xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นคณะกรรมการปรองดอง เปิดทางให้"ทักษิณ"รอดคุก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ถ้าเปรียบเทียบการตามจับกุมผู้ก่อเหตุร้ายในประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนานมานับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคงย่อมทราบดีว่า “ผู้บงการ”คือใคร
เพราะจิ๊กซอว์จากแต่ละคดีล้วนมีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น มิได้มีชิ้นส่วนใดหายไปเลย แต่ทำไมผู้มีอำนาจจึงไม่กล้าจับผู้ที่อยู่เบื้องหลังทำร้ายประเทศ
ไม่ใช่เพราะขาดหลักฐานหรือ “จิ๊กซอว์”ที่จะเชื่อมไปถึงหัวโจกหายไป แต่ผู้มีอำนาจแต่ละยุคเก็บ“จิ๊กซอว์”ตัวนั้นไว้ต่อรอง เพื่อไกล่เกลี่ยทางอำนาจ
เช่นเดียวกัน ยุคนี้มีการคิดอย่างตื้นๆ ง่ายๆ ว่าบ้านเมืองสงบ ไม่มีการชุมนุม คือคำตอบของประเทศไทย จนทำให้พฤติกรรมหลายอย่างเริ่มส่อให้เห็นชัดเจนมากขึ้นจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะภาค 4 ที่ใช้ชื่อสวยหรูมาบังหน้าว่า“การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง”แต่แท้จริงแล้วภาคนี้คือการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ และ มีหลักประกันที่ “ทักษิณ”ต้องการคือ “การอภัยโทษ”โดยมีวาระคุ้มครองให้ถึง 5 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข้ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
**แต่น่าสงสัยว่า รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ที่กำลังทำกันอยู่นี้ “แก้ไขให้ใคร”ให้ประเทศ หรือ“แก้ไขให้โจร” ?
เพราะตั้งแต่แรกที่มีการทำรัฐประหาร เหตุผลที่ให้ในครั้งนั้นรวมถึงเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กลับไม่ได้พูดถึงต้นตอของปัญหาจากการใช้อำนาจเกินขอบเขต ท้าทายกฎหมาย ไร้จริยธรรม ประชานิยมบ้าคลั่ง ที่ทำให้สถานะการคลังของประเทศอ่อนแอ ฯลฯ แต่กลับอ้างเรื่อง “ความขัดแย้ง”มาเป็นเข็มทิศที่จะแก้ไข จึงมีความชัดเจนมาแต่แรกว่า การรัฐประหารครั้งนี้ “ทักษิณ”เงียบไม่ต่อต้าน บรรยากาศบ้านเมืองจึงสงบ กระทั่งเริ่มมีคดี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”ตระกูลอันธพาลก็ใช้สันดานเดิม คือ เอาความรุนแรงมาข่มขู่สังคมไทย แต่ทั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน กลับมีเข็มทิศมุ่งไปที่เรื่อง“นิรโทษกรรม” และ “อภัยโทษ”
จากการเคลื่อนไหวเงียบๆ ของเอนก เริ่มตั้งแต่ การเดินสายเยี่ยมนักโทษ โดยใช้คำเหมารวมผู้ต้องหาทั้งหมดว่าเป็น“คดีการเมือง”ไม่มีการแยกแยะคดีอาญา ฆ่า เผา ทำลายทรัพย์สิน หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการ“นิรโทษกรรม”ยังไม่กล้าบอกสังคมชัดๆ แต่มีธงปลิวไสวอยู่ที่การเสนอ“นิรโทษกรรม”โดยยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต เพื่อลดกระแสต่อต้านของสังคมที่ไม่ยินยอมให้มีการ“เกี้ยเซียะ”กับโจรที่ปล้นประเทศไทย
แต่การเดินเกมครั้งนี้ มันไม่ได้มีเส้นทางแค่สายเดียว ถนนของเอนก คือการปลดปล่อยผู้ต้องหาในเรือนจำ ส่วนปลายทางซ่อนอยู่ในภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง คือการ“อภัยโทษ”ให้กับ “ทักษิณ”และอาจรวมถึง “ยิ่งลักษณ์”ในอนาคตด้วย เพราะบทบัญญัติในภาคนี้ คณะ
กรรมการปรองดองที่จะเกิดขึ้นใหม่ มีอำนาจแทบจะไม่ต่างจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ อยู่เหนือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยมีวาระถึง 5 ปี ซึ่งครอบคลุม
ถึงการตัดสินคดียิ่งลักษณ์ ที่กำลังทยอยขึ้นสู่ศาลในขณะนี้
**แผนการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งคิด แต่น่าเชื่อว่าคิดกันตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว ไม่เช่นนั้นคนที่อ้างตนว่าเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยขยะแขยงการรัฐประหารอย่างยิ่งยวดแบบ ทักษิณ ชินวัตร คงไม่ยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้ และยังไม่ต่อต้านรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ด้วย ทั้ง ๆ ที่จะเป็นจะตายกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่ามาจากเผด็จการ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่ไม่มีปฏิกริยาต่อต้าน เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทุนสามานย์ได้ประโยชน์ใช่ หรือไม่
ดักคอกันล่วงหน้าไว้เลยว่า เกมแรกที่จะออกมาเพื่อหยั่งกระแสสังคมก่อนคือ ชุดของเอนก ที่จัดตั้งขึ้นมาจากการให้กำเนิดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประธาน สปช. ลงนามแต่งตั้ง โดยมีการแถลงข่าวสร้างภาพใหญ่โตว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการปรองดอง แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดนี้มีการประชุมแบบนับครั้งได้ และไม่เคยคิดแม้แต่การค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในปี 56-57 ด้วยซ้ำ แต่กลับตั้งธงจะปล่อยผู้ต้องหาท่าเดียว
แถมอำนาจหน้าที่ที่ปูทางการกันเอาไว้ในข้อ 3 ว่า ให้จัดทำข้อเสนอแนวทางการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมอันเกี่ยวเนื่องมาจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2548-2557 โดยไม่มีการแยกแยะว่า นิยามของคดีการเมืองคืออะไร
**ใช้ข้ออ้างประชาธิปไตยไปก่ออาชญากรรมได้อย่างนั้นหรือ !
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คงเป็นบทบาทของ เอนก ที่จะเสนอแนวทางเยียวยาด้วยการนิรโทษกรรมอ้างประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่มีความผิดเล็กน้อยมาบังหน้า พ่วงคดีอาญาอื่นๆ ตามไปด้วย เพื่ออำพรางวาระซ่อนเร้น
ถ้าเอนกทำสำเร็จ เพราะสังคมตามไม่ทัน ก็ขยับเดินต่อโดยคณะกรรมการปรองดอง 15 คน ที่จะเกิดจากรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังร่างอยู่ในขณะนี้ ไปถึงการอภัยโทษ เพราะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ให้ประชาชนอุ่นใจเลยว่า อำนาจในการร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ที่คณะกรรมการปรองดองมีนั้นจะกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าไม่มีการอภัยโทษให้กับคนทุจริตคอร์รัปชัน แต่กลับให้อำนาจเต็มกับคณะกรรมการชุดนี้ใช้ดุลพินิจพิจารณาได้เองว่า ใครที่ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ และสำนึกผิดต่อกรรมการจนสมควรได้รับการอภัยโทษ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าทักษิณวีดีโอลิงก์มาถึงกรรมการปรองดอง แล้วบอกว่าข้าพเจ้าได้สำนึกผิดต่อบาปที่ได้ก่อแล้ว มีหลักฐานเป็นภาพ และเสียงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับสังคมและเรียกคะแนนสงสารไปสู่การ ให้อภัย
ถามว่าคณะกรรมการปรองดองฯ จะให้อภัยโทษมั้ย และเมื่อให้อภัยโทษแล้ว อย่าคิดว่า ทักษิณ จะต้องมาติดคุกก่อน เพราะคำว่า“สำนึกผิด”ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า “ต้องติดคุกก่อน”แถมในยุคยิ่งลักษณ์ ก็ปูพรมแดงให้พี่กลับบ้านแบบไม่ต้องติดคุกไว้แล้วด้วย “กำไลอิเล็คทรอนิกส์” ซึ่งอายุของทักษิณ เข้าข่ายใช่เลย แต่ดุลพินิจที่จะตัดสินคือ อำนาจของศาล
นี่ใช่ไหมเป็นเหตุผลที่ต้องมีบททั่วไปในภาค 4 ให้อำนาจคณะกรรมการที่เกิดในภาคนี้อยู่เหนือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพราะถ้ากรรมการปรองดองเสนอไปที่ศาล ให้ใช้วิธีควบคุมตัวโดยใส่กำไลอิเล็คทรอนิกส์แทนการคุมขัง ศาลก็ไม่สามารถพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ เพราะเขียนบังคับว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำตาม
คิดกันหลายชั้น ซ่อนการเกี้ยเซียะไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นภาคบังคับคนทั้งประเทศ เพราะกำหนดว่าเป็นหน้าที่พลเมืองต้องทำตามด้วยเช่นเดียวกัน คงคิดว่าจะทำห้ามไม่ให้คนออกมาชุมนุมต่อต้านได้ เพราะจะเป็นการชุมนุมที่ขัดรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย
ถ้าคิดเช่นนี้จริงๆ ขอร้องให้กลับไปคิดทบทวนใหม่ คนไทยคาดหวังกับพวกท่านมาก อย่า“ทำให้ประชาชนผิดหวังซ้ำสอง”ด้วยการอ้างเจตนาดี แต่วิธีการตรงกันข้ามเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น