xs
xsm
sm
md
lg

แก่ จน เจ็บ อนาคตคนไทย?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร (นิด้า)


ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแล้วครับ ปัญหานี้เริ่มเห็นได้โดยง่ายจากการที่เราไม่สามารถจ้างแรงงานคนไทยได้อีกต่อไป ต้องไปอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เขมร ลาว และเวียดนาม ประเทศไทยทุกวันนี้หากขาดแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไป เศรษฐกิจภาคการผลิตที่ต้องใช้แรงงานแทบทั้งหมดจะล้มทั้งยืนพังครืนในทันที เพราะประเทศไทยเราขาดแคลนแรงงาน มีคนแก่ คนสูงอายุมาก ในขณะที่ชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีปัญหานี้เท่าประเทศไทย นอกจากนี้เรายังมีปัญหาโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาแทบทุกแห่งมีจำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาลดลง บางแห่งขาดทุน และอาจจะมีการปิดตัวลงในไม่ช้านี้ เรามาลองดูกันว่าปัญหานี้มันหนักแค่ไหน

จากงานวิจัย ประชากรไทยในอนาคต เขียนโดย ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และ ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล จาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลได้ฉายภาพประชากร (Population projection) ของประเทศไทยเอาไว้ ผลดังแสดงในรูปที่ 1 และ ตารางที่ 1 ข้างล่างนี้ เส้นโค้งรูปพาราโบลาคว่ำแสดงประชากรของประเทศไทยโดยรวมที่จะเริ่มถดถอย (ลดลง) ในปี 2563 และลดลงไปอย่างต่อเนื่องอีกนับสิบปี ในขณะที่อัตราการเพิ่มของประชากร (อย่างหยาบๆ คือ อัตราการเกิด-อัตราการตาย) นั้นลดลงเรื่อยๆ จนติดลบซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะประชากรถดถอย ในตารางที่ 1 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าดัชนีผู้สูงอายุซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างจำนวนผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) ต่อจำนวนเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) 100 คนมีค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และสัดส่วนของจำนวนประชากรผู้สูงอายุก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ประเด็นนี้จะเป็นภาระอันหนักอึ้งของเด็กที่เกิดมาใหม่ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุหลายคนในครอบครัวโดยปราศจากพี่น้องช่วยเหลือแบ่งเบาภาระกันเช่นครอบครัวไทยในสมัย

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยยาวนานขึ้น เมื่อมีอายุขัยยาวนานขึ้นก็ต้องมีเงินออมเก็บไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ ปัญหาคือคนไทยยังออมกันน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้วอย่างเต็มตัวเช่น ญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนนั้นมีอัตราการออมเงินสูงมาก เมื่ออายุขัยยืนยาวขึ้น ทำให้เวลาหลังเกษียณและไม่มีรายได้ยาวนานขึ้น ยิ่งจำเป็นต้องสะสมเงินออมมากขึ้น สำหรับคนไทยสมัยก่อนมีอาชีพรับราชการเป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลคือนายจ้างเบอร์หนึ่งของประเทศไทย และรัฐบาลก็มีบำนาญให้ข้าราชการเกษียณได้เลี้ยงชีพไปจนตาย แต่ในปัจจุบันมิได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป คนไทยทำงานเอกชน ทำงานส่วนตัวกันมากขึ้นกว่าเดิม แต่กลับไม่ค่อยออมเงินเตรียมตัวหลังการเกษียณอายุ (ไม่เชื่อลองไปดูร้านค้าสินค้าแบรนด์เนมดังๆ ในต่างประเทศก็ได้ มีแต่คนไทยทั้งนั้น พอถึงเทศกาลทีคนไทยไปเที่ยวเมืองนอกกันมหาศาล) ขณะนี้อายุขัยคนไทยเฉลี่ยประมาณ 71 ปีสำหรับเพศชาย และ 78 ปีสำหรับเพศหญิง ถ้าสมมุติว่าเราเริ่มทำงานกันที่อายุ 25 ปี และเกษียณอายุที่อายุ 60 ปี เราจะมีเวลาทำงาน 35 ปี และเราจะมีชีวิตที่ไม่มีรายได้หลังเกษียณอายุไปอีก 11 ปี หรือประมาณเกือบ 1 ใน 3 ของระยะเวลาทำงานสำหรับเพศชาย และ เกือบ 1 ใน 2 ของระยะเวลาทำงานสำหรับเพศหญิง

นอกจากนี้สังคมไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการออมสำหรับการเกษียณมากนัก ที่มีอยู่แล้วเช่น Retirement mutual fund: RMF ซึ่งนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วยก็กลับไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากต้องถือครองยาวนานเกินกว่าห้าปีและต้องถือครองยาวจนถึงอายุ 55 ปี จึงจะขายได้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อ Long term mutual fund: LTF มากกว่าเนื่องจากถือครองระยะสั้นกว่าได้ ไม่ต้องถือยาวจนอายุครบ 55 ปี และคนไทยจำนวนมากเมื่อลงทุนในหลักทรัพย์ก็กลับลงทุนแบบพี่เม่าเข้ากองไฟเล่นหุ้นเหมือนเล่นหวย ซึ่งไม่ยั่งยืนถาวรและไม่เป็นการเตรียมตัวเพื่อการเกษียณอายุและไม่เอื้อต่อปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่เรากำลังจะเผชิญแต่อย่างใด ผมได้ทราบข่าวมาว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) กำลังผลักดันให้เกิดกองทุนรวมเพื่อการดูแลสุขภาพ Health care mutual fund: HCMF ซึ่งน่าจะช่วยเสริมและอุดช่องโหว่ในการออมและการลงทุนสำหรับการเกษียณอายุได้ และกองทุนใหม่นี้จะลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน คนที่ทำงานทางการเงินน่าจะหาทางสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินดีๆ ที่ทำให้คนเตรียมตัวเกษียณสนใจลงทุนและมีอัตราการออม/การลงทุนที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน

อนึ่งเมื่อคนเราสูงอายุมากขึ้น ความเจ็บป่วยก็เพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว คนไทยทุกวันนี้ป่วยกันเยอะ โดยเฉพาะโรคที่ไม่ติดต่อ (Non-communicable disease) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ ไต หลอดเลือดสมอง เป็นอาทิ โรคเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง และที่ผ่านมาคนไทยกว่า 99% มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมสูงมาก เกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ประมาณ 10 ล้านคน อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานประกันสังคม (สปส) และประมาณ 4 ล้านคนอยู่ภายใต้การดูแลของสิทธิ์ราชการ ที่กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังเป็นผู้เบิกจ่าย เมื่อคนไทยเราสูงอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้นมาก จากการพยากรณ์ทางสถิติทำให้ทราบว่าค่าใช้จ่ายของโครงการ 30 บาทรักษาได้ทุกโรคที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับการดูแลอยู่นี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น สองแสนล้านบาทต่อปีภายใน 10 ปีจากนี้ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเป็นภาระทางการคลังอันใหญ่หลวงของประเทศไทยหรือคิดเป็นสัดส่วนของภาษีทั้งปีที่เก็บได้ทั้งปีเกือบ 1 ใน 3 หรืออาจจะถึง 1 ใน 2 ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ค่าใช้จ่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช กับ Rand Health Insurance Experiment: เมื่อคนใช้ไม่ต้องจ่าย ชาติจะฉิบหายได้หรือไม่? จาก www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000031735 การเสพติดประชานิยมเช่นนี้เป็นภาระของประเทศสูงมาก และอาจจะทำให้ประเทศไทยล้มละลายทางการคลังแบบกรีซและอาร์เจนติน่าได้โดยไม่ยากนัก ซึ่งควรต้องระวังไว้

แม้แต่สำนักงานประกันสังคมเองก็กำลังจะมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของเงินกองทุน ที่อาจจะขาดทุนหรือล้มละลายได้ในอนาคตเนื่องจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน ทางสปส เองก็พยายามปรับพอร์ตการลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น ดูรายละเอียดได้จาก www.hfocus.org/content/2013/07/3862 เรื่องนี้มีบทเรียนมาจากสหรัฐอเมริกาแล้วเช่นกัน เมื่อมีปัญหา Aging society สุดท้ายประกันสังคมก็อยู่ไม่ได้ต้องชะลอการเกษียณอายุออกไปเรื่อย เช่นเดิมเกษียณกันที่ 60 ปี ปัจจุบันก็เป็นเกษียณที่ 67 ปี เพื่อให้มีการส่งเงินสมทบยาวนานขึ้น มีรายได้มากขึ้นและมีระยะเวลาที่ต้องใช้จ่ายเงินรักษาพยาบาลหลังเกษียณลดลง ทางเลือกอีกทางคือต้องจ่ายสมทบในสัดส่วนที่สูงขึ้น

สำหรับสิทธิ์การรักษาพยาบาลของข้าราชการนั้นก็กำลังมีปัญหาภาระการเบิกจ่ายที่สูงมากจนอาจจะเป็นภาระทางการคลังของประเทศในอนาคตอันใกล้ เช่นเมื่อปีที่ผ่านมาใช้เงินไปประมาณแปดหมื่นล้านบาท!

จากสถานการณ์ทั้งหมดในเวลานี้ เราคงพอมองเห็นได้ว่าอนาคตคนไทย คงไม่พ้น แก่ จน เจ็บ และปัญหานี้ควรเป็นวาระแห่งชาติที่ควรเร่งพิจารณาแก้ไขและวางแผนกันให้ดีแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะสายเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น