รองโฆษกสำนักนายกฯ ระบุรัฐบาลไม่กังวลถูกวิจารณ์ใช้ ม.44 แทนกฎอัยการศึก เหตุไทยเป็นสังคมชอบวิจารณ์ แนะให้ย้อนไปดูช่วง คสช. เข้ามาคุมประเทศไม่ได้ใช้อำนาจมากมายเลย ด้านโจกแดง โวยหนีเสือปะจระเข้ ขี้เหร่กว่ากฎอัยการศึก
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิจารณ์แนวคิดใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แทนประกาศกฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่จำกัดเวลา และให้อำนาจนายกรัฐมนตรี เป็นอย่างมาก ว่า เรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ชี้แจงกับสื่อไปแล้ว คิดว่า การพิจารณากำหนดแนวทาง นายกฯคงจะหารือกับหลายฝ่ายแต่ยังไม่อยากเล่าให้ใครฟัง ดังนั้น ในการประชุม ครม. นอกสถานที่เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา จึงไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหรือสั่งการใดๆ เพิ่มเติม ส่วนจะพิจารณาข้อกำหนดมาบังคับใช้นั้นถือเป็นอำนาจนายกฯ ตนไม่ใช่โฆษกประจำตัว คงไปตอบแทนไม่ได้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ว่า การใช้มาตรา 44 เป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการเรื่องต่างๆ อย่างกว้างนั้น ขอให้ย้อนกลับไปมองช่วงที่ คสช. เข้ามาบริหารงาน ให้อำนาจมากกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ใช้อำนาจทั้งหมด โดยใช้ในส่วนที่จำเป็นต้องดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเท่านั้น แต่เมื่อมีเสียงท้วงติงและวิจารณ์การใช้กฎอัยการศึก นายกฯรับฟัง และหาแนวทางอื่นมาดูแลโดยที่เจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย สามารถเข้าตรวจค้นพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่มีข้อมูลข่าวสารปรากฏความผิดชัดเจน ตลอดจนจับกุมผู้กระทำผิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีการใช้กฎหมาย กระบวนการขั้นตอนในการจับกุมคนร้ายไปถึงการลงโทษ จะใช้เวลานาน
“รัฐบาลจึงไม่ได้กังวลใดๆ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมชอบวิจารณ์อยู่แล้ว แต่ถามว่าถ้าไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษ เหตุระเบิดหน้าศาลอาญา จะขยายผลจับกุมคนร้ายได้ในเวลาอันสั้นหรือไม่ เมื่อมีการพูดถึงกฎอัยการศึกกว้างขวาง นายกฯก็พยายามหาแนวทางปรับ โดยที่เจ้าหน้าที่ต้องทำงานได้ แต่ยังมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังวิจารณ์โดยไม่รับฟังอะไร”
ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า การที่รัฐบาลเตรียมการบังคับใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แทนกฎอัยการศึกนั้น สะท้อนถึงคำว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และสะท้อนระบอบการปกครองที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เดิมกฎอัยการศึกเรามองว่ามีปัญหาจริง แต่กฎอัยการศึกยังเห็นตัวตน มีเนื้อหาที่ชัดเจน และประกาศใช้มาตั้งสมัยรัชกาลที่ 5 แต่มาตรา 44 นี้ จะขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจและอารมณ์ของผู้ใช้อำนาจเท่านั้น ถือว่าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยคนเพียงคนเดียวเหนืออำนาจทั้ง 3 คือ นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ เพราะฉะนั้นจะไม่มีหลักประกันใดๆ ที่ประชาชนสามารถล่วงรู้ล่วงหน้าได้
“ผมคิดว่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกทาง หากรัฐบาลคิดว่าจะลดความกดดันจากนานาชาติ แล้วไปใช้มาตรา 44 จะยิ่งไม่เป็นผลดีทั้งประชาชนในฐานะผู้ถูกใช้อำนาจ และหัวหน้า คสช. ผู้ใช้อำนาจเองเอง จะเข้ากับสำนวนไทยที่ว่าหนีเสือปะจระเข้”
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลเตรียมประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย แต่อย่าว่าตนหาเรื่องค้านกวนใจรัฐบาลเลย เพราะการที่จะใช้มาตรา 44 แทนนั้น ดูแล้วน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า เนื่องจากกฎอัยการศึกนั้น แม้ว่าจะเป็นกฎหมายโบราณนับร้อยปี ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ก็ยังมีลายลักษณ์อักษรกำหนดขอบเขตชัดเจน ขณะที่อำนาจตามมาตรา 44 นั้น ครอบจักรวาล ไม่มีบทบัญญัติตายตัว ขยายอำนาจรัฐได้ตลอดเวลาไม่มีขีดจำกัด
ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่เห็นเนื้อหาและรูปแบบว่าจะประกาศใช้อย่างไร แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ให้รัฐบาลพิจารณาด้วยว่า ที่ต้องการลดแรงกดดันจากต่างประเทศนั้น ไม่แน่ว่าจะบรรลุผลหรือไม่ เพราะความหมายโดยนัยของมาตรา 44 นั้น ก็เท่ากับตัวบุคคลคือกฎหมาย ดังนั้น สภาพแบบนี้อาจจะเพิ่มความกังวลให้กับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายด้วยซ้ำ
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ตนไม่ได้กล่าวหานายกฯ ว่า จะลุแก่อำนาจใช้มาตรา 44 เล่นงานใคร แต่ตนเห็นท่านเล่นบทตบจูบตามอารมณ์อยู่กับสื่อมวลชนแล้วอดห่วงไม่ได้ หากพูดแบบเข้าใจรัฐบาล ก็คือ ต้องการกฎหมายพิเศษไว้คุมสถานการณ์ แต่หากลองดูกฎหมายที่ดีกรีน้อยกว่า แต่สาระชัดเจน อาทิ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรืออะไรประมาณนี้จะดีกว่าหรือไม่ เพราะถึงอย่างไรมาตรา 44 ก็ยืนค้ำอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่แล้ว
“มาตรา 44 ผมห่วงว่ามันจะยิ่งหนักกว่าเก่า เพราะแม้ว่ากฎอัยการศึกจะขี้เหร่ขนาดไหน แต่ก็ยังขี้เหร่แบบเห็นได้ชัด ตรงข้ามกับมาตรา 44 ที่นอกจากจะขี้เหร่แล้ว ยังมองไม่เห็นขอบเขตของอำนาจอีกด้วย”