สปช. รับทราบรายงาน คกก. ปฏิรูปพุทธศาสนา “เจิมศักดิ์” ยันไม่ปฏิรูปพุทธศาสนา แต่ต้องปฏิรูปกิจการ 4 แนวทาง แฉทรัพย์สินวงการสงฆ์ถึง 20 ล้านล้าน มากกว่างบแผ่นดิน 10 เท่า สมาชิกหนุนเร่งจัดระเบียบด่วน ยกกรณีวัดดังย่านปทุมฯ ใช้ศาสนาหากิน - สอนผิดหลักพระธรรมวินัย เสนอเก็บภาษี ด้าน “เนาวรัตน์” ชี้ผลพวงทุนสามานย์ทำศาสนาผุกร่อน “วันชัย” ชงตั้งศาลรัฐธรรมนูญพระดูแลวงการสงฆ์
วันนี้ (24 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. กล่าวรายงานว่า สภาพปัญหาและแนวทางควรจะต้องปฏิรูป ต้องแยกให้ชัด เพราะการปฏิรูปแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปฏิรูปพระพุทธศาสนา เพราะพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาเป็นของประเสริฐ ไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะปฏิรูป แต่จะใช้แนวทางพระธรรมวินัยเป็นหลักในการปฏิรูปสิ่งที่เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสอนหรือการปฏิบัติของพระ หรือการจัดการทรัพย์สินของวัดของพระที่ไม่สอดคล้องพระธรรมวินัย
สิ่งที่จำเป็นจะต้องปฏิรูป คือ 1. ทรัพย์สินของวัดและของพระสงฆ์ ปัจจุบันทรัพย์สินในวงการศาสนาพุทธมีจำนวนถึง 20 ล้านล้านบาท มากกว่างบแผ่นดิน 10 เท่า และไม่มีบัญชีครบถ้วนว่าทรัพย์สินมีบัญชีเข้าออกอย่างไร ไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ทรัพย์สินและรายได้ที่ชาวบ้านศรัทธายกมือให้ท่วมหัวบริจาคมอบให้พระ เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วแต่จะนำไปทำกิจการในพุทธศาสนาอย่างไรก็ได้ให้เกิดประโยชน์ แต่พระจำนวนไม่น้อยเอาเงินนั้นใส่บัญชีของตนเอง เมื่อมรณภาพก็ทำพินัยกรรมยกให้กับญาติ อดีตภรรยา ลูก หลายรูปมาบวชจนกลายเป็นอาชีพประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง เพราะพระพุทธเจ้าไม่นิยมให้พระภิกษุจับเงิน แต่ก็มีคนเลี่ยงตลอด เช่นพอมาถวายก็เรียกใบปวารณา หรือวางไว้เอาก้านธูปเขี่ยอ้างว่าไม่จับ
“เงินเปรียบเสมือนงูหรืออสรพิษ สร้างกิเลสให้พระ พอกพูนได้ง่าย จึงมีการระบุชัดเจน แต่มีการเลี่ยงบาลี จนกลายเป็นของส่วนตัว เงินบริจาค ทำบุญ ทำในนามพระพุทธศาสนาถูกยักย้ายถ่ายเทไปสู่บัญชีส่วนตัว เร็วๆ นี้พระมหาสารคามได้เงินมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนี่ยนหลายสิบล้าน แต่บอกว่าวัดยังไม่มีบัญชีเลยใส่เข้าบัญชี” นายเจิมศักดิ์ กล่าว
2. ให้ปรับปรุงกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ หรือ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยเฉพาะการปกครองสงฆ์ ควรจะมีการกระจายอำนาจ แทนการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งจะต้องให้คณะสงฆ์ที่อยู่ในวัดและประชาชนร่วมกันดูแลวัดและกิจการพุทธศาสนา นอกจากนั้น ควรกำหนดให้วัดเป็นศูนย์กลางในการบริหารวัด การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าอาวาส การปฏิบัติให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย 3. ควรมีกลไกนำหลักการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยมาบัญญัติให้เกิดความชัดเจน ว่า การปฏิบัติใดเป็นไปตามพระธรรมวินัยหรือไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย เพื่อให้มีการตรวจสอบป้องกันการบิดเบือน หรือแอบอ้างพระธรรมวินัย และ 4. ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ ให้ทันกับเหตุการณ์ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความเชื่อมั่นในระบบการศึกษา
อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง อาทิ ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิก สปช. อภิปรายว่า ปัจจุบันพบการค้ากำไรจากการขายบุญจำนวนมาก เช่น กรณีวัดแถว จ.ปทุมธานี ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ของชุมชน และได้ขยายกิจการไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย เป็นการจัดตั้งสำนักสงฆ์ นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่ได้มีการจัดระเบียบของสำนักสงฆ์อย่างเคร่งครัด พระภิกษุที่ไม่สามารถอยู่กับส่วนรวมได้ ก็จะแยกตัวออกไปอยู่กับชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบสำนักสงฆ์ ภิกษุรูปใดจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรก็ได้ นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้นักบวชกลุ่มนี้หากินโดยง่าย เพราะนักบวชไม่ต้องเสียภาษี ฉะนั้นหากไม่ปฏิรูประบบจะส่งผลให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ
“เรื่องทรัพย์สินของสงฆ์ขณะนี้ ต่างจากสมัยพุทธกาลเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว อย่างสิ้นเชิง พระพุทธเจ้าละทิ้งจากทรัพย์สิน ขณะที่สมัยนี้บวชแล้วรวย เราบริจาคให้วัดสามารถนำไปหักภาษีได้ แต่วัดเอาไปใช้อะไรไม่รู้ ที่ดีก็มี ไม่ดีก็มีมาก โดยเฉพาะการนำไปสร้างถาวรวัตถุ ทั้งที่ประเทศยังมีคนจนอีกมากมาย แล้วคนจนนี่แหละที่หวังบุญในชาติหน้า เอาเงินบริจาคให้วัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนจนไม่ได้อะไรเลย” นพ.อำพล กล่าว
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สปช. อภิปรายว่า ปัจจุบันสังคมเป็นระบบบริโภคนิยม พระเอาความสุขเป็นตัวตั้ง ขณะที่หลักธรรมให้ใช้ทุกข์เป็นตัวตั้งจึงเป็นเหยื่อของจินตนาการ สร้างวิเศษสุขขึ้นมาอย่างไรก็ได้ เป็นหลักการอย่างหนึ่งจากทุนสามานย์ทำให้คนบริโภคอย่างไม่สิ้นสุด และเอาสังคมมารับใช้ เป็นผลร้ายของสังคมเสพสุข พระก็เป็นด้วย ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนผุกร่อน สมควรจัดให้ไปแนวทางไหนให้ชัดเจน ปรากฏการอื้อฉาวที่โด่งดังต่างๆ น่าจะช่วยกระตุกให้สังคมสะดุ้งตื่นจากความหลับใหลได้บ้าง
ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ สปช. อภิปรายว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้เป็นการเหยียบย้ำซ้ำเติมศาสนา เพียงแต่บางเรื่องที่ประธานทำเป็นสายล่อฟ้าเกินไป แต่ก็ทำให้สังคมตื่นตัว แม้แต่วัดบางวัดยังตื่นตัวออกมาแก้ต่าง รวมถึงกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น เป็นเรื่องที่ค้างคามา 2 - 3 ปีแล้ว พอประธานฯหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาจึงมีการคืนเงินให้กับสหกรณ์ นอกจากนี้ เรื่องสมบัติของวัด และของพระ ไม่น่าห่วงมากเท่าฆราวาสที่เข้ามาจัดการ ตนชี้นิ้วไปจุดใดของ กทม. ก็มีหมด วัดบางวัดให้เช่าที่ตารางวาไม่กี่สิบบาท แต่ฆราวาสนำไปประมูลขาย ให้เช่าตารางวาละเป็นแสน เรียกว่าเกาะหลังวัดทำมาหากินบนทรัพย์สินของศาสนา จากที่ดูการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ ถ้าไม่มีการบริหารอย่างเป็นระบบจะพัง ยิ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแย่งกันเป็นผู้อำนวยการ เพื่อจะเอาเงินของเราไปหาผลประโยชน์บนทำเลทอง จึงเห็นว่าน่าจะมีการบริหารเป็นระบบเสียใหม่ ไม่ใช่ปล่อยให้วัดและฆราวาสจัดการกันเอง ส่วนเรื่องการประพฤติผิดพระธรรมวินัยเอาสีกามาเสพเมถุน หลังจากจับศึกแล้วต้องดำเนินคดีและจับติดคุก ดังนั้น จึงเห็นว่าควรตั้งศาลรัฐธรรมนูญพระ เพื่อมาดูแลพระสงฆ์และเป็นไปตามที่นายเทียนฉาย บอกว่าต้องให้อาณาจักรมาปกป้องคุ้มครองศาสนา ไม่เช่นนั้นศาสนาจะไปต่อไม่ได้
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมการ และข้อเสนอแนะของสมาชิก สปช. เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการต่อไป ด้วยคะแนน 186 ต่อ 7 งดออกเสียง 11 ต่อมานายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิก สปช. ขอให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อยกร่าง พ.ร.บ. จัดการทรัพย์สินของวัด แต่ถูกนายเทียนฉายแย้งว่ามติที่ออกมารวมทั้งรายงานและข้อเสนอแนะของสมาชิกถือว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งจะได้มีการปรึกษากับ ครม. ในเรื่องนี้ และทราบว่ารัฐบาลกำลังร่างกฎหมาย 2 - 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ซึ่งที่ประชุมไม่มีข้อท้วงติงใดๆ