xs
xsm
sm
md
lg

“ป.ป.ท.” ยกคำสั่ง คสช.ฉบับ 69 โต้มีอำนาจสอบ “สปสช.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ป.ป.ท.” ยกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 69 โต้ “หมอวิชัย” บอร์ด สปสช. ชี้มีอำนาจตรวจสอบชัดเจน ประสานข้อมูล สตง. เล็งขอสอบเอกสาร สปสช. หลังสอบคำให้การฝ่ายผู้ร้องเสร็จสิ้น เผยคำสั่ง! “หน่วยงานรัฐวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ หากพบเจ้าหน้าที่มีส่วนทุจริตให้ลงโทษอย่างเฉียบขาด”

จากกรณี นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งข้อสังเกตอำนาจการตรวจสอบของ ป.ป.ท.

วันนี้ (17 มี.ค.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) กล่าวว่า ป.ป.ท.มีอำนาจตรวจสอบการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยระบุว่า ป.ป.ท.มีหน้าที่ชัดเจนในการตรวจสอบการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 69 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบกับ คสช. เพราะการแก้ปัญหาทุจริตถือเป็นนโยบายหลักรัฐบาล กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีผู้ร้องเรียน ป.ป.ท.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงทุกประเด็น ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สตง.เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมกับ ป.ป.ท.ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตในนามศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ดังนั้น ป.ป.ท.จะประสานข้อมูลขอข้อมูลจาก สตง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยมาตรวจสอบควบคู่กัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สอบคำให้การของผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอเอกสารจาก สปสช.มาตรวจสอบเปรียบเทียบแต่ละประเด็นที่มีการร้องเรียน จากนั้นจะเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าให้ปากคำรวมถึงอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เบื้องต้นจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่ได้สรุปว่ามีการกระทำผิดหรือไม่

มีรายงานว่า สำหรับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 69 เป็นคำสั่ง “หน่วยงานรัฐวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ หากพบเจ้าหน้าที่มีส่วนทุจริตให้ลงโทษอย่างเฉียบขาด” ดังนี้

“คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ

เพื่อให้การบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน รวมทั้งเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมและผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ทุกภาคส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐโดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้

ข้อ 2 ในกรณีที่มีการกล่าวหาหรือพบเหตุอันควรสงสัยว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ทั้งในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ประกอบกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล โดยให้บังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว

ข้อ 3 ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อย่างเคร่งครัด

ข้อ 4 กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามข้อ 2 และข้อ 3 ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี

ข้อ 5 ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการแสวงหา รวบรวม และดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการที่จะทราบรายละเอียดและพิสูจน์เกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งติดตาม เร่งรัดผลการดำเนินงานตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 และรายงานผลการปฏิบัติพร้อมทั้งเสนอความเห็นให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบและพิจารณาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2557

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”

มีรายงานว่า วานนี้ (16 มี.ค.) นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการ สปสช. สัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ กล่าวถึงกรณี ป.ป.ท.ตรวจสอบ สปสช.ตามข้อร้องเรียนต่างๆ ทั้งการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง การจ่ายเบี้ยประชุมจำนวนมาก และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองไม่มีประสิทธิภาพ ตอนหนึ่งว่า

“กรรมการ สปสช.เกิดคำถามว่า ป.ป.ท.มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบหรือไม่ เพราะ สปสช.ถูกตรวจสอบโดยตรงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงอยากฝากถาม ป.ป.ท.เพื่อให้ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมา สตง.ได้มีการตรวจสอบทุกปี และได้เคยทักท้วง สปสช.กรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่ทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขา ว่าอาจมีการดำเนินการที่ผิดระเบียบหรือไม่ ซึ่ง สปสช.มีการชี้แจงแล้วว่าเป็นที่ความเข้าใจในเรื่องคำนิยามเงื่อนไขการใช้งบประมาณที่อาจแตกต่างกัน ซึ่ง สตง.ก็รับทราบ”



กำลังโหลดความคิดเห็น