควบคุมการทุจริตคอรัปชั่นได้ด้วยระบบ และป้องกันไม่ให้ศาลและองค์กรฯ เป็นแหล่งฟอกเงิน หรือฟอกความผิดให้กับการทุจริตคอรัปชั่น โดยเป็นผู้กระทำ “ ความผิดมูลฐาน” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ เสียเอง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยละเมิดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอรัปชั่น และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น [ United Nation Convention against Corruption ( UNCAC ) ได้ออกใช้บังคับตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน [ Universal Declaration of Human Rights ( UCHR ) ] ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม [ The International Covenant on Economic , Social and Cultural Rights ( ICESCR ) ] ตามสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [ The International Covenant on Civil and Political Rights ( ICCPR ) ] โดยประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นไปแล้ว ( approval and accession ) เมื่อเดือนมีนาคม 2011 ( มีนาคม 2554 )

ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นนั้น ได้มีบทบัญญัติป้องกันการฟอกเงิน ( Measure to prevent money - laundering ) เป็นมาตรการหนึ่งของการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ( Preventive measures ) โดยกำหนดให้มาตรการป้องกันการฟอกเงินโดยการฟอกความผิด ( laundering of proceeds of Crimes ) เป็นความผิดอาญา ( Criminalization ) เพื่อให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ( Law enforcement ) และมาตรการการฟอกเงินนั้นได้กำหนดครอบคลุมถึงการกระทำทั้งเอกชนที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำต่อเอกชน การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา การยักยอก การเบียดบังหรือการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบ การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ การร่ำรวยโดยไม่ชอบ การให้สินบนในภาคเอกชน การยักยอกทรัพย์สินในภาคเอกชน ความรับผิดของนิติบุคคล ฯลฯ และในการอนุวัติให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสนธิสัญญาดังกล่าวนั้น ประเทศไทยได้ออกกฎหมายกำหนด “ ความผิดมูลฐาน ” ( Predicated offence ) อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานฟอกเงินไว้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นลำดับมาในปี 2550, 2551 และ 2556

“ ความผิดมูลฐาน ” ของความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อให้การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นเป็น ไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล กฎหมายได้บัญญัติครอบคุลมถึงความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกง หรือประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรือการกระทำโดยทุจริต ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับการกระทำไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์และการประทุษร้ายต่อทรัพย์ในทางแพ่ง ทั้งได้กำหนดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ ธุรกรรม ” “ ธุรกรรมที่มีเหตุผลอันควรสงสัย ” “ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ” “ สถาบันการเงิน ” ฯลฯ ตลอดจนกฎหมายได้บัญญัติให้ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เป็น “ ความผิดมูลฐาน

และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้บัญญัติการกระทำความผิดฐานฟอกเงินไว้ในมาตรา 5 (2) ว่าผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆเพื่อปกปิด หรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และกฎหมายยังได้กำหนดให้บุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งซึ่งกระทำโดยเจ้าพนักงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการพนักงานองค์กรปกครองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ กรรมการหรือผู้บริหาร หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือกรรมการองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ให้ต้องรับโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ แต่ในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาที่จะระวางโทษเป็นสองเท่านั้น ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติโทษตามปกติไว้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงการกระทำอันเป็น “ ความผิดมูลฐาน ” ไว้แต่อย่างใด การที่กฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดโทษไว้ ทำให้บุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญานั้นกลายเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมกระทำการอันเป็น “ ความผิดมูลฐาน ” ได้โดยไม่มีความผิด เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดโทษและการกระทำ “ ความผิดมูลฐาน ” ไว้

การที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติครอบคลุมถึงการกระทำ “ ความผิดมูลฐาน ” และ กำหนดโทษไว้ ทำให้เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ คณะกรรมการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อันมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดความผิดของการกระทำอันเป็น “ ความผิดมูลฐาน ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานฟอกเงินนั้น จะทำให้ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมนั้นไม่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาด หรือหลีกเลี่ยงการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำอันเป็น “ ความผิดมูลฐาน ” ได้ และการไม่ทำหน้าที่ หรือหลีกเลี่ยงการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด “ ความผิดมูลฐาน ” นั้น ก็เป็นการที่เจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมนั้น ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งที่ราชการ หรือ กระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งเป็นการกระทำ “ ความผิดมูลฐาน ” เสียเอง การไม่มีกฎหมายกำหนดโทษกับเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมดังกล่าว องค์กรของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวก็จะกลายเป็นแหล่งฟอกเงิน และฟอกความผิดให้กับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินของทุกองคาพยบ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเมืองทั้งโดยตรงและโดยปริยาย

ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 , 201 , 202 , นั้น ไม่อาจครอบคลุมถึงการทำหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 โดยรัฐบาลจะต้องแก้กฎหมายให้ศาล ( Court ) หรือ องค์กรที่ทำหน้าที่ชี้ขาดเช่นเดียวกับศาล ( Tribunal ) คือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการยุติธรรมให้มีหน้าที่ในตัวเองที่จะต้องตรวจสอบการกระทำอันเป็น “ ความผิดมูลฐาน” ซึ่งเป็นความผิดฐานฟอกเงิน โดยกำหนดให้การกระทำหรือการละเว้นการกระทำนั้นเป็นความผิดโดยกำหนดโทษไว้ โดยต้องแก้ไขกฎหมายอาญาด้วยการขยายการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมให้ครอบคลุมการตรวจสอบในการกระทำ “ ความผิดมูลฐาน ” ซึ่งกระทำกับทรัพย์สินหรือสิทธิในทรัพย์สิน การกระทำการอันเป็นการประทุษร้ายต่อทรัพย์สินหรือสิทธิในทรัพย์สิน ( deteriorate ) ของผู้อื่น ไม่ว่าจะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขององค์กร หรือสถาบันการเงิน ในกรณีที่เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยทุจริตที่เข้าข่ายเป็น “ ความผิดมูลฐาน ” โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ในตำแหน่งในการยุติธรรมที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้อง และต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญากับผู้มีตำแหน่งในการยุติธรรมไว้

การกำหนดให้ศาลและองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ชี้ขาดความผิด มีความผิดที่มีโทษทางอาญาและเป็นความผิดต่อตำแหน่งในการยุติธรรมนั้น ย่อมเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระของศาลและองค์กรดังกล่าว หากไม่กำหนดเป็นความผิดไว้ ศาลและองค์กรดังกล่าวก็จะถูกแทรกแซง ถูกสั่งการ หรือ ถูกครอบงำได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากบุคคลภายนอกหรือบุคคลในองค์กรนั้นเอง โดยศาลหรือองค์กรในการยุติธรรมก็จะกลายเป็นแหล่งฟอกเงิน หรือฟอกความผิดให้กับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเสียเองซึ่งก็คือ ศาลและองค์กรดังกล่าว เป็นผู้กระทำ “ ความผิดมูลฐาน ” และเป็นผู้กระทำการทุจริตคอรัปชั่นเสียเอง

การกำหนดให้ศาลและองค์กรที่ทำหน้าที่ชี้ขาดมีความผิดต่อตำแหน่งในการยุติธรรมโดยกำหนดโทษในความผิดนั้น นอกจากจะเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการเลือกตั้งฯลฯ แล้ว ยังเป็นกรณีที่จำเป็นต้องบัญญัติกำหนดระวางโทษไว้ เพราะเจ้าพนักงานดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งต้องมีมาตรการในการบังคับให้ต้องทำหน้าที่ตามหลักทฤษฎีความยุติธรรม เชิงตรวจสอบแก้ไข ( Corrective justice ) เพื่อป้องกันปราบปรามและต่อต้านการทุจริต อันเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และตามสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิในทางการเมือง ทั้งการมีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งตุลาการ หรือ เจ้าพนักงานในการยุติธรรมนั้น อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว มิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ที่เป็นเพียงเครื่องมือ ( Implementation measures ) ที่จะต้องกระทำตามวิธีการ หรือกระบวนการ ( Procedure ) ตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น แต่การมีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของความยุติธรรม ( Justice )นั้น จะต้องมีความรับผิดชอบในมาตรการของความยุติธรรม ( measures of maintaining the structure ) มากกว่าการเป็นเพียงเครื่องมือ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในความยุติธรรม จะต้องมีทั้งความรับผิดชอบในระบบความยุติธรรมตามกฎหมายและความรับผิดชอบในบ้านเมือง ( responsibility of the judiciary and responsibility of the state ) ดังนั้น การมีกฎหมายอาญากำหนดความรับผิดและมีบทกำหนดโทษไว้สำหรับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมนั้น จึงเป็นเรื่องของความจำเป็นที่ต้องมีบัญญัติไว้ตามมาตรฐานสากลของทุกประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะนอกจากจะเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระของศาลและองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว ยังเป็นการคุ้มกัน ( Judicial Immunity ) ให้ผู้ที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวพ้นจากการที่ต้องถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาของผู้ทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวได้

การไม่แก้กฎหมายอาญาเพื่อให้มีบทบัญญัติระวางโทษในการกระทำของเจ้าพนักงาน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ผิดปกติและจะไม่มีกฎหมายใดบังคับเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งในการยุติธรรมทำหน้าที่ในการปราบปรามและป้องกันการฟอกเงิน อันเป็นหลักสำคัญของการป้องกันปราบปรามและต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นได้ ซึ่งก็เท่ากับประเทศไทยได้ปฏิเสธการปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น การกระทำดังกล่าวจะนำพาประเทศไปสู่ความหายนะและความวิบัติทั้งในประเทศและสถานภาพระหว่างประเทศได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการทุจริตคอรัปชั่นได้โดยระบบทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชนและในภาคการเมือง ตลอดจนการทุจริตคอรัปชั่นในระบบของกระบวนการยุติธรรมเองได้ทั้งระบบ

แต่ในทางตรงกันข้าม หากได้มีการแก้ไขกฎหมายอาญาโดยกำหนดระวางโทษเพื่อให้ผู้มีตำแหน่งในการยุติธรรมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบการกระทำ “ ความผิดมูลฐาน ” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว ก็จะเป็นการบังคับและควบคุมให้การกระทำการทุจริตคอรัปชั่นที่จะเกิดขึ้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการเมืองในทุกระดับหยุดชะงักหรือยับยั้งลงได้ และเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้การทุจริตคอรัปชั่นในประเทศลดน้อยถอยลง สูญหาย หรือหมดสิ้นไปได้ในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น