xs
xsm
sm
md
lg

สปช.รับรายงานปฏิรูปพุทธศาสนา จัดการทรัพย์สินวงการสงฆ์20ล้านล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (24 มี.ค.) นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่ปรึกษากรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวรายงานต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า สภาพปัญหาและแนวทางควรจะต้องปฏิรูป ต้องแยกให้ชัด เพราะการปฏิรูปแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปฏิรูปพระพุทธศาสนา เพราะพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา เป็นของประเสริฐ ไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะปฏิรูป แต่จะใช้แนวทางพระธรรมวินัย เป็นหลักในการปฏิรูปสิ่งที่เกิดขึ้น ให้สอดคล้องกับบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสอน หรือการปฏิบัติของพระ หรือการจัดการทรัพย์สินของวัด ของพระ ที่ไม่สอดคล้องพระธรรมวินัย
ทั้งนี้ สิ่งที่จำเป็นจะต้องปฏิรูป คือ 1. ทรัพย์สินของวัด และของพระสงฆ์ ปัจจุบันทรัพย์สินในวงการศาสนาพุทธ มีจำนวนถึง 20 ล้านล้านบาท มากกว่างบแผ่นดิน10 เท่า และไม่มีบัญชีครบถ้วนว่าทรัพย์สินมีบัญชีเข้าออกอย่างไร ไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันทรัพย์สินและรายได้ที่ชาวบ้านศรัทธายกมือให้ท่วมหัวบริจาคมอบให้พระ เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แล้วแต่จะนำไปทำกิจการในพุทธศาสนาอย่างไรก็ได้ ให้เกิดประโยชน์ แต่พระจำนวนไม่น้อยเอาเงินนั้นใส่บัญชีของตนเอง เมื่อมรภาพ ก็ทำพินัยกรรมยกให้กับญาติ อดีตภรรยา ลูก หลายรูปมาบวชจนกลายเป็นอาชีพประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง เพราะพระพุทธเจ้าไม่นิยมให้พระภิกษุจับเงิน แต่ก็มีคนเลี่ยงตลอด เช่น พอมาถวายก็เรียกใบปวารณา หรือวางไว้ เอาก้านธูปเขี่ยอ้างว่าไม่จับ
" เงินเปรียบเสมือนงู หรืออสรพิษ สร้างกิเลสให้พระ พอกพูนได้ง่าย จึงมีการระบุชัดเจน แต่มีการเลี่ยงบาลี จนกลายเป็นของส่วนตัว เงินบริจาค ทำบุญ ทำในนามพระพุทธศาสนา ถูกยักย้ายถ่ายเทไปสู่บัญชีส่วนตัว เร็วๆนี้ พระมหาสารคามได้เงินมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนี่ยนหลายสิบล้าน แต่บอกว่า วัดยังไม่มีบัญชี เลยใส่เข้าบัญชีตัวเอง"
2. ให้ปรับปรุงกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้ง ถอดถอน พระสังฆาธิการ หรือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยเฉพาะการปกครองสงฆ์ ควรจะมีการกระจายอำนาจ แทนการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งจะต้องให้คณะสงฆ์ที่อยู่ในวัด และประชาชนร่วมกันดูแลวัดและกิจการพุทธศาสนา นอกจากนั้น ควรกำหนดให้วัดเป็นศูนย์กลางในการบริหารวัด การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าอาวาส การปฏิบัติให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย
3. ควรมีกลไกนำหลักการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มาบัญญัติให้เกิดความชัดเจน ว่า การปฏิบัติใดเป็นไปตามพระธรรมวินัยหรือไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย เพื่อให้มีการตรวจสอบป้องกันการบิดเบือน หรือแอบอ้างพระธรรมวินัย
4. ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ ให้ทันกับเหตุการณ์ เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร มีความเชื่อมั่นในระบบการศึกษา
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสปช.ได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง อาทิ ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิก สปช. อภิปรายว่า ปัจจุบันพบการค้ากำไรจากการขายบุญจำนวนมาก เช่น กรณีวัดแถว จ.ปทุมธานี ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ของชุมชน และได้ขยายกิจการไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย เป็นการจัดตั้งสำนักสงฆ์ นอกจากนี้ยังพบว่าไม่ได้มีการจัดระเบียบของสำนักสงฆ์อย่างเคร่งครัด พระภิกษุที่ไม่สามารถอยู่กับส่วนรวมได้ ก็จะแยกตัวออกไปอยู่กับชุมชน ที่ตั้งอยู่โดยรอบสำนักสงฆ์ ภิกษุรูปใดจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรก็ได้ นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้นักบวชกลุ่มนี้ หากินโดยง่าย เพราะนักบวชไม่ต้องเสียภาษี ฉะนั้นหากไม่ปฏิรูประบบ จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ
"เรื่องทรัพย์สินของสงฆ์ขณะนี้ ต่างจากสมัยพุทธกาล เมื่อ 2,500 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง พระพุทธเจ้าละทิ้งจากทรัพย์สิน ขณะที่สมัยนี้บวชแล้วรวย เราบริจาคให้วัดสามารถนำไปหักภาษีได้ แต่วัดเอาไปใช้อะไรไม่รู้ ที่ดีก็มี ไม่ดีก็มีมาก โดยเฉพาะการนำไปสร้างถาวรวัตถุ ทั้งที่ประเทศยังมีคนจนอีกมากมาย แล้วคนจนนี่แหละที่หวังบุญในชาติหน้า เอาเงินบริจาคให้วัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนจนไม่ได้อะไรเลย" นพ.อำพล กล่าว
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สปช. อภิปรายว่า ปัจจุบันสังคมเป็นระบบบริโภคนิยม พระเอาความสุขเป็นตัวตั้ง ขณะที่หลักธรรมให้ใช้ทุกข์เป็นตัวตั้ง จึงเป็นเหยื่อของจิตนาการ สร้างวิเศษสุขขึ้นมาอย่างไรก็ได้ เป็นหลักการอย่างหนึ่งจากทุนสามานย์ ทำให้คนบริโภคอย่างไม่สิ้นสุด และเอาสังคมมารับใช้ เป็นผลร้ายของสังคมเสพสุข พระก็เป็นด้วย ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยน ผุกร่อน สมควรจัดให้ไปแนวทางไหนให้ชัดเจน ปรากฏการอื้อฉาวที่โด่งดังต่างๆ น่าจะช่วยกระตุกให้สังคมสะดุ้งตื่นจากความหลับใหลได้บ้าง
ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ สปช. อภิปรายว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ไม่ได้เป็นการเหยียบย่ำ ซ้ำเติมศาสนา เพียงแต่บางเรื่องที่ประธานทำ เป็นสายล่อฟ้าเกินไป แต่ก็ทำให้สังคมตื่นตัว แม้แต่วัดบางวัดยังตื่นตัวออกมาแก้ต่าง รวมถึงกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น เป็นเรื่องที่ค้างคามา 2-3 ปีแล้ว พอประธานฯ หยิบเรื่องนี้ขึ้นมา จึงมีการคืนเงินให้กับสหกรณ์
นอกจากนี้ เรื่องสมบัติของวัด และของพระ ไม่น่าห่วงมากเท่าฆราวาส ที่เข้ามาจัดการ ตนชี้นิ้วไปจุดใดของกทม. ก็มีหมด วัดบางวัดให้เช่าที่ตารางวาไม่กี่ 10 บาท แต่ฆราวาสนำไปประมูลขาย ให้เช่าตารางวาละเป็นแสน เรียกว่า เกาะหลังวัดทำมาหากินบนทรัพย์สินของศาสนา จากที่ดูการศึกษาของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ถ้าไม่มีการบริหารอย่างเป็นระบบจะพัง ยิ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแย่งกันเป็นผู้อำนวยการฯ เพื่อจะเอาเงินของเราไปหาผลประโยชน์บนทำเลทอง จึงเห็นว่า น่าจะมีการบริหารเป็นระบบเสียใหม่ ไม่ใช่ปล่อยให้วัด และฆราวาสจัดการกันเอง
ส่วนเรื่องการประพฤติผิดพระธรรมวินัย เอาสีกามาเสพเมถุน หลังจากจับศึกแล้ว ต้องดำเนินคดี และจับติดคุก ดังนั้นจึงเห็นว่า ควรตั้งศาลรัฐธรรมนูญพระ เพื่อมาดูแลพระสงฆ์ และเป็นไปตามที่ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ บอกว่า ต้องให้อาณาจักรมาปกป้องคุ้มครองศาสนา ไม่เช่นนั้นศาสนาจะไปต่อไม่ได้
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วย กับรายงานของคณะกรรมการฯ และข้อเสนอแนะของสมาชิกสปช. เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการต่อไป ด้วยคะแนน 186 ต่อ 7 งดออกเสียง 11
ต่อมานายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิก สปช. ขอให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินของวัด แต่ถูก นายเทียนฉาย แย้งว่า มติที่ออกมารวมทั้งรายงานและข้อเสนอแนะของสมาชิก ถือว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งจะได้มีการปรึกษากับครม.ในเรื่องนี้ และทราบว่า รัฐบาลกำลังร่างกฎหมาย 2-3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ซึ่งที่ประชุมไม่มีข้อท้วงติงใด ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น