ปัจจุบัน ถ้าเดินเข้าไปในร้านหนังสือ จะพบว่า หนังสือเกี่ยวกับการออมเงิน การลงทุนทั้งหุ้น อสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวม ยังเป็นประเภทที่ยอดนิยม ดูจากอันดับหนังสือขายดี ไม่ว่าจะเป็น SE-ED B2S นายอินทร์ และคิโนะคุนิยะ ทำให้มีหนังสือแนวนี้ออกมาวางจำหน่ายมากมาย นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนไทยเริ่มตื่นตัวค้นคว้าหาความรู้ทางด้านนี้ ในความคิดของผม กระทรวงศึกษาฯ น่าจะบรรจุหลักสูตรเรื่องการออมเงินเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมต้น เผื่อว่านักเรียนบางคนที่จบ ม.ต้น แล้วไม่ศึกษาต่อ หรืออาจจะไม่ต่อมัธยมปลาย แต่ไปเรียนสาย อาชีวะ ปวช. ปวส. เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นอนาคตของชาติ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการออมอย่างถูกต้อง
ผมเคยลองถามคนรู้จักเกี่ยวกับเรื่องการออมเงิน โดยผมเริ่มจากถามว่า เมื่อเขามีรายได้เข้ามา แล้วจัดการกับเงินออมก้อนนี้อย่างไร ประมาณ 50% จะตอบว่า จะใช้ก่อนแล้วที่เหลือก็จะเก็บออม ซึ่งแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว MINDSET ในการออมเงินที่ถูกต้องของการออมเงินก็คือ ควรจะกันเป็นเงินออมไว้ก่อน แล้วค่อยนำเงินที่เหลือไปใช้ มิฉะนั้น ด้วยสิ่งล่อใจ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา ความยั่วยวนของผลิตภัณฑ์ หรือบริการ คำชักชวน หรือแนะนำจากเพื่อนๆ ตัวดี ซึ่งจะทำให้เงินในกระเป๋าของท่านไม่เหลือ บางท่านยิ่งแล้วใหญ่ ไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ว่าจะเป็น หนี้ในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่ออเนกประสงค์ หรือสินเชื่อส่วนบุคคล อัตราจะมหาโหด คือ ประมาน 20% บวกลบ ยิ่งรัฐบาลส่งเสริมเศรษฐกิจ NANO FINANCE เพื่อปล่อยกู้ให้แก่บุคคลทั่วไปเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยประเภทนี้ยิ่งแพงขึ้นไปอีก คือ ประมาน 28-36% แต่ก็ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยถึง 4-5% ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหล่านี้สูงมากขนาด Warren Buffet นักลงทุนที่มีชื่อเสียงระดับโลก ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้เพียง 20% กว่าๆ เท่านั้น แล้วทำไมจะมากู้เงินเพื่อไปใช้จ่ายที่อัตราดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริงๆ เซลล์ท่านหนึ่งที่ผมติดต่อด้วย ทำบัตรเครดิตแล้วเบิกเงินสดล่วงหน้ามา เพื่อจะพาครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่น เพราะว่าทนรบเร้าจากลูกๆ ไม่ได้ ผมฟังเขาเล่าแล้วอดหดหู่ใจไม่ได้ แทนที่เขาจะสอนลูกให้รู้จักประหยัด กลับตามใจลูกในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขณะนี้ก็มากลุ้มใจต่อหนี้บัตรเครดิต อยากจะปลดหนี้เร็วๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร จนต้องมาปรับทุกข์กับผม ผมจึงแนะนำไปว่า เขาควรจะทำตารางค่าใช้จ่ายทุกๆ วัน ทุกๆ รายการ พอสิ้นเดือนนอกจากจะคำนวณรวมค่าใช้จ่ายแล้ว ควรจะตรวจดูรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น ก็ควรเอาปากกาหมึกแดงมา Mark ไว้ แล้วเตือนตัวเองในการใช้จ่ายครั้งต่อๆ ไป อย่างเช่น การซื้อกาแฟดื่มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปัจจุบันกาแฟถ้วยหนึ่งราคาตั้งร้อยกว่าบาทเลยทีเดียว ปีหนึ่งดื่มร้อยกว่าถ้วย ตกแล้วปีหนึ่งถึงเกือบ 15,000 บาท นี่ยังไม่นับ Cookie หรือ Cake ที่ทานไปพร้อมกับการละเลียดกาแฟ ถ้ารวมเข้าไปแล้วปีหนึ่งๆ แค่ค่าใช้จ่ายไร้สาระนี้ก็เกือบ 30,000 บาท เข้าไปแล้ว ผมเองตั้งแต่มีร้านกาแฟสาขาชื่อดังจากเมืองนอกเข้ามา ผมไม่เคยซื้อดื่มเองแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยความรู้สึกว่ากาแฟถ้วยหนึ่งราคาเท่ากับข้างแกง 4 จานเลยทีเดียว ผมไปเที่ยวสหรัฐฯ เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว จำได้ว่า เดินเข้าไปในร้านกาแฟยี่ห้อนี้ ผมลองเทียบกับราคากาแฟร้านนี้ในประเทศไทย ปรากฏว่า ราคาที่เมืองไทยยังแพงกว่าที่สหรัฐฯ เสียอีก (ถ้าปัจจุบันราคากาแฟนี้ที่สหรัฐฯ ยังไม่ได้ขึ้นราคาไปมากกว่าเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วมากนัก) นอกจากกาแฟร้านดังกล่าวแล้ว ร้านอื่นๆ ก็ไม่ได้เงินจากผมเช่นเดียวกัน
เนื่องจากผมเป็นคนที่ไม่ติดกาแฟ มีก็ดื่ม ไม่มีก็ไม่ดื่ม และราคากาแฟก็ถีบตัวขึ้นสูงมาก เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ แม้กระทั่งกาแฟรถเข็น เห็นเดี๋ยวนี้ขายถ้วยละ 35-45 บาทกันแล้ว ค้ากำไรเกินควร ว่างๆ อยากให้ท่านสรรพากรไปเช็กดูรายได้เหล่าบรรดารถเข็นเหล่านี้ บางรายขายได้วันละมากกว่า 200 ถ้วย ยอดขายปีๆ หนึ่งมากกว่า 2 ล้านบาท แต่พ่อค้าแม่ค้ารถเข็นเหล่านี้เป็นอภิสิทธิ์ชน คือ มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ไม่เคยเสียภาษีเลย ขณะที่พนักงาน Office หลายรายมีรายได้ต่ำกว่านี้ ถูกสรรพากรถอนขนท่านจบแทบไม่มีเหลือ จริงๆ แล้ว ถ้าสรรพากรตามเก็บภาษีกับพวกพ่อค้าแม่ค้าทั้งรถเข็น และแผงลอย จับมาเข้าระบบภาษีให้หมด ปีๆ หนึ่ง น่าจะเก็บภาษีได้ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้ไม่เสียภาษีแล้ว ยังครอบครองพื้นที่ 1/3-1/2 ของพื้นที่บาทวิถี ราวกับเป็นเจ้าของทางเดินเท้าเอง ยิ่งกลุ่มผู้ค้าบริเวณสยามสแควร์ พวนนี้เดือนๆ หนึ่งมียอดขายไม่ใช่น้อยเลย ไม่ต้องเสียภาษี ค่าที่ก็ไม่ได้จ่ายให้จุฬาฯ ขับไล่ก็ไม่ไป เบียดบังทางเดินจนคนเดินเท้าต้องลงไปเดินบนถนน หรือเดินเบียดเสียดยัดเยียดกัน นี่แหละ Thailand only
Kitichai Taechangamlert
ติดตามสาระดีๆและแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai
Twitter : http://twitter.com/value_talk