xs
xsm
sm
md
lg

“สรรเสริญ” ชี้อียูเข้าใจผิด ยันศาลทหารดำเนินการกับพลเรือนเป็นคดีความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาลระบุอียูเข้าใจผิด ยันการใช้ศาลทหารดำเนินการกับพลเรือน เป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงฝืนกฎอัยการศึก ส่วนการแก้ พ.ร.บ.ศาลทหาร ก็เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับพลเรือน สำหรับคดี “จาตุรนต์” เกิดในช่วงภาวะไม่ปกติ เบี้ยวรายงานตัว คสช.ตามที่ถูกเรียก จึงต้องขึ้นศาลทหาร

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและโฆษก คสช.กล่าวว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ เลขา คสช. สั่งการให้ชี้แจงทำความเข้าใจ กรณีที่ นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียขององค์กรสิทธิมนุษยชน หรือ ฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติคัดค้านร่างแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ว่าด้วยการเพิ่มอำนาจให้ทหารควบคุมตัวพลเรือนได้นานสูงสุดถึง 84 วัน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอำนาจศาล และ การมอบอำนาจให้ทหารควบคุมตัวพลเรือนโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ ถือเป็นการปกครองประเทศในระบอบเผด็จการ ว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ด้วยข้อมูลที่ไม่ครบ ฮิวแมนไรต์วอตช์ ถือเป็นองค์กรระดับประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ การนำเสนอเรื่องใดๆ ที่มีข้อมูลไม่ครบถ้วน จนทำสังคมสับสน จนส่งผลกระทบความน่าเชื่อถือองค์กรได้ โดยเฉพาะจุดยืนและสถานะในความเป็นกลางทางสังคม เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนสอบถามมากขึ้น เมื่อตอบกลับไป ประชาชนใหญ่พบว่าหลายส่วนมีเนื้อหาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่เข้าใจฮิวแมนไรท์ทำหน้าที่เพื่อสังคม

“ยืนยันไม่มีการขอแก้ไขพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 เพื่อเพิ่มอำนาจให้ทหารสามารถควบคุมตัวพลเรือนได้นาน 84 วัน ตามที่กล่าวอ้าง ปัจจุบันการควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งพลเรือน และทหาร ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นสุดวิสัย พนักงานสอบสวนหรือตำรวจจะต้องขออำนาจจากศาลให้เป็นผู้สั่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นศาลทหาร หรือศาลพลเรือนก็ตาม หลักเกณฑ์เดียวกัน ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้กันอยู่ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม ก็ยังคงใช้หลักเกณฑ์นี้ โดยการขอก็ต้องขอศาลเป็นครั้งๆ ไป โดยจำนวนวันในแต่ละครั้งก็เป็นตามที่กฎหมายกำหนดไว้” พ.อ.วินธัยกล่าว

พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการเสนอขอปรับแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ที่กำลังดำเนินการอยู่ เป็นเรื่องภายในองค์กรทหารเท่านั้น ไม่ควรนำมาปะปนกันจนทำให้สังคมเกิดความสับสน เจตนารมณ์เพื่อใช้ปฏิบัติต่อกำลังพลทหารที่ทำความผิดอาญา เพราะผู้บังคับบัญชาไม่สามารถไปขอให้ศาลทหารสั่งขังได้ด้วยเหตุจำเป็นสุดวิสัย เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมต้องหยุดชะงัก โดยทหารที่กระทำความผิดอาญานั้นๆ ก็สมควรได้รับการปฏิบัติที่ไม่ต่างไปจากพลเรือน เพื่อให้เป็นไปตามหลักบรรทัดฐานสากลที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน ขอให้มั่นใจการดำเนินการของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย มีความเข้าใจดีในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และพยายามจะการดำเนินการใดๆ นั้น ก็เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสร้างความเป็นธรรมให้สังคมอย่างดีที่สุด

“โดย ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาฯ คสช. ได้เน้นย้ำว่า คสช.เข้าใจดีว่าการสร้างความเข้าใจต่อสังคมในการทำงานของ คสช. และรัฐบาลมิใช่เรื่องง่าย แต่อยากให้ทุกฝ่ายให้โอกาสและร่วมมือ เพื่อนำพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นปัญหา มีการปฏิรูปและเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยขอให้การนำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ขอได้มีการศึกษาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ก็จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” พ.อ.วินธัยกล่าว

เมื่อถามว่า คสช.จะเชิญตัวแทนของฮิวแมนไรต์วอตช์ มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ขณะนี้ยังแต่ถือเป็นแนวทางในอนาคต ที่ผู้บังคับบัญชาต้องหารือกัน

แหล่งข่าวจาก คสช.กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.มีความเป็นห่วงต่อการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกรณีของ ฮิวแมนไรต์วอตช์ จึงจะมีการหารือในที่ประชุม คสช. เพื่อหาช่องทางในการแก้ไขปัญหา

“ที่ผ่านมาเมื่อเขาเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง เราก็ใช้วิธีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเพื่อชี้แจง เป็นแบบนี้ทุกครั้ง จึงมองว่าน่าจะมีช่องทางอื่นอีกหรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ เหมือนกับกรณีที่ คสช. เชิญผู้ช่วยทูตทหารประจำในประเทศไทยมาชี้แจงทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าฮิวแมนไรต์วอตช์ เป็นองค์กรที่อยู่ในต่างประเทศ คนพูดก็อยู่ในต่างประเทศ แล้วรัฐบาลกับ คสช. จะมีอำนาจอะไรไปเชิญเขามา ตรงนี้ที่ต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไร ส่วนความเป็นไปได้ที่จะชี้แจงผ่านตัวแทนของฮิวแมนไรต์วอตช์ ที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อสื่อไปถึงองค์กรใหญ่ ถือเป็นแนวทางหนึ่ง แต่ต้องหารือกันอีกครั้ง เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมจริงๆ” แหล่งข่าวจาก คสช.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดกรณี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ถึงต้องขึ้นศาลทหาร พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ต้องไปทบทวนให้ดีว่าคดีนายจาตุรนต์ ไม่ใช่คดีการเมือง เพราะขณะนั้นบ้านเมืองเกิดวิกฤต คสช.จำเป็นต้องเข้ามาประกาศกฎอัยการศึก เพื่อหยุดความขัดแย้ง และสร้างกติกาใหม่ ในระหว่างนั้นก็ได้ประกาศเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมารายงานตัวเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่นายจาตุรนต์กลับหนีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. จึงต้องเข้าสู่กระบวนการศาลทหาร แต่คนอื่นๆ เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายเสรี วงษ์มณฑา ที่มารายงานตัว ก็ไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นศาลทหารแต่อย่างใด แต่สุดท้าย นายจาตุรนต์ ก็ได้รับการประกันตัว ถือว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนอื่นๆ ฉะนั้น อย่ากังวลว่าผู้บังคับบัญชาทหารจะไปสั่งควบคุมตัวพลเรือนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น