รัฐบาลเมินเสียงต้านใช้ ม. 44 แทนกฎอัยการศึก อ้างไทยเป็นสังคมชอบวิจารณ์ โยน"วิษณุ"ร่างระเบียบเพิ่มเติม ด้าน"แก๊งแดง"ผวาเจออำนาจเบ็ดเสร็จ จี้ คสช.เปิดร่างคำสั่ง ม.44 ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ก่อนประกาศใช้ ขณะที่ ปชป.ชี้อำนาจอยู่ที่คนเดียว ร้ายกว่าอัยการศึก "สุริยะใส" ชี้เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ต้นเหตุคือปัญหาปากท้อง เชื่อกลุ่มต้านยังคงค้านต่อไป "หมอนิรันดร์" แนะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ความมั่นคง แทน "นิด้าโพล" ชี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ระบุมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ไม่เดือดร้อน มีเพียงคนส่วนน้อยที่ยังรู้สึกอึดอัดกับกฎอัยการศึก
นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงแนวคิดของนายกรัฐมนตรี ในการใช้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว แทนกฎอัยการศึก ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการหารือกันตั้งแต่ต้นปี 2558 แต่ปรากฏว่า ในเวลาดังกล่าวเกิดเหตุระเบิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองขึ้น จึงต้องใช้กฎอัยการศึกไปก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเห็นว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น จึงเห็นควรนำ มาตรา 44 มาใช้แทนได้ เพราะคิดว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าหลายด้าน
ทั้งนี้ ต้องรอดูว่าเมื่อใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึก จะมีการร่างระเบียบ หรือออกเป็นประกาศของ คสช. อย่างไรในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพราะใน มาตรา 44 จำเป็นต้องมีระเบียบ หรือประกาศเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ครอบคลุมเหมือนกฎอัยการศึก ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะใช้ มาตรา 44 ให้มีประสิทธิภาพต้องมีความรัดกุม คิดว่าคสช. คงมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้ดูแล
นายปณิธาน กล่าวว่า มี 2 ปัจจัยหลัก ที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจยกเลิกกฎอัยการศึก คือ 1. แรงกดดันจากกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง 2. แรงกดดันจากต่างชาติ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ต่างชาติจะลดการกดดันไทยหรือไม่ เพราะหากยังมีการกดดันอยู่ ก็เท่ากับว่า ต่างชาติ เช่น สหรัฐฯ และองค์กรอื่นๆ ต้องการให้รัฐบาลคืนอำนาจแก่ประชาชนสถานเดียว
รัฐบาลไม่ห่วงเสียงวิพากษ์วิจารณ์
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิจารณ์แนวคิดที่จะนำใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาใช้แทนกฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่จำกัดเวลา และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างมาก ว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช.ได้ชี้แจงกับสื่อไปแล้ว คิดว่าการพิจารณากำหนดแนวทาง นายกฯ คงจะหารือกับหลายฝ่ายแต่ยังไม่อยากเล่าให้ใครฟัง ดังนั้น ในการประชุมครม. นอกสถานที่เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา จึงไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึง หรือสั่งการใดๆ เพิ่มเติม ส่วนจะพิจารณาข้อกำหนดมาบังคับใช้นั้น ถือเป็นอำนาจนายกฯ
ส่วนที่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า การใช้มาตรา 44 เป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวางนั้น ขอให้ย้อนกลับไปมองช่วงที่คสช. เข้ามาบริหารงาน ให้อำนาจมากกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ใช้อำนาจทั้งหมด โดยใช้ในส่วนที่จำเป็นต้องดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเท่านั้น แต่เมื่อมีเสียงท้วงติง และวิจารณ์การใช้กฎอัยการศึก นายกฯก็รับฟัง และหาแนวทางอื่นมาดูแลโดยที่เจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย สามารถเข้าตรวจค้นพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่มีข้อมูลข่าวสารปรากฏความผิดชัดเจน ตลอดจนจับกุมผู้กระทำผิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีการใช้กฎหมาย กระบวนการขั้นตอนในการจับกุมคนร้ายไปถึงการลงโทษ จะใช้เวลานาน
"รัฐบาลจึงไม่ได้กังวลใดๆ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมชอบวิจารณ์อยู่แล้ว แต่ถามว่าถ้าไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษ เหตุระเบิดหน้าศาลอาญา จะขยายผลจับกุมคนร้ายได้ในเวลาอันสั้นหรือไม่ เมื่อมีการพูดถึงกฎอัยการศึกอย่างกว้างขวาง นายกฯ ก็พยายามหาแนวทางปรับโดยที่เจ้าหน้าที่ต้องทำงานได้ แต่ยังมีคนบางกลุ่มเท่านั้น ที่ยังวิจารณ์โดยไม่รับฟังอะไร" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
"แก๊งแดง"ผวาเจออำนาจเบ็ดเสร็จ
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า การที่รัฐบาลเตรียมการบังคับใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกนั้น เป็นการสะท้อนถึงคำว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และสะท้อนระบอบการปกครองที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เดิมกฎอัยการศึก เรามองว่ามีปัญหาจริง แต่กฎอัยการศึกยังเห็นตัวตน มีเนื้อหาที่ชัดเจน และประกาศใช้มาตั้งสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ มาตรา 44 นี้ จะขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจและอารมณ์ของผู้ใช้อำนาจเท่านั้น ถือว่าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้าคสช. โดยคนเพียงคนเดียวเหนืออำนาจทั้ง 3 คือ นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ เพราะฉะนั้นจะไม่มีหลักประกันใดๆ ที่ประชาชนสามารถล่วงรู้ล่วงหน้าได้
"ผมคิดว่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกทาง หากรัฐบาลคิดว่า จะลดความกดดันจากนานาชาติ แล้วไปใช้มาตรา 44 จะยิ่งไม่เป็นผลดีทั้งประชาชนในฐานะผู้ถูกใช้อำนาจ และหัวหน้าคสช. ที่เป็นผู้ใช้อำนาจเองเอง จะเข้ากับสำนวนไทยที่ว่า หนีเสือปะจระเข้"
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลเตรียมยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก แต่อย่าว่าตนหาเรื่องค้านกวนใจรัฐบาลเลย เพราะการที่จะใช้ มาตรา 44 แทนนั้น ดูแล้วน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า เนื่องจากกฎอัยการศึกนั้น แม้ว่าจะเป็นกฎหมายโบราณนับร้อยปี ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ก็ยังมีลายลักษณ์อักษรกำหนดขอบเขตชัดเจน ขณะที่อำนาจตาม มาตรา 44 นั้น ครอบจักรวาล ไม่มีบทบัญญัติตายตัว ขยายอำนาจรัฐได้ตลอดเวลา ไม่มีขีดจำกัด
ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่เห็นเนื้อหาและรูปแบบว่าจะประกาศใช้อย่างไร แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ให้รัฐบาลพิจารณาด้วยว่า ที่ต้องการลดแรงกดดันจากต่างประเทศนั้น ไม่แน่ว่าจะบรรลุผลหรือไม่ เพราะความหมายโดยนัยของ มาตรา 44 นั้น ก็เท่ากับ ตัวบุคคลคือกฎหมาย ดังนั้น สภาพแบบนี้อาจจะเพิ่มความกังวลให้กับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายด้วยซ้ำ
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ตนไม่ได้กล่าวหานายกฯว่า จะลุแก่อำนาจ ใช้มาตรา 44 เล่นงานใคร แต่ตนเห็นท่านเล่นบทตบจูบตามอารมณ์อยู่กับสื่อมวลชนแล้วอดห่วงไม่ได้ หากพูดแบบเข้าใจรัฐบาล ก็คือ ต้องการกฎหมายพิเศษไว้คุมสถานการณ์ แต่หากลองดูกฎหมายที่ดีกรีน้อยกว่า แต่สาระชัดเจน อาทิ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรืออะไรประมาณนี้ จะดีกว่าหรือไม่ เพราะถึงอย่างไร มาตรา 44 ก็ยืนค้ำอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่แล้ว
"มาตรา 44 ผมห่วงว่ามันจะยิ่งหนักกว่าเก่า เพราะแม้ว่ากฎอัยการศึกจะขี้เหร่ขนาดไหน แต่ก็ยังขี้เหร่แบบเห็นได้ชัด ตรงข้ามกับมาตรา 44 ที่นอกจากจะขี้เหร่แล้ว ยังมองไม่เห็นขอบเขตของอำนาจอีกด้วย" นายณัฐวุฒิ กล่าว
แนะคสช.เปิดร่างคำสั่งม.44 ก่อนใช้
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วมาใช้ มาตรา 44 ส่วนหนึ่งขึ้นกับว่าจะใช้มาสั่งว่าอย่างไร กฎหมายและคำสั่งที่ออกมา มีเนื้อหาอย่างไร ถ้ามีเนื้อหาเบากว่ากฎอัยการศึก อาจเป็นเรื่องที่สามารถใช้กฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีเนื้อหาเข้มข้นเหมือนกฎอัยการศึก ก็จะไม่ต่างไปจากเดิม หรือแย่กว่าเดิม ที่ว่าแย่กว่าเดิมเนื่องจากตัว มาตรา 44 เป็นอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าธรรมนูญการปกครอง สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะหัวหน้า คสช. และคณะคสช. มีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ และถ้าเนื้อหาใกล้เคียงกฎอัยการศึก จะมีผลเสียคือ การสร้างความยอมรับ ล้มเหลวในสังคมโลก
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้น ทางที่ดีต้องมาตั้งหลักว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในปัจจุบัน การคงกฎอัยการศึกไว้มีแต่จะมีผลเสีย แต่ขณะเดียวกัน การร่างรัฐธรรมนูญต้องการรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น การคงกฎอัยการศึกไว้อย่างเข้มงวด จะเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่เป็นผลดี ถ้าจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกนั้นหมายความว่า ต้องช่วยลดความเสียหายเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ชื่อกฎหมายที่ใช้ แต่ถ้าเนื้อหาของกฎหมายยังเป็นอยู่อย่างเดิม ความจริงถ้าจะทำ ควรให้เปิดให้หลายๆ ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ก่อน ดีกว่าออกมาเลย เพราะไม่อย่างนั้น อาจเกิดปัญหาได้ว่ามีเนติบริกร ช่วยทำพังอีก
ปชป.ชี้ ม. 44 ร้ายกว่าอัยการศึก
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายที่มีมา 101 ปี เป็นของเก่า แต่มาตรา 44 เราไม่ค่อยใช้ แต่มีศักดิ์สูงกว่ากฎอัยการศึก เพราะออกโดยรัฐธรรมนูญ และมาตรา 44 ก็เหมือนมาตรา 17 ที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร เคยใช้มาแล้ว ซึ่งอำนาจเหล่านี้ เขาใช้ในเวลาบ้านเมืองไม่ปกติ และอำนาจของ มาตรา 44 มีมากกว่ากฎอัยการศึก เพราะสามารถตัดสินจำคุก สั่งประหารชีวิตได้ มีผลเหมือนคำพิพากษาของศาล โดยไม่ต้องขึ้นศาล แต่กฎอัยการศึก ตัดสินจำคุกใครไม่ได้ เพียงแต่ควบคุมตัวไว้ชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งกฎอัยการศึกต่างชาติไม่เข้าใจ และรังเกียจ เมื่อคนไทยผสมโรงเข้าไปด้วย ก็ทำให้เกิดปัญหา แต่มาตรา 44 ถ้าจะใช้ต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันของคสช.
"ส่วนตัวผมอยากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มากกว่ามาตรา 44 และคนไทยส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับกฎอัยการศึก แต่รู้สึกปลอดภัยเสียด้วยซ้ำ กฎอัยการศึกทหารเป็นคนใช้ นายกฯไม่มีอำนาจในการใช้ ดังนั้น หากใช้ไม่รอบคอบ ทหารควรถูกตำหนิ แต่เราไม่ค่อยรู้จึงตำหนินายกฯไว้ก่อน เพราะนายกฯ ก็เป็นผู้บังคับบัญชาทหารอีกทีหนึ่ง เคยอ่านข่าวไหมครับ ทหารใช้กฎอัยการศึก จับคนเล่นการพนันในงานศพ ผมรับรองว่า นายกฯไม่สั่งให้จับแน่นอน หากจะยกเลิกกฎอัยการศึก ผมจึงคิดว่าต้องมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง ตามมาตรา 44 ออกมารองรับเสียก่อน เพราะยากที่พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพียวๆ โดยไม่นำมาดัดแปลง เป็นคำสั่งอะไรรองรับเสียก่อน และหากออกคำสั่งมารองรับไม่รอบคอบ และมีผู้ไม่หวังดี ก็อาจแก้สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ทัน ก็ยุ่งเหมือนกัน"
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เมื่อบ้านเมืองปกติแล้ว ถ้าจะยกเลิกคำสั่งตาม มาตรา 44 ต้องออกเป็น พ.ร.บ. ยกเลิก เท่านั้น เพราะมาตรา 44 มีศักดิ์เป็นกฎหมาย หากจะยกเลิก ก็ต้องยกเลิกด้วยกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนยุ่งยาก ดังนั้น มาตรา 44 จึงมีอำนาจเด็ดขาด รุนแรง กว่ากฎอัยการศึก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนไม่เข้าใจมากกว่า
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎอัยการศึก มีกรอบที่ชัดเจน แต่ มาตรา 44 หากออกมาแล้วใช้เกินขอบเขต ก็จะหนักกว่ากฎอัยการศึก ซึ่งความจริงแล้วกฎอัยการศึกนั้น คนบริสุทธิ์จะไม่กระทบ จะกระทบเฉพาะคนคิดร้าย เว้นแต่จะออก มาตรา 44 มาเพื่อแทนกฎอัยการศึก และมีเนื้อหานุ่มนวลกว่า ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ต้องดูว่ามุมที่จะใช้ มาตรา 44 คือ อะไร ต้องให้ผู้มีอำนาจแถลงให้ชัดเจนว่าประสงค์จะใช้มาตรา 44 แค่ไหนเพียงใด
ใช้ ม.44 ก็ยังมีกลุ่มต้าน
นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า การที่ คสช.จะหันมาใช้ มาตรา 44 ถือเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แม้อาจลดแรงกดดันจากต่างชาติได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ถูกกดดันจากทั้งในและนอกประเทศ เพราะ มาตรา 44 เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของผู้นำคนเดียว
ที่สำคัญต้นเหตุของการกดดันจากนอกประเทศคือ ต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด และแรงกดดันจากในประเทศ ก็เป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่เสียประโยชน์จากการยึดอำนาจ ฉะนั้น คสช. และรัฐบาล ต้องเร่งจัดการกับกลุ่มติดอาวุธ และเอาจริงกับผู้อยู่เบื้องหลัง และท่อน้ำเลี้ยง ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูกไปวันๆ
นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ยังแย่อย่างต่อเนื่อง ก็มีส่วนทำให้คนอึดอัดและกลายเป็นแนวร่วมกับกลุ่มต้านรัฐบาลไปโดยปริยาย การเร่งสร้างผลงาน และการแก้ปัญหาปากท้อง และตรากฎหมายเพื่อปฏิรูปจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน ลำพังกลุ่มต่อต้านไม่มีความชอบธรรมเท่าไรนักในการกดดันรัฐบาล เพราะสังคมรู้ทัน แต่กลุ่มกลางๆ หรือชาวบ้านทั่วไป น่าเป็นห่วงมากกว่า
และข้อผิดพลาดที่ผ่านมา คสช. และรัฐบาลต้องยอมรับคือ การบังคับใช้กฎอัยการศึกอย่างไม่จำแนกแยกแยะ ระหว่างกลุ่มเสียประโยชน์ที่พยายามก่อเหตุรุนแรง กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะประชาชน ที่เดือดร้อนจากปัญหาปากท้อง และกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูป ก็ถูกห้ามไปหมด ทำให้แรงต้านต่อกฎอัยการศึกมีมากขึ้น
หากจะหันมาใช้ มาตรา 44 แทน ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และทำรายละเอียดให้ชัดว่า สาระสำคัญของกฎหมายที่จะออกมารองรับจะมีระดับความรุนแรงขนาดใหน มีลักษณะพิเศษ และจะบังคับใช้อย่างไร ที่ไม่เหมารวม แต่ต้องทำใจว่า กลุ่มต่อต้านคสช.และรัฐบาล ยังไงเสียก็จะรับไม่ได้และคงต่อต้านเหมือนเดิม
แนะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.มั่นคง
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง ที่นายกฯ ยกเลิกกฎอัยการศึก มาใช้อำนาจตาม มาตรา 44 แทน เพราะตามกฎอัยการศึกนั้น ยังมีแบบแผนการควบคุมตัว การดำเนินคดีอยู่ แต่มาตรา 44 กลับให้อำนาจนายกฯแบบครอบจักรวาล ซึ่งนายกฯ ต้องระวังที่จะตกหลุมอำนาจ และจะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่การประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลว่าสถานการณ์ขณะนี้มีความจำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึก หรืออำนาจตาม มาตรา 44 หรือไม่
แต่ตนมองว่า รัฐบาลสามารถยกเลิกกฎอัยการศึกและไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 หากอยู่ในช่วงที่จำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ รัฐบาลก็สามารถใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงได้ เพราะรัฐบาลก็ควบคุมทุกเหล่าทัพ และตำรวจอยู่แล้ว และอยากให้คิดว่า ในช่วงที่กำลังมีการปฏิรูปประเทศในหลายเรื่อง กำลังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆนั้น เหมาะสมที่จะใช้กฎอัยการศึก หรืออำนาจตาม มาตรา 44 หรือไม่
โพลชี้คนส่วนน้อยรู้สึกอึดอัดกับอัยการศึก
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน ?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 - 26 มี.ค.58 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,263 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเสรีภาพในการดำเนินชีวิตทั่วไป ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 52.26 ระบุว่า มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตมาก รองลงมา ร้อยละ 34.20 ระบุว่า ค่อนข้างมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ร้อยละ 11.00 ระบุว่า ไม่ค่อยมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ร้อยละ 2.30 ระบุว่า ไม่มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตเลย และร้อยละ 0.24 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตมาก - ค่อนข้างมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต ให้เหตุผลว่า สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และไม่เดือดร้อนแต่อย่างใด ขณะผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิต - ไม่มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตเลย นั้น ให้เหตุผลว่า รู้สึกอึกอัด ทำอะไรก็ไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเสรีภาพทางการเมือง ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ประชาชน ร้อยละ 30.80 ระบุว่า มีเสรีภาพทางการเมืองมาก ร้อยละ 32.15 ระบุว่า ค่อนข้างมีเสรีภาพทางการเมือง ร้อยละ 22.88 ระบุว่า ไม่ค่อยมีเสรีภาพทางการเมือง ร้อยละ 10.45 ระบุว่า ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเลย และร้อยละ 3.72 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า มีเสรีภาพทางการเมืองมาก - ค่อนข้างมีเสรีภาพทางการเมือง ให้เหตุผลเพราะ ช่วยทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนยังสามารถมีสิทธิ์และเสียงในการแสดงออกถึงความเห็นทางการเมืองอยู่บ้าง ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีเสรีภาพทางการเมือง - ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองเลย ให้เหตุผลเพราะ การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในบางเรื่อง ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ จะทำอะไรต้องคำนึงถึงกฎหมายของบ้านเมืองเป็นหลัก
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ (ทั้งในแนวทางสันติและการใช้ความรุนแรง) เพื่อต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ในขณะนี้ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 44.26 ระบุว่า ไม่สมควรที่จะออกมาเคลื่อนไหวใด ๆ เลย เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เป็นปกติ ไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย อีกทั้งยังมีกฎอัยการศึกอยู่ ประชาชนควรปรองดองกัน และควรให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานก่อน รองลงมา ร้อยละ 40.30 ระบุว่า เป็นสิทธิที่จะออกมาเคลื่อนไหวแบบสันติเท่านั้น เพราะ ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ควรหันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยกันอย่างสันติวิธีตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 8.00 ระบุว่า เป็นสิทธิที่จะออกมาเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ เพราะเพื่อความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูงสุด และเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ ร้อยละ 1.03 ระบุว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ เนื่องจากแต่ละคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และร้อยละ 6.41 ไม่แน่ใจ/ ไม่ระบุ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการเข้ามาของ คสช. ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 36.10 ระบุว่า มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะบ้านเมืองมีความเป็นระเบียบ มีความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ร้อยละ 39.19 ระบุว่า มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าเดิม เพราะ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก ยังใช้ชีวิตตามระบอบประชาธิปไตยเช่นเดิม ร้อยละ 22.49 ระบุว่า มีความเป็นประชาธิปไตยลดลง เพราะไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่เหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากมีกฎอัยการศึกอยู่ และเป็นการปกครองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และร้อยละ 2.22 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ .