xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"บิ๊กตู่" ขู่โละร่างรัฐธรรมนูญ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะนี้ การยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราร่างแรก ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์และมีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองเกี่ยวกับเนื้อหามากขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งเสียงเรียกร้องให้มีการทำประชามติ ก่อนที่จะประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ได้กำหนดให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถเสนอขอแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญได้

ซึ่งตามกรอบเวลาแล้ว ทางกรรมาธิการยกร่างฯ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. ได้พิจารณาในวันที่ 17 เม.ย.นี้ โดยสปช.จะมีเวลาในการพิจารณา อภิปรายกันตั้งแต่วันที่ 20-26 เม.ย. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ สปช. เสนอคำขอแก้ไขได้ 10 เรื่อง แต่ไม่ได้บังคับว่าในแต่ละเรื่องต้องเป็นการแก้ไขประเด็นเดียวเท่านั้น ให้เป็นคำขอแก้ไขได้ทั่วไป เช่น อาจมีการเสนอให้แก้ไขทั้งร่าง ก็ได้

จากนั้น ส่งให้ ครม. กับ คสช. ในวันที่ 26 เม.ย. เพื่อพิจารณา หากต้องการแก้ไขในจุดใด ก็ให้ยื่นคำแปรญัตติได้ตามกรอบเวลา 30 วัน ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญ ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ไปจนถึง วันที่ 23 ก.ค. เป็นวันสุดท้าย

เมื่อกรรมาธิการยกร่างฯ ได้รับคำแปรญัตติจากทั้ง สปช. ครม. และ คสช. แล้ว ก็จะพิจารณาทบทวนตามที่มีการเสนอมา ว่ามีจุดร่วม จุดต่างอย่างไร รวมถึงกระแสสังคมจากภายนอกที่แสดงความเห็น ก็จะเป็นปัจจัยประกอบในการตัดสินใจด้วย

อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ กำหนดให้เป็นอำนาจของกรรมาธิการยกร่างฯ ว่าจะแก้ไขตามที่มีการแปรญัตติ หรือจะคงตามร่างเดิมก็ได้ และเมื่อได้ข้อยุติจากกรรมาธิการยกร่างฯ แล้ว ก็ต้องส่งไปขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสปช.อีกครั้ง ซึ่งการลงมติของสปช. ครั้งนี้จะเป็นลงมติครั้งเดียวว่าจะรับ หรือไม่รับ ไม่ได้เป็นการลงมติรายมาตรา เหมือนตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

สำหรับประเด็นที่คาดว่า จะมีการขอแก้ไข เชื่อว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง อย่างเช่น ประเด็นที่มาวุฒิสภา ที่ใช้เลือกทางอ้อม อำนาจวุฒิสภาที่สามารถรเริ่มพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ได้ กรณีไม่บังคับว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นส.ส. ระบบเลือกตั้งส.ส.ในแบบผสม ที่ให้ประชาชนจัดลำดับบัญชีรายชื่อได้เอง เรื่องการคุ้มครองนายกฯ และครม. มากเกินไปหรือไม่ กรณีลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แล้วสภาจะต้องสิ้นสภาพไปด้วย

โดยเฉพาะการเลือกตั้งส.ส.ในแบบผสม น่าจะมีเสียงคัดค้านจากนักเลือกตั้งมากที่สุด เนื่องจากมีการลดจำนวน ส.ส.ระบบเขตในแต่ละจังหวัดลง เมื่อเป็นเช่นนี้ อดีตส.ส.เขต ที่พรรคไม่ได้ส่งลงเลือกตั้งก็จะต้องไปลงในบัญชีรายชื่อ แล้วประชาชนในแต่ละจังหวัด ก็จะเลือกคนเหล่านี้เข้ามาอีก เพราะรู้จักมากกว่าผู้สมัครหน้าใหม่ ที่อาจเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง โอกาสที่จะสร้างพรรคให้เข้มแข็งก็ยาก เพราะภายในพรรคก็จะแตกแยกกันเอง เพราะอดีตส.ส.จากจังหวัดใหญ่ ย่อมได้เปรียบผู้สมัครที่มาจากจังหวัดเล้ก สุดท้ายก็จะกลายเป็นจังหวัดใคร จังหวัดมัน เป็นเรื่องของจังหวัดนิยม แล้วก็ได้คนหน้าเดิมเข้ามา

ส่วนที่กรรมาธิการยกร่าง คิดว่าการเลือกตั้งแบบนี้จะสามารถสกัดนายทุนได้นั้น ก็ไม่น่าจะเป็นจริง เพราะเป้าหมายของนายทุนคือการเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นส.ส. เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามคนนอกมาเป็นรัฐมนตรี ดังนั้นนายทุนพรรคก็จะทุ่มเงินอุดหนุนพรรค เพื่อขอโควต้ารัฐมนตรี โดยไม่จำเป็นต้องไปลงเลือกตั้งส.ส.

อีกประเด็นที่เป็นเรื่องล่อแหลม ก็คือเรื่องการสร้างความปรองดอง ซึ่งพอพูดถึงการปรองดอง ก็จะต้องมีเรื่องนิรโทษกรรมผูกติดมาด้วยเสมอ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญ ระบุให้มี คณะกรรมการอิสระส่งเสริมความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ส่วนที่อยู่ในความขัดแย้ง และส่วนที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง ทำหน้าที่เป็นคนกลางแก้ไขความขัดแย้ง รวมรวบข้อเท็จจริง วิเคราะห์หาสาเหตุ และเสนอแนวทางแก้ไขต่อ วุฒิสภา และทำหน้าที่เยียวยา ฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับความเสียหาย รวมถึงเสนอให้มี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ให้กับบุคคลที่ให้สำนึกผิด
 
ปัญหาคือ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ นั้นจะอภัยให้กับบุคคลที่มีความผิดในระดับใด จึงจะเกิดความปรองดองได้ โดยหลักการที่มีการพูดถึงกันบ่อยๆคือ จะนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มาชุมนุม แล้วทำผิดคดีอาญา ยกเว้นคดีอาญาที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต เผา ทุจริตคอร์รัปชัน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะไม่นิรโทษกรรม

ในส่วนของประชาชนที่มาชุมนุมแล้วทำผิดอาญานั้น มีข้อมูลว่า กลุ่มพันธมิตรฯ กรณีบุกเอ็นบีที 80 กว่าคน และคดีอื่นๆ รวมกว่า 400 คน ส่วนนปช. มีเกือบพันคน และผู้ชุมนุม กปปส. ที่ถูกดำเนินคดีอาญาก็มีนับร้อยคน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่น่ามีปัญหาหากจะนิรโทษกรรมให้

แต่ระดับแกนนำ ที่ถูกแจ้งข้อหา ก่อการร้าย ข้อหากบฏ จะได้รับการนิรโทษหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ และถ้าระดับแกนนำไม่ได้รับการนิรโทษกรรม หรือได้รับนิรโทษกรรม ปัญหาความขัดแย้งจะยุติลงได้หรือไม่ก็ยังไม่สามารถการันตีได้

จากความเห็นที่ไม่ตรงกันต่างๆ เหล่านี้ หากแต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่ม เสนอความคิดเห็นออกไป ก็ไม่แน่ว่าจะได้รับการปรับปรุง แก้ไขให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการทำประชามติกันในขั้นสุดท้าย ก่อนที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ

ทั้งนี้ หากรัฐบาลคสช. ตัดสินใจให้มีการทำประชามติ อันดับแรก ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เสียก่อน จากนั้นก็ต้องเตรียมงบประมาณไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยดำเนินการหลังจาก สปช. ให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และส่งเรื่องมายัง กกต. ซึ่งในการทำประชามติ อย่างน้อยต้องมีเวลา 90 วัน ในการดำเนินการ เพราะจะต้องตั้งคำถามว่า จะให้ประชาชนตัดสินใจเลือกอย่างไร ต้อง เป็นคำถามที่ไม่ซับซ้อนเกินไป ซึ่งทางฝ่ายกกต.ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ควรเป็นคำถามเดียว เหมือนกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 50 คือเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อกำหนดวัน และคำถามแล้ว จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่มีความเห็นต่าง มีโอกาสแสดงความเห็นต่อสาธารณะอย่างเท่าเทียม ประชาชนเข้าถึงประเด็นปัญหา ซึ่งฝ่ายรัฐที่ต้องทำการเผยแพร่เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ

แต่ก็ยังประเด็นที่เป็นห่วงคือ ในช่วงการทำประชามติ ตามหลักการแล้ว ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเสรี เท่าเทียม เพื่อบอกข้อดี ข้อเสียในรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าบรรยากาศทางการเมืองไม่เปิดกว้าง ด้วยยังติดที่กฎอัยการศึก ก็อาจจะทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริง การตัดสินใจ ก็อาจจะถูกจูงใจจากผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลทางความคิด ก็จะทำให้การทำประชามติ เป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพื่อให้ผ่านข้อเรียกร้องนี้ไปเท่านั้น

สำหรับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ว่าจะทำประชามติหรือไม่ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แต่เมื่อผู้สื่อข่าวนำเรื่องนี้ไปถามครั้งใด นายกรัฐมนตรีก็จะมีอาการหงุดหงิด ทุกครั้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุด เมื่อไม่กี่วันมานี้ ถึงกับออกปากขู่ว่าถ้ามันยุ่งนักก็จะโละทิ้ง แล้วเริ่มต้นใหม่  

"เดี๋ยวผมจะตัดสินใจ เมื่อถึงเวลาใกล้ๆ ก่อน อำนาจการตัดสินใจสุดท้าย รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องของ คสช. แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการทำประชามติ เพราะฉะนั้น ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ อยู่ที่ผมตัดสินใจ พิจารณาร่วมกันว่า ควรหรือไม่ควร วันนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้น ก็ทะเลาะกันจะเป็นจะตายอยู่แล้ว ทุกคนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทุกคนจะเอาแบบเดิมกันทั้งหมด ถามว่าแล้วเราจะปฏิรูปได้ไหม ต้องกลับไปถามคนที่ออกมาเรียกร้องซิว่า เขาต้องการอะไร หนึ่งเขาต้องการปฏิรูปใช่หรือไม่ เมื่อมีการปฏิรูปก็ย่อมมีอะไรที่ไม่เหมือนเดิมบ้าง มีกลไกที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นธรรมเข้าใจคำว่าเสียเวลาเปล่าไหม เราพูดกันเสมอ เสร็จแล้วพอทำไม่ได้ พอมีปัญหา ท่านก็บอกว่า ตัวผมไม่รู้จะเข้ามาทำไม เสียเปล่า ถ้าจะแก้ก็พยายามทำให้ พอแก้ไม่สำเร็จ เพราะมีการต่อต้าน จนเจ้าหน้าที่ทำไม่ได้ ก็มาโทษผมอีกว่าเสียเปล่า... ผมจะไม่ยอมให้เสียเปล่า.. ผมต้องรอประเมินดูจากสถานการณ์ วันนี้การร่างยังไม่ไปไหนเลย ถ้าตกลงกันเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไรกัน สามารถทูลเกล้าฯ ได้ มันก็จบ โปรดเกล้าฯ ลงมาก็

เลือกตั้ง แต่เมื่อเถียงกันมากๆ เดี๋ยวค่อยว่ากัน ว่าจะทำอย่างไรต่อ ก็มีอยู่สองอย่าง ไม่งั้นก็ต้องล้มกันทั้งหมด เริ่มใหม่ เอาไง ก็ไปเลือกกันมา ถ้าล้มทั้งหมด ก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนั้น ผมถึงเวลากลางคืน นอนไม่ค่อยหลับ คิดถึงคำตอบที่จะมาตอบกับสื่อ"

ตามโรดแมป ที่วางไว้ หากไม่มีการทำประชามติ จะสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างช้าวันที่ 4 ก.ย.58 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว สนช. จะต้องทำหน้าที่พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ โดย 3 ฉบับ ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการเลือกตั้ง คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง ที่สนช. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่ได้รับร่าง ส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก 9 ฉบับ สนช. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน จากนั้น จึงจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 59

เมื่อพิจารณาจากแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ที่ต้องการให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้แต่ชี้แจงไปว่า ต้องใช้เวลาตามกระบวนการปฏิรูปประเทศ และได้ยืนยันในหลายๆโอกาสว่า จะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 59 

แต่ถ้าต้องทำประชามติ เวลาก็จะยืดเยื้อออกไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน และโอกาสที่จะมีเหตุแทรกซ้อน จนทำให้แผนการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโรดแมป ก็อาจเกิดขึ้นได้ ประกอบกับน้ำเสียงและอารมณ์ เมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้แล้ว ก็น่าจะพอคาดการณ์ได้ว่า สุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจให้มีการทำประชามติ หรือไม่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น