ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายนนี้ จะมีผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศมหาอำนาจ มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เป็นการเยือนของ “นายดมิทรี เมดเวเดฟ” นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย แม้จะไม่ใช่ระดับ เบอร์ 1 อย่างประธานาธิบดี“นายวลาดิเมียร์ ปูติน”ก็ตาม
แต่จะเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีรัสเซียในรอบ 25 ปี หลังจากนายกรัฐมนตรีนิโคไล ริซคอฟเคยเยือนไทยครั้งล่าสุด เมื่อปี 2533 ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย สถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2440 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนอาณาจักรรัสเซีย และความสัมพันธ์ยืนยาวมานับตั้งแต่นั้น
“นายเสข วรรณเมธี” อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ตามคำเชิญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน นับเป็นการเยือนประเทศไทยในระดับนายกรัฐมนตรีของสหพันธรัฐรัสเซียครั้งแรก ในรอบ 25 ปี
ตามกำหนดการ ในวันที่ 8 เมษายน นายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจะหารือทวิภาคี ซึ่งจะมีประเด็นครอบคลุมการขยายความร่วมมือในทุกมิติทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ พลังงาน การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา และวัฒนธรรม รวมทั้งประเด็นระหว่างประเทศที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่าย จะให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพูนเศรษฐสัมพันธ์ ได้แก่ การเพิ่มพูนมูลค่าการค้า การขยายตลาดสินค้าเกษตร อาหาร ประมง และอุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจระหว่างรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนและการลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน
ภายหลังการหารือดังกล่าว นายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายจะเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงทวิภาคี อาทิ ความร่วมมือด้านพลังงาน การส่งเสริมและแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียและคณะด้วย
ในระหว่างการเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย ภาคเอกชนไทยและรัสเซีย มีกำหนดจะร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซียโดยรวม ทั้งนี้หมดนี้ เป็นคำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
ทีนี้มาดูว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการลงนามอะไรกันบ้าง ที่น่าสนใจเห็นจะเป็น “การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง กระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยและ กระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน”
ร่วมมืออะไรกันบ้าง ทราบว่า เป็นความร่วมมือระหว่างคู่ภาคี ที่จะมีการดำเนินการโดยสอดคล้องกับกฎหมายของรัฐคู่ภาคี และจะครอบคลุมขอบเขตต่าง ๆ ได้แก่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก
คู่ภาคีจะดำเนินความร่วมมือในด้านการสำรวจไฮโดรคาร์บอน การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับพลังงาน การก่อสร้างและการใช้โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งการเก็บ และการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ การผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ และจากความร้อนใต้พิภพ การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน ความร่วมมือด้านอื่น ๆ ตามที่คู่ภาคีจะตกลงกัน
การประสานความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ คู่ภาคีจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของคู่ภาคี และของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานจะกำหนดโครงการต่าง ๆ สำหรับการดำเนินงานร่วมกัน จัดทำโครงการความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระยะยาวที่ครอบคลุม ตามทิศทางของกิจกรรม และกำหนดมาตรการสำหรับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จำเป็นเพื่อให้โครงการสามารถประสบความสำเร็จได้ วาระ เวลา และสถานที่ สำหรับการประชุมคณะทำงานจะจัดขึ้นตามที่คู่ภาคีจะตกลงกัน การประชุมของคณะทำงานจะจัดขึ้นที่สหพันธรัฐรัสเซียและประเทศไทยสลับกัน โดยคาดว่าจะจัดการประชุมปีละครั้ง
โดยบันทึกความเข้าใจนี้จะมีผลนับแต่วันลงนามและมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลาเดียวกัน เว้นแต่ว่าภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งให้ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงความตั้งใจที่จะไม่ขอต่ออายุบันทึกความเข้าใจนี้ ซึ่งการสิ้นสุดการใช้บันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลต่อกิจกรรมและโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือที่กำลังดำเนินการอยู่ตามบันทึกความเข้าใจนี้ จนกว่ากิจกรรมและโครงการนั้น ๆ จะเสร็จสิ้น หรือแล้วแต่ที่คู่ภาคีจะตกลงกันเป็นอย่างอื่น
ตามบันทึกของ “กระทรวงพลังงาน” เห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการวางกรอบความร่วมมือด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยวางกรอบกว้าง ๆ ในการดำเนินงาน และไม่มีข้อผูกมัด รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมาย และจะไม่มีผลเป็นการผูกพันโดยเจาะจงแก่ประเทศไทยในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือการค้าการลงทุนอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด
ขณะที่ "นายคิริล บาร์สกี" เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จะมีการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการลงทุน พลังงาน การปราบปรามยาเสพติด วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
ตามข้อมูลของ “กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์” รายงานว่า ปัจจุบัน ไทยได้ส่งออกข้าว รถยนต์และอะไหล่รถยนต์ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ ส่วนประกอบโทรทัศน์ ผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปไปยังรัสเซีย ขณะเดียวกัน ไทยได้นำเข้าสินแร่ เหล็ก และน้ำมันดิบจากรัสเซีย
การค้าระหว่างรัสเซียกับไทยในช่วงปี 2552-2556 คิดเป็นมูลค่าราว 4.3 ล้านล้านบาท และในปี 2557 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่าสูงถึง 4.9 ล้านล้านบาท
เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา “นายเดนิส วี แมนทูรอฟ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากนากฯได้พบหารือกับ นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่กรุงเนปิดอว์ และได้เรียนเชิญนายกรัฐมนตรีรัสเซียมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปีนี้
วันนั้น มีการพูดคุยเรื่องการค้า ที่รัสเซียเริ่มนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งจากไทยเป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2557 และหวังรัสเซียจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร ยางพารา และอาหารจากไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พูดถึงรัสเซีย ถือเป็นประเทศสุดท้ายที่อดีตนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ”เกือบจะได้ไปเยือน “เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง จึงตัดสินใจไม่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้( 8-9 ธ.ค.56)”โฆษกรัฐบาลช่วงนั้นระบุไว้ แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีโอกาสได้หารือทวิภาคีกับนายวลาดิเมีย ปูติ ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย (8 ก.ย.2555) ที่นครวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย ระหว่างการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปค) ครั้งที่ 20
ขณะที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ มีโอกาสได้ไปเยือนรัสเซีย เมื่อวันที่ 27-29 มี.ค.56 เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (เจซี) ไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 การไปในครั้งนั้น ก็มีการเรียกร้องให้รัสเซีย เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากไทยเช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีการร่วมลงนามในแผนการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับรัสเซีย สำหรับปี 2556- 2558 เพื่อเป็นกลไกในการพูดคุยและหารือเรื่องต่างๆ อย่างใกล้ชิด
ในด้านความร่วมมือด้านพลังงาน อดีตรมว.ต่างประทศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บอกว่า ได้พูดคุยถึงเรื่องพลังงานโดยสนใจในเรื่อง “ก๊าซธรรมชาติ”มากกว่า โดยระบุว่า รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการหาแหล่งพลังงานสำรอง และถ้าเป็นไปได้ ก็อาจมีการแลกแก๊สธรรมชาติ (รัสเซีย) กับสินค้าเกษตรของไทยในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล(จีทูจี)
ค้นหา ข้อมูลเก่า ๆ พบว่า มีการหารือระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับประธานาธิบดีปูติน เมื่อ 17 มิถุนายน 2549 ที่นครอัลมาตี
ประธานาธิบดีปูติน ได้ย้ำข้อเสนอของรัสเซีย ที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ด้านพลังงานสำหรับสินค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในภูมิภาค โดยประธานาธิบดีปูติน ได้เชิญชวนให้ไทยไปร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานและก๊าซในรัสเซียและส่งมายังไทย และได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท Gazprom และธนาคาร Vneshekonombank ของรัสเซีย (Agreement on Strategic Cooperation between PTT, OAO “Gazprom” and Vneshekonombank) ในระหว่างการประชุมเอเปค เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ณ นครปูซาน
ต่อมา เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2549 อดีตนายกรัฐมนตรีได้หารือกับประธานาธิบดีปูตินเรื่องพลังงาน โดยเห็นพ้องร่วมกันที่จะสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานต่อไป ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เป็นเจ้าภาพเจ้าการประชุม Joint Coordinating Committee ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท Gazprom เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549
เป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ที่ตัวแทนรัฐบาลสมัยก่อน หารือกับตัวแทนรัฐบาลรัสเซีย