xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”แนะทำประชามติร่างรธน. แก้เกมต่างชาติกดดัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และ นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะเชิญต่างชาติมาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า นายกฯคงทราบว่ามีแรงกดดัน และเสียงวิจารณ์ในประชาคมโลกว่า รัฐธรรมนูญไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าต่างชาติมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะเกิดปัญหา แต่การเชิญมาแล้วจะสามารถทำความเข้าใจได้หรือไม่ ตนไม่แน่ใจ เพราะไม่ทราบว่าต่างประเทศขีดเส้นความเป็นประชาธิปไตย ตรงไหน
ส่วนที่รัฐบาลพร้อมให้ต่างชาติเข้ามาดูร่างรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่พร้อมที่จะทำประชามตินั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบแน่นอนว่าจะไม่ทำประชามติ จริงหรือไม่ แต่ขอยืนยันว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านกระบวนการประชามติ โอกาสที่จะชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ และยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย ก็จะยากขึ้น ตนจึงเสนอว่าต้องทำประชามติ ยิ่งมีคนโต้แย้งในประเทศ และต่างประเทศก็หวาดระแวงว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หากผลักดันต่อไป ปัญหาที่คสช.ตั้งเป้าว่ามีรัฐธรรมนูญใหม่แล้วการเมืองจะสงบเรียบร้อย จะกลับกลายเป็นตรงกันข้าม คือ รุนแรงยิ่งขึ้น
"ผมยืนยันเลยว่า รัฐบาลและคสช. ต้องคิดให้ดีว่าถ้ามีข้อโต้แย้งในการทำรัฐธรรมนูญ และไม่มีการทำประชามติ อะไรจะเป็นหลักประกันว่า 1-3 ปีจากนี้ไป คนไทยยังไม่เลิกเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเสียโอกาสของประเทศ และถ้าจะทำประชามติ ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาเปรียบเทียบ เพื่อให้ประชาชนเลือกด้วย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
อดีตนายกฯ ยังประเมินว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ส่งผลให้ทั้ง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ต้องยุติบทบาทไป จนต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ระบุไว้นั้น มองได้สองประเด็นคือ สปช. เห็นชอบเพราะอยากให้มีการเลือกตั้ง กลัวว่าจะวุ่นวาย แต่ในที่สุดประเทศไทยจะเสียเวลากับการเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่ผ่าน แล้ววนเวียนอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญไม่รู้จบ ก็ต้องตั้งคำถามว่า จะทำให้คนข้างนอกเข้าใจได้อย่างไร ในเมื่อกลไกทั้งหลายมีที่มาจาก คสช. ทั้งสิ้น จะถูกมองว่า "สืบทอดอำนาจ"ไปโดยปริยาย และจะเป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้นเช่นกัน

**แนะทำความเข้าใจปชช.ก่อนประชามติ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง การที่หลายฝ่ายออกมาระบุว่า ต้องทำประชามติ ร่าง รัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าประชาชนยังไม่เข้าใจเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้ แล้วไปทำประชามติ คงไม่ผ่านแน่ แต่วันนี้ กมธ.ยกร่างฯ และ กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. ก็เร่งออกเดินสายรับฟังความเห็นมากขึ้น และจะสิ้นสุดในเดือนส.ค.-ก.ย. ถึงเวลานั้นประชาชนคงเข้าใจเนื้อหามากกว่าเดิม
"หากจะทำประชามติจริง ต้องเพิ่มช่องทางอื่นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกวิจารณ์มาก หากเป็นรูปแบบรายการโทรทัศน์ แล้วมีพิธีกรไปนั่งพูด คนจะเบื่อ และได้ผลแค่ระดับหนึ่ง จึงต้องทำให้คนไม่เบื่อ เช่น ใช้การ์ตูนแอนิเมชั่น น่าจะได้รับความสนใจ และให้ความเข้าใจในประเด็นสำคัญ เช่น ที่มานายกฯ ที่มา ส.ว." นายเทียนฉาย กล่าว

** รอร่างรธน.นิ่งก่อนออกกม.ลูก

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของกกต.เกี่ยวกับ การยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการได้มาซึ่งสมาชิวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า ทาง กกต.ได้ให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นอนุกรรมาธิการ ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯ แต่ขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่นิ่ง เพราะฉะนั้น หลักการการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงดำเนินการเฉพาะในส่วน การจัดการการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้ง วิธีการลงคะแนน ซึ่งพอที่จะยกร่างไปก่อนได้ หรือมาตรการที่จะเสริมเข้าไปเกี่ยวกับการป้องกัน และปราบปรามเกี่ยวกับการทุจริตการหาเสียง และมาตรการควบคุมการหาเสียงให้มีความเข้มข้นขึ้น เราสามารถ ยกร่างเตรียมการไว้ได้ แต่ในเรื่องของจำนวน ส.ส. และ ส.ว.นั้น เราก็ยกร่างไว้ที่สำนักงานกกต.ก่อน เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย
ทั้งนี้ โครงสร้างทั้งหมด เราใช้โครงสร้างในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ในการดำเนินการไปก่อน
ด้านนายสมศักดิ์ สุริยมงคล ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต. กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กกต. เสนอไป คือ หน่วยเลือกตั้ง ที่มาของกรรมการ ซึ่งสามารถยกร่างไว้ก่อนได้ ส่วนคณะกรรมการการจัดการเลือกตั้ง จะอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการกกต. แต่ถ้าวิธีการในการปฏิบัติ จะอยู่ในพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉะนั้น จึงต้องรอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการกกต.ก่อน ว่ามีความชัดเจนอย่างไร ซึ่ง กจต. กว่าจะยกร่างได้ ก็ต้องดูความชัดเจนของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยเหมือนกัน
"การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี59 คงจะใช้เครื่องลงคะแนนไม่ทัน ก็อาจจะใช้วิธีเก่าไปก่อน คือการกาบัตร ซึ่งการลงคะแนนแบบโอเพ่นลิสต์ ก็ยังไม่นิ่ง ไม่ทราบว่าจะใช้ได้หรือไม่ แต่เท่าที่กมธ.ยกร่างฯ ระบุไว้ว่า ในส่วนของกม.เลือกตั้งจะไม่แก้ไข ซึ่งการจะทำให้ประชาชนเข้าใจในระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นั้น ยอมรับว่าหนักใจ เพราะถ้าประชาชนไม่เข้าใจ จะก่อให้เกิดบัตรเลือกตั้งเสียเป็นจำนวนมาก อาจจะมีการร้องคัดค้านมากขึ้น " นายสมศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น