xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละรธน.ฉบับ"บวรศักดิ์" เห็นประเทศเป็นหนูทดลองยา!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ความเข้มข้นทางการเมืองดูเหมือนจะเพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับ“บวรศักดิ์”ออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ก็ยิ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงมากขึ้น เพียงแต่โฟกัสส่วนใหญ่ไปอยู่ในเรื่องของระบบการเมืองมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นที่มานายกฯ ส.ว. หรือระบบเลือกตั้งแบบโอเพน ลิสต์
แต่ความจริงแล้วสิ่งที่ผิดมาตั้งแต่แรกของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ “หลักคิด”ในการแก้ปัญหาประเทศ และความพยายามที่จะรื้อโครงสร้างการปกครองของประเทศใหม่ทั้งหมดบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “นักการเมืองเลวหมด”แต่ลืมคิดไปว่า“คุณภาพนักการเมืองสะท้อนคุณภาพ
ประชาชน”
จึงคิดแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ ด้วยการมัดมือมัดเท้านักการเมือง แทนที่จะให้ข้อมูล ความจริงกับประชาชนเพื่อสร้างความพร้อมให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การเลือกตั้งนักการเมืองที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
**มีการวางเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญไว้อย่างสวยหรู 4 ข้อ คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ , การเมืองใสสะอาดและสมดุล , หนุนสังคมสู่ความเป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข แต่ดูเหมือนว่าเนื้อหาที่ร่างออกมานั้น มีลักษณะหัวมงกุฏท้ายมังกร ผสมปนเปวุ่นวายไปหมด จนเกิดการย้อนแย้งในเนื้อหาค่อนข้างมาก
เช่น สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ถ้าดูภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการฟื้น“มาเฟียข้าราชการ”ให้กลับมาเป็นใหญ่มากกว่า เริ่มตั้งแต่ให้อำนาจการจัดการเลือกตั้งไปอยู่ที่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งตัวแทนในแต่ละหน่วยงาน 1 คน มาทำหน้าที่แทน กกต. ในการจัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ
โครงสร้างแบบนี้เท่ากับโยกอำนาจ กกต.ไปไว้ที่ข้าราชการที่จะปฏิบัติซ้ายหันขวาหันตามผู้บังคับบัญชาสั่ง ในขณะที่ผู้บังคับบัญชา ก็อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของฝ่ายบริหารคือฝ่ายการเมือง เท่ากับเปิดทางให้การเมืองเข้าแทรกแซงได้โดยง่าย
**จะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ แต่ไม่ยอมรับตัวแทนที่พลเมืองเลือก เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกโดยไม่มีเงื่อนไข จนทำให้เกิดความหวาดระแวงถึงการสืบทอดอำนาจ อันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต แม้ว่าขณะนี้คนอาจจะกำลังเห่อทหาร แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่เดือนนี้ สถานภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี กับคสช.ทั้งคณะ จะเข้าสู่ขาลงเรื่อยๆ
จะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ แต่ไม่เชื่อใจตัวแทนของพลเมือง กำหนดให้ ส.ว. มาจากการสรรหา บนข้ออ้างว่าจะได้คนดีเข้ามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ที่สำคัญคืออะไรเป็นเครื่องหมายความดี เพราะขนาดทั้ง สนช. และ สปช. ที่สร้างภาพให้คนคิดว่า“ดี”ยังอื้อฉาวทั้งเรื่องไม่ยอมรับการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ยึกยักในการแจงบัญชีทรัพย์สิน แถมยังตั้งเครือญาติมาช่วยงาน กินภาษีประชาชนกันยกครัว แม้ว่าจะมีมติให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว แต่ความจริงที่ปรากฏมันก็ประจานไปแล้วว่า “ดีจริงหรือไม่”เพราะถ้าสำนึกดี สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้นให้เป็นที่ครหา
ส่วนไอ้ที่ว่าจะทำให้การเมืองใสสะอาด และสมดุลนั้น เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนี้กลับทำลายสมดุลแห่งการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เช่น การที่สภาต้องสิ้นสภาพตามนายกรัฐมนตรี หากถูกลงมติไม่ไว้วางใจ กลายเป็นการสร้างการเมืองซูเอี๋ย ที่ฝ่ายค้านไม่กล้าซักฟอกนายกฯ เพราะเกรงว่าจะถูกยุบสภา ขณะเดียวกันก็กลายเป็นหลักประกันว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่มีวันถูกลงมติไม่ไว้วางใจ เพราะส.ส.ล้วนแต่กลัวการยุบสภา ที่ต้องเดินบากหน้ากลับไปหาประชาชนทั้งสิ้น
ส่วนที่บอกว่าจะหนุนสังคมสู่คุณธรรมนั้น จะเห็นได้ว่า มีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนแต่ใช้ชื่อสวยหรูดูดี แต่ข้างในกลวงโบ๋ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สภาตรวจสอบภาคพลเมือง หรือ สมัชชาพลเมือง เป็นต้น
ตามระบบเดิมเรามีกลไกในการดูแลควบคุมจริยธรรมของทั้งข้าราชการ และนักการเมืองอยู่แล้ว โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ที่มันไม่เวิร์กเพราะเราไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชนอย่างถ่องแท้ว่า หน้าที่ที่แท้จริงของผู้ตรวจการแผ่นดิน คือการสร้างพลังพลเมืองให้กดดันนักการเมืองที่ไร้จริยธรรม แต่กลับไปมองว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรที่เปล่าประโยชน์ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ใช่ จะเห็นได้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยชี้ว่า การที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรมช.เกษตรฯนั้น สะท้อนว่ามิได้คำนึงถึงหลักจริยธรรม แค่ความเห็นเช่นนี้ก็ตีแสกหน้าไปที่ ยิ่งลักษณ์ แล้วว่า“ขาดคุณธรรม” แทนที่สังคมจะช่วยกันกดดันให้ผู้บริหารต้องใช้คุณธรรมในการคัดเลือกคนมาบริหารประเทศ กลับยอมรับการเป็นรัฐมนตรีของ“ณัฐวุฒิ”ซะงั้น
กรรมาธิการยกร่างฯ พยายามที่จะเอาหลักจริยธรรมมาเขียนเป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ เพราะความจริงแล้ว ประมวลจริยธรรมก็มีอยู่ แต่ที่มันใช้ไม่ได้ผลเพราะ “สำนึกที่ดีบังคับด้วยตัวหนังสือ และสอนกันไม่ได้”ที่สำคัญคือ คนที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการจริยธรรม สามารถเอาผิดได้ กลายเป็นว่าคณะกรรมการจริยธรรมที่เป็นใครก็ไม่รู้ จะมาใช้อำนาจเสมือนกับเป็น“ฝ่ายตุลาการ”ในการตัดสินถูก-ผิด ซึ่งจะทำให้ระบบเพี้ยนไปหมด
ที่น่าห่วงสุด คือการซ่อนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไว้ให้คณะกรรมการปรองดอง มีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยสามฝ่าย ทั้ง บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ โดยเชื่อว่าจะเป็นการสร้างความปรองดอง“นำชาติสู่สันติสุข”แต่การมองปัญหาอย่างตื้นเขิน และแก้ปัญหาแบบมักง่าย โดยมีเป้าหมายที่การ “เซ็ตซีโร่”กลับไปเริ่มต้นกันใหม่ ที่แล้วให้แล้วกันไป กำหนดทั้งแนวทาง“นิรโทษกรรม”ซึ่งสาย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กำลังเดินอยู่ และ“อภัยโทษ” ให้คณะกรรมการปรองดองฯ กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ที่จะอภัยโทษให้ใครก็ได้ ที่ให้ความจริง หรือสำนึกผิดกับคณะกรรมการ
โครงสร้างการบริหารประเทศเช่นนี้ ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ แต่เป็นการตอบสนองความใคร่ทางวิชาการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังใช้ประเทศไทยเป็นหนูทดลองยามากกว่า ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาชาติไม่ได้แล้ว จะเกิดปัญหาใหม่ตามมาอีกมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจ ที่กระแสที่ สปช. จะคว่ำรัฐธรรมนูญ เริ่มมาแรงขึ้นเรื่อยๆ
**ส่วน คสช.ยังฟินอยู่ เพราะแม้รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่อำนาจก็ยังอยู่ในมือ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น