xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ม.44 อำนาจล้นฟ้า กับวาทกรรม “ผมนี่แหละdemocracy”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -งัดไม้ตายออกมาใช้พร้อมกับประกาศก้องต่อชาวโลกว่า “...ผมนี่แหละdemocracy...” นาทีนี้จะมีใครกล้าขวาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) ผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หลังมีพระบรมราชโองการยกเลิก “กฎอัยการศึก” ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา

แน่นอน มาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช.ล้นฟ้า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ดังขรมทั้งเมืองว่าเผด็จการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ต่างจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่เนติบริกร คสช. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยกร่างและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราวนี้แล้ว

แต่ที่ผ่านมา หัวหน้า คสช.ก็ไม่ได้นำใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าว จวบจนกฎอัยการศึกที่ คสช.ใช้คุมสถานการณ์หลังยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 แพร่กระจายพิษ ต่างชาติกดดันส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในสภาพเป็ดง่อย เพราะความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน นักท่องเที่ยวขณะที่การควบคุมความไม่สงบยังไม่เป็นที่วางใจ ส่วนการยกเครื่องปฏิรูปประเทศที่จะทำให้วิกฤตการณ์ของประเทศโดยรวมดีขึ้นก็ลางเลือน สุดท้ายคำตอบในวันนี้จึงอยู่ที่มาตรา 44 ที่ให้อำนาจพล.อ.ประยุทธ์ สามารถสั่งการจัดการปัญหาทุกสิ่งอย่างอย่างเบ็ดเสร็จ

อำนาจตามมาตรา 44 เป็นการรวมศูนย์อำนาจที่เปรียบเสมือนดาบสองคม มีอานุภาพทั้งสามารถสร้างสรรค์และทำลาย ดังนั้น แม้จะยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก เพื่อกู้ภาพลักษณ์จากสายตาต่างชาติ แต่การประกาศใช้มาตรา 44 นั้น ก็หนักยิ่งกว่ากฎอัยการศึกเสียอีก หากจะเรียกมาตรา 44 ว่าเป็นกฎอัยการศึก พลัส พลัส หรือ บวก บวก ก็คงไม่ผิด และเชื่อว่าคงไม่สามารถตบตาต่างชาติได้

หากพล.อ.ประยุทธ์ เลิกกฎอัยการศึกเพราะแคร์ต่างชาติ แล้วหันมาใช้มาตรา 44 ก็คงบอกได้เลยว่าไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ดังรายงานของสื่อตะวันตกอย่างบีบีซีและรอยเตอร์ ที่รายงานว่ามาตรา 44 ให้อำนาจกับกองทัพมากกว่ากฎอัยการศึกด้วยซ้ำ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 คราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เอ่ยอ้างเหตุผลความจำเป็นด้านความมั่นคงและการเมือง จึงต้องหยิบยกเอามาตรา 44 มาประกาศใช้

“ต้องช่วยกันอธิบายให้เขาเข้าใจ อย่ามาพูดคำว่า Freedom อย่างเดียวหรือDemocracy ผมนี่แหละ Democracy ไม่เช่นนั้นวันนี้พวกท่านจะมานั่งอย่างนี้ไม่ได้ ก็เห็นชัดเจนมีการไล่ยิงกันอยู่ที่ศาลอาญา จะไปอุปโลกน์ใครและจับกุมได้ ไม่เคยฟังข้อเท็จจริง กล่าวหาว่าเป็นการสร้างสถานการณ์จะสร้างถึงขนาดไปยิงขากันเลยหรือ โธ่ มันจะบ้าหรือเปล่า ขอให้เข้าใจกันบ้าง เจ้าหน้าที่เหน็ดเหนื่อยแล้ว วันนี้จะมานั่งกังวลเรื่องกฎหมายอีก ถ้าไม่ทำความผิดจะมากังวลอะไร รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใดแสดงว่าเป็นเผด็จการ ยืนยันว่าจะใช้อย่างสร้างสรรค์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนใช้กับปัญหาความมั่นคง ถ้ามีการเอาปืนมายิงกันอีก เกิดความวุ่นวาย ผมก็ต้องจับมัน จับมาทันที เราจะใช้กฎหมายแบบนี้ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปรอหมายศาล ต้องช่วยกันอธิบาย เดี๋ยวต่างชาติจะไม่เข้าใจหาว่าผมบ้าอำนาจ”พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558 หลังทูลเกล้าฯยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก

ภายใต้ประกาศ คสช. โดยอาศัยรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว มาตรา 44 ที่ออกมาตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ นั้น เป็นคำสั่งที่ครอบจักรวาลตั้งแต่การจับกุมคุมขังไปจนถึงการปิดปากสื่อเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า มาตรา 44 เป็นมาตราที่กว้าง พอถึงเวลาต้องลงไปสั่งอีกทีว่าจะสั่งว่าอะไร สมัยก่อนมีการสั่งยิงเป้า แต่สมัยนี้สั่งในทางสร้างสรรค์ ซึ่งตรงนี้เป็นอันเดียวที่ใช้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อคนไม่ค่อยวางใจกฎอัยการศึก นำมาสู่การคิดทบทวนแล้ว อย่าระแวงว่าจะกำหนดมาตรการใหม่แย่ไปกว่ากฎอัยการศึก เป็นไปไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเลิกทำไม มีมาตรการรองรับที่เบากว่าอยู่ในระดับเดียวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และไม่รุนแรงไปกว่า 2 ฉบับนี้ ส่วนการให้อำนาจเจ้าหน้าที่จะเป็นระดับเดียวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไม่มากกว่านั้น

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมไม่ใช้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เลยก็เพราะมีบางเรื่องที่กฎหมาย 2 ฉบับนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ครอบคลุม ไม่มีมาตรการเยียวยา และบรรเทาความเสียหายที่เกิดมาแล้ว ซึ่งต้องพึ่งอำนาจพิเศษมาตรา 44

ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ จะอธิบาย จะยืนยันใช้เท่าที่จำเป็นและจะใช้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่คนบ้าอำนาจ แต่ความที่เนื้อหาของมาตรา 44 ซึ่งรวบ 3 อำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ไว้ในมือคนๆ เดียว คือ หัวหน้าคสช. ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่สื่อต่างชาติจะวิพากษ์วิจารณ์

ทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศนำใช้มาตรา 44 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร ก็ออกมาคัดค้านการบังคับใช้มาตรา 44 และเรียกร้องให้ ทบทวนการบังคับใช้มาตราดังกล่าวเนื่องจากขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำมาซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และส่งผลประชาชนขาดหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงยิ่งไปกว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก และไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ตามที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกได้

หากไม่นับปัญหาเรื่องความมั่นคงและการเมือง ซึ่ง คสช.อ้างว่ายังจำเป็นต้องใช้ยาแรงเพื่อควบคุมสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยทั้งบนดินและการเคลื่อนไหวใต้ดิน ปัญหาที่หนักหน่วงกว่าในเวลานี้ ซึ่งรอให้หัวหน้า คสช. ลงมือจัดการอย่างเร่งด่วน ก็คือเรื่องเศรษฐกิจที่ซึมยาวไม่มีทีท่าว่าจะโงหัวขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการทำรัฐประหาร

ด้วยเหตุฉะนี้ จึงเห็นผลงานแรกสุดในการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยงานแรกนายกรัฐมนตรี จะนำมาตรา 44 มาใช้แก้ปัญหาที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ระบุว่าไทยมีปัญหาด้านมาตรฐานการบินเพื่อให้การแก้ไขปัญหาทำได้เร็วขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วนฉุกเฉินเพื่อต่อรองกับประเทศต่างๆ ที่ส่งสัญญาณงดรับเที่ยวบินจากไทย

นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังเตรียมอำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ปัญหาการบุกรุกป่าสงวน ที่กำลังจับปลาใหญ่ “โบนันซ่า” ฯลฯ และยังจะมีอีกหลายปัญหาที่รอการสะสาง

วันนี้ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ เสี่ยงเลือกใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการจำแลง ก็ต้องพิสูจน์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งการนำใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ และใช้อำนาจแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ประชาชน ปฏิรูปประเทศให้สำเร็จลุล่วงอย่างเป็นรูปธรรม

หากทำได้เช่นนั้น ความเสี่ยงนี้ย่อมคุ้มค่า แต่หากว่ายังเงื้อง่าราคาแพงและทำให้การรัฐประหารคราวนี้เสียของเปล่าๆ มีแต่พาประเทศชาติถอยหลังลงคลอง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เตรียมขุดหลุมฝังศพตัวเองไว้รอได้เลย

ล้อมกรอบ//

สาระสำคัญของคำสั่ง “บิ๊กตู่” ตามมาตรา 44

4 ฐานความผิด

1. ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

2. ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 ถึงมาตรา 118แห่งประมวลกฎหมายอาญา

3. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด สําหรับใช้เฉพาะ แต่ในการสงคราม

4. ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ หรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

6 อำนาจในคดีกฎหมายอาวุธปืนฯ

1.ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด

2.จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดําเนินการต่อไป

3.ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิด ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

4.ข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิด หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สิน ซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดหรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอา หมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้ เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

5. ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบ

6. กระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

8 อำนาจพิเศษและบทลงโทษ

1. ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบ เรียบร้อยของประชาชน ในการออกคําสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะกําหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคําสั่งด้วยก็ได้

2.ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดตามตามกฎหมายอาวุธปืน ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล หรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการฯ และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ จะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่น ที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็น ผู้ต้องหามิได้

3. ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

4.มีอำนาจในการห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร การสั่งระงับ ธุรกรรมทางการเงิน

5.ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุม ที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ผู้กระทําความผิดที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกัน

6.การกระทําตามคําสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

7. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่า กรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่



กำลังโหลดความคิดเห็น