xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” เร่งดัน กม.จัดซื้อฯ ฟันหัวยันหาง หวัง รบ.ประเดิม จ่อชงชื่อคนโกงขึ้นเขียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.ยุติธรรมเผยเร่งออก กม.จัดซื้อจัดจ้างให้ทันสิ้นปี ฟันระดับนโยบาย ถึงผู้ปฏิบัติ หวังหวังเป็น รบ.แรกที่ใช้ โชว์ความบริสุทธิ์ใจ ขอ ขรก.ร่วมขจัดโกง อย่าให้เป็นวาระแห่งชาติอีกต่อไป ดึง 4 องค์กรอิสระ เป็นศูนย์ ศอ.ตช.ปราบโกง รับมีทุจริตทุกกระทรวงทุกจังหวัด เตรียมเผยชื่อคนโกงชงต่อ “ประยุทธ์” จัดการ ไม่ทราบนิรโทษฯ โยนเรื่องของนายกฯ ชี้เปิดทางแล้วรอจุดลงตัว

วันนี้ (26 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.20 น. ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มสัญลักษณ์เครือข่ายภาครัฐต่อต้านการทุจริต ภายใต้โครงการ “ข้าราชการไทยไร้ทุจริต” โดยมีองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน สถาบันการศึกษา รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมโครงการกว่า 252 หน่วยงาน โดย พล.อ.ไพบูลย์ได้กล่าวให้โอวาทตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลต่างยก “การปราบปรามทุจริต คอร์รัปชัน” เป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนเคยเขียนแบบแผนในลักษณะที่รัฐบาลนี้ทำ ข้อสำคัญคือ เมื่อเขียนไปแล้วจะนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ วันนี้ทุกท่านที่ได้รับเกียรติบัตรไป ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์เลยหากไม่ปฏิบัติ วันนี้เรามีปัญหาเรื่องการปฏิบัติมาก ปีนี้เรามีงบประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท อยากทราบว่าได้นำไปดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรมทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์

รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า หากฝ่ายการเมืองทำแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ไม่อาจสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายข้าราชการ เนื่องจากข้าราชการเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ จากดัชนีตัวชี้วัดต่างๆ เราอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนัก รัฐบาลนี้จึงพยายามจะแก้ไขกฎหมายในการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา นายกฯ ได้มอบหมายให้ตนซึ่งอยู่ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ คสช.รับผิดชอบดูแล เราต้องการให้กฎหมายเขียนบทลงโทษของฝ่ายบริหาร คือ รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ต้องเขียนตรงนี้ให้ได้ เนื่องจากการทุจริตที่เกิดขึ้น เกิดตั้งแต่ระดับบนสุด คือ ผู้บริหาร จนถึงระดับล่าง คือ ผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นลักษณะของระบบอุปถัมภ์

“นักการเมืองที่เข้ามาบริหารเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ข้าราชการไปปฏิบัติ แต่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการการใช้จ่ายงบประมาณ แต่นักการเมืองมีอิทธิพลต่อการเร่งรัดดูแลงบประมาณ นักการเมืองบางคนแปลงบประมาณ จากงบประมาณที่ไม่ได้ถูกใช้โดยตรง และจงใจที่จะทำ แต่กระบวนการตรวจสอบไปไม่ถึงตัวนักการเมืองเนื่องจากเอกสารทั้งหมดอยู่ที่ข้าราชการ กฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเขียน ซึ่งควรจะออกให้รัฐบาลชุดนี้ได้ใช้ด้วยเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ อยากให้เป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรกที่ได้ใช้ ในฐานะที่มีส่วนรับผิดชอบ” รมว.ยุติธรรมกล่าว

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า เราพยายามเชิญภาคเอกชน สื่อมวลชนต่างๆ เข้ามาร่วมกันคิดว่าเราจะดำเนินการอย่างไร เราต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ต่อจากนี้ตนจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการผู้มีความผิดให้ทำการโยกย้ายสู่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เป็นผู้รวบรวมรายชื่อ เนื่องจากหากเรารอการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต้องใช้ระยะเวลานาน แต่นโยบายของ คสช.คือ การนำเอาคนที่มีปัญหาออกจากปัญหาให้ไปอยู่ตรงจุดอื่น คือ ใช้มาตรการในการปกครองแก้ไขปัญหา เหมือนกับหลายๆ ประเทศ นี่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้กระบวนการดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

“ผมไม่เคยเชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชันจะหมดไปจากโลกนี้ แม้แต่ในหลายๆ ประเทศที่มีความอันดับการประเมินสูงกว่าเรา แต่มันต้องไม่ใช่วาระแห่งชาติอีกต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าว

ต่อมาเมื่อเวลา 10.30 น. พล.อ.ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ถึงกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างว่า มีการเพิ่มบทลงโทษไปถึงนักการเมือง หรือผู้บริหารระดับนโยบายด้วย ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาเลย ขณะนี้กำลังดูอยู่และได้คุยกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่าจะพยายามเสนอต่อสภานิติบัญญัติให้ทันในสมัยนี้ เพราะได้คุยกับนายกฯ แล้วว่าอยากให้ออกเร็วซึ่งอาจจะเสร็จทันสิ้นปี

“เราต้องใช้เลย เราต้องเป็นรัฐบาลชุดแรกที่ต้องใช้ มันควรจะเป็นเช่นนั้น ถ้าเสร็จแล้วต้องเร่ง สนช.ให้ออกโดยเร็ว ปัจจุบันบางเรื่องเรารู้กันอยู่ แต่เอาผิดไม่ได้ เพราะหลักฐานไปไม่ถึง เช่น กรณีสนามฟุตซอล ที่ในที่สุดเอาก็เอาผิดแค่บรรดาคุณครูเท่านั้น จึงต้องพยายามแก้กฎหมายให้ถึงระดับใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังให้ได้”

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ได้คุยกับนายกฯว่ากฎหมายนี้จะเน้นเรื่องการปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีระบบป้องกันด้วย โดยเฉพาะการไปสร้างการรับรู้ให้แก่เยาวชน ซึ่งใช้วิธีเดียวกันกับการปราบปรามยาเสพติด ส่วนการบังคับใช้กฎหมายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เยอะว่าไม่ค่อยได้ผล โดยเฉพาะคนมีเงินมักไม่ได้รับโทษนั้นก็เพราะแบบนี้ ตนจึงได้พยายามเร่งกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างให้เข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น ตนจึงบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีทางที่จะทำให้เป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ได้เลย ทุกประเทศก็ทำไม่ได้ แต่เราจะทำได้ไหมที่จะไม่ให้เป็นวาระแห่งชาติอีกแล้ว เหมือนกับยาเสพติด

เมื่อถามว่า ปัจจุบันตัวเลขของข้าราชการที่ทุจริตมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ขณะนี้ได้บูรณาการหน่วยงานที่ดูแลเรื่องทุจริตใหม่ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ โดยตอนนี้พยายามดึงองค์กรอิสระมาตั้งเป็นศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ในการบูรณาการทั้งหมด ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยมีระเบียบที่ออกโดยคำสั่งนายกฯ ดังนั้น มีกฎหมาย มีอำนาจรองรับหมด โดยหน่วยงานเหล่านี้จะไปดูว่ามีเรื่องทุจริตที่ไหนบ้าง แล้วนำมาตีแผ่ ถือเป็นจุดเริ่มต้น โดยจะดึงเลขาธิการของแต่ละหน่วยงานมาอยู่ในศูนย์นี้ซึ่งได้เดินหน้าไปบ้างแล้ว โดยเมื่อไปตรวจสอบที่ใด ก็จะมี 4 หน่วยงานนี้ออกไปทำงานร่วมกันในนาม ศอ.ตช. และสามารถนำข้อมูลที่ได้รายงานตรงต่อนายกฯได้เลย และระเบียบออกโดยคำสั่งโดยนายกรัฐมนตรี มีกฎหมาย มีอำนาจรองรับ

เมื่อถามว่า ที่บอกว่าจะเสนอรายชื่อคนที่ทุจริตในสิ้นเดือนนี้ หมายความว่าอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์กล่าวยอมรับว่า ใช่ เพราะได้แจ้งนายกฯไปแล้ว่าถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ก็จะกลับสู่ระบบเดิมคือ รายชื่อพวกนี้จะไปอยู่ตามอัยการ หรือหน่วยงานอื่นซึ่งจะช้าและรัฐบาลจะไม่สามารถเข้าไปล้วงได้

“ถ้าเรามีหลักฐานชัดเจน และเชื่อมั่นในเรื่องนี้แล้วก็ส่งรายชื่อปรับย้ายก็จะเห็นเร็วขึ้นเหมือนอย่างที่ประเทศจีนทำ ที่เขาจะให้ออกจากงานเลย ซึ่งจีนมีกฎหมายที่เข้มแข็งเพราะเขามีระบบพรรคเดียว แต่ของเรายังอิงหลายๆ อย่างอยู่ ศอ.ตช.จะพิจารณาทุกเรื่องทุกคดีที่มีหลักฐานชัดเจน เพราะเวลาปรับย้ายข้าราชการต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย ไม่ใช่แค่มีคนร้องเรียนมาก็เอาเลย อย่างนั้นคงไม่ได้ ส่วนตัวการใหญ่ บางครั้งหลักฐาน เอกสารราชการไม่ได้ครอบคลุมไปถึงข้างบนขนาดนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องมาทำเรื่องการเพิ่มโทษในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ให้สามารถเอาผิดถึงระดับนโยบายได้” รมว.ยุติธรรมกล่าว

เมื่อถามว่า ในยุคที่ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.ยุติธรรม จะสามารถลดการทุจริตคอร์รัปชันได้หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า คงไม่สามารถที่จะตอบได้ แต่เชื่อว่าจากการที่ดูหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบคิดว่า ศอ.ตช.มีความแข็งแรง และทุกฝ่ายในระดับล่างได้รับรู้แล้ว และได้เห็นการทำงานที่จริงจังของ ศอ.ตช. ตอนนี้จึงอยู่ที่ระดับบนว่าจะเอาจริงเอาจังมากน้อยแค่ไหน

เมื่อถามว่า สามารถบอกได้หรือไม่ว่ากระทรวงไหนทุจริตมากที่สุด รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ไม่ขอพูดถึงหน่วยงานที่ทุจริต แต่ขอเป็นภาพรวมทั้งหมด ทั้งนี้มาตรการหลังจากพบว่ามีผู้ทุจริต คือ นายกฯจะเป็นผู้หยิบออกหรือจัดการด้วยตนเอง และให้หน่วยงานนั้นๆหยิบออกเอง เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถหยิบออกหรือดำเนินการลงโทษได้ทันที อยากจะให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะให้ผู้บังคับชาในแต่ละหน่วยงานเป็นผู้จัดการเอง และหลักการนี้จะถูกกำหนดใช้กับทุกคน

เมื่อถามว่า มีจังหวัดใดบ้างที่ไม่ทุจริตเลย รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ไม่มี เรื่องนี้ต้องยอมรับความจริงกันว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง มีทุกจังหวัดทุกกระทรวงเพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นตนไม่ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้

พล.อ.ไพบูลย์ยังกล่าวถึงการเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ เป็นเรื่องของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฯ และนายกฯ ก็บอกแล้วว่าพร้อมที่จะมาร่วมกันคิดและตัวท่านเองก็เปิดอยู่แล้ว ต้องมาดูว่าจุดที่ลงตัวอยู่ตรงไหน ตนคิดว่าตอนนี้รอแค่เวลาให้ลงตัวเท่านั้น








กำลังโหลดความคิดเห็น