xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อ “หยุ่น” ดิ้นสุดฤทธิ์ ดึง “เจ้าสัวคีรี” ยื้อหุ้นเนชั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกว่า ใช้ทุกวิธีทางและทุกรูปแบบเลยทีเดียวสำหรับความพยายามในการยื้ออำนาจการบริหารใน บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) ของกลุ่มผู้บริหารเดิมที่นำทีมโดยผู้ก่อตั้ง “สุทธิชัย หยุ่น”และพันธมิตรอย่าง “เสริมสิน สมะลาภา” กับกลุ่ม “บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน)” หรือ “SLC” ผู้ถือหุ้นใหญ่ สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมบริหาร NMG ตามสิทธิในการถือหุ้น

สงครามยกแรกเริ่มต้นด้วยการโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยการกล่าวหาว่าเป็น “กลุ่มทุนสีเทา” จนเกิดการฟ้องร้องเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง SLC ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะต้องไม่ลืมว่า NMG เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น การเข้าซื้อหรือขายหุ้นจึงถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้น และเมื่อเข้ามาเป็นหุ้นใหญ่ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ SLC จะต้องการสิทธิและอำนาจในการบริหาร NMG

ตามต่อด้วยสงครามยกสองคือการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท) โดยกล่าวหาว่า SLC ซึ่งถือหุ้นสปริงนิวส์เข้าข่ายผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในหมวดหมู่เดียวกันเกินสัดส่วนร้อยละ 10 ตามที่ประกาศกำหนดไว้ก่อนการประมูล หลังเข้าซื้อหุ้นของ NMG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด (NNV) ที่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในบริษัท ช่องข่าวเนชั่น แต่สุดท้าย กสท. มีมติว่าไม่ครอบงำ กระทั่งนำไปสู่การฟ้องร้องกลับเพื่อเรียกค่าเสียหายจากกลุ่มผู้บริหารเนชั่นฯ 2.34 พันล้านบาท

เมื่อยุทธศาสตร์และยุทธวิธีไม่ประสบความสำเร็จ โดยทำท่าว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมคือ “สุทธิชัย หยุ่น” และ “เสริมสิน สะมะลาภา” จะต้องกระเด้งกระดอนไปจากการบริหาร NMG สงครามยื้อยกที่สามก็เกิดขึ้น นั่นคือการแสวงหาพันธมิตรร่วมรบเพื่อขอให้เข้ามาช่วยซื้อหุ้นกลับคืนจาก SLC

และชื่อที่ปรากฏออกมาก็คือ “นายคีรี กาญจนพาสน์” ประธานบริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสัดส่วนในการถือหุ้นจากหลายๆ ข้อมูลที่ถูกนำเสนอออกมา จะพบว่า ในฟากกลุ่มเนชั่นฯ มีการถือหุ้นใหญ่โดย “สุทธิชัย หยุ่น” ในสัดส่วน 9.20% และ “เสริมสิน สมะลาภา” ในสัดส่วน 9.08% รวมประมาณ 18.28%ขณะที่กลุ่ม SLC ณ ปัจจุบันมีการถือหุ้นรวม 25.94% แบ่งเป็นการถือในนาม บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) (SLC) จำนวน 12.27% และวอร์แรนต์อีก 6% บวกกับการถือในนาม “ศิร์วสิษฐ์ สายน้ำผึ้ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SLC อีก 6.1% รวมไปถึงการถือในนามพันธมิตรอย่าง บมจ.โพราลิส แคปิตอล POLAR หรือ “วธน แคปิตอล (WAT)” อีก 7.57%

ดังนั้น นอกจากการพุ่งเป้าโจมตีเรื่องการการถือหุ้นมากกว่า 25% โดยเลี่ยงที่จะทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ หรือการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นในส่วนที่เหลือแล้ว ยังมีความพยายามเข้าเก็บหุ้นของตนเองเพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ปัจจุบันอย่าง “สุทธิชัย หยุ่น” และ “เสริมสิน” รวมถึงแสวงหาพันธมิตรร่วมรบเพื่อรักษาอำนาจการบริหารของตนเองผ่านการซื้อหุ้น NMG คืนจากกลุ่ม “โซลูชั่น คอนเนอร์”อีกด้วย

บุคคลร่วมรบที่ปรากฏรายนามเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้ที่เคยร่วมแรงร่วมใจเคียงบ่าเคียงไหล่กับ “เสริมสิน” มาตั้งแต่ครั้ง “บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (N-PARK)”

นั่นคือ “ทศพงศ์ จารุทวี” อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ศรีมิตร

ส่วนผู้ที่ถูกทาบทามให้ยื่นมือมาช่วย เนชั่นฯ ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็น เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ และระบบรางในกรุงเทพมหานคร “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานบริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า “ทศพงศ์” เดินหน้าเจรจากับ “ฉาย บุนนาค” แล้ว เพื่อขอซื้อหุ้น NMG ที่ถืออยู่คืนในราคาที่สูงกว่าในนามของ “เจ้าสัวคีรี” แล้ว แต่ทาง “ฉาย” ยังปฏิเสธขายหุ้นดังกล่าว ทั้งที่ราคาเสนอซื้อจากเจ้าสัวคีรีนั้นสูงกว่าตอนที่ทยอยเข้าเก็บบนกระดานมาก

สำหรับเหตุผลดึง “คีรี” เข้ามาร่วมวงเตะตัดขาผู้ถือหุ้นใหม่ เพราะเถ้าแก่รถไฟฟ้ามีความสนใจที่จะเดินธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนเป็นทุนเดิม เพื่อเพิ่มเติมจากที่ปัจจุบันที่มี บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) (VGI) ซึ่งรับสัมปทานการบริหารสื่อบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และสื่อวิทยุตามห้างสรรพสินค้า แต่ก็เป็นเพียงสื่อเฉพาะทาง ผิดกับกลุ่มเนชั่นฯ ที่เป็นสื่อสารมวลชน และมีผู้ติดตามข่าวสารมากกว่า

ที่สำคัญคือด้วยแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาลโดยเฉพาะระบบรางของภาครัฐ มีผลต่อการเติบโต และโอกาสในการเข้าลงทุนของ BTS ในเรื่องระบบราง และพื้นที่โดยรอบโครงการ หากได้สื่อมาไว้ในมือย่อมช่วยเพิ่มความได้เปรียบขึ้นมาอีกระดับ...

นอกจากนี้ ยังมีข่าวออกมาด้วยว่ากลุ่มผู้บริหารในชุดปัจจุบันได้ยื่นข้อเสนอเก้าอี้ประธานคณะกรรมกรรมการบริษัทให้ “คีรี” พิจารณา เพื่อแลกต่ออำนาจในการขอบริหารงานสื่อของเครือเนชั่นฯ ทั้งหมดยังเป็นของกลุ่ม “สุทธิชัย หยุ่น” ดังเดิม

เรียกว่ายอมเปิดทางให้ “คีรี” เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด เพียงหวังแค่ตัวเอง และพวกจะได้บริหารงานเนชั่นฯ ต่อไป โดยอ้างว่าการที่ให้ “คีรี” นั่งตำแหน่งประธานบอร์ดนั้น เครือเนชั่นฯ จะได้เป็นอิสระ และยังสามารถทำงานสื่อสารมวลชนที่มีจริยธรรม และจิตวิญญาณของคนสื่อเหมือนเดิม?

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าเกมนี้อาจจะยืดเยื้อ และไม่อาจหาบทสรุปได้โดยเร็ววัน

ย้อนกลับมารู้จักผู้เล่นใหม่ในเกมชิงอำนาจบริหาร NMG ทั้ง 3 ราย หากไม่นับ “คีรี กาญจนพาสน์” ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ต้องมาเริ่มที่ “สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ” อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ศรีมิตร ซึ่งเป็น 1 ใน 56 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ปัจจุบัน เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ในบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน7.65%

ที่ผ่านมา “สุเทพ” เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับดีล NMG มาตั้งแต่ครั้ง “เสริมสิน” สนใจเข้ามาถือหุ้นเนชั่นฯ ในการรับหน้าที่มาเป็นผู้ดีลซื้อหุ้น NMG ทั้งหมดที่ถือโดย “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานกรรมการกลุ่ม ไทยซัมมิท และเป็นพี่สะใภ้ของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัย “ทักษิณ ชินวัตร” ทำให้เชื่อว่า ในยามที่ NMG กำลังถูกชิงเก้าอี้บริหาร การกลับไปหาผู้ดีลเก่าเพื่อช่วยหาพันธมิตรใหม่ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้น

ขณะที่ “ทศพงศ์ จารุทวี” หรือ “พี่เบ้ง” ของ “เสริมสิน” นั้นทั้ง 2 คนรู้จักกันมาตั้งแต่ครั้งร่วมกันบริหาร บมจ.แนเชอรัล พาร์ค แต่ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครั้งที่ 640-16/2558 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 และการประชุมครั้งที่ 643-15/2558 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรรมการ และพนักงานบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) กับพวกรวม 15 คน ซึ่ง 1 ในนั้นคือ “ทศพงศ์ จารุทวี” ในข้อกล่าวหามีส่วนร่วมกับหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบจากข้อกล่าวหากระทำฐานทุจริตต่อหน้าที่ในการประนอมหนี้ การจำหน่าย และกิจการร่วมทำเพื่อพัฒนาและจำหน่ายทรัพย์สินในทรัพย์สินของกลุ่มลูกหนี้ N-PARK โดยมิชอบ ในการร่วมดำเนินการประนอมหนี้ และทำสัญญาจะซื้อจะขายสนามกอล์ฟทั้ง 3 แห่ง รวมถึงที่ดินย่านรามอินทรา

ทั้งนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ บบส.ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับกลุ่ม N-PARK ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เอื้อประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของ บบส. และของรัฐเสียหาย ซึ่งป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว 8 ราย

เมื่อพอรู้ข้อมูลตัวละครใหม่ที่เพิ่มเติมเข้าในเกมชิงหุ้น NMG แล้ว น่าจะพอช่วยต่อจิ๊กซอว์สำคัญในเกมนี้ให้เข้มข้นมากขึ้นได้ว่า เหตุการณ์ต่อจากนี้จะออกมาในทิศทางไหน

ส่วนอนาคต NMG จะเป็นเหมือน N-PARK หรือไม่ กาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ หรือถ้าเกมพลิก SLC ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมบริหาร ก็ถือเป็นการลงทุนที่ฉลาดคุ้มค่า จากเงินลงทุนแค่ 1,042 ล้านบาท แลกกับการได้มาในช่องดิจิตอลทีวีเพิ่มขึ้นอีก 2 ช่อง แถมสื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุมาช่วยเพิ่มศักยภาพสื่อในเครือ

....ทุกอย่างตอนนี้รอเพียงบทสรุปเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น