xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตั้งหลักลุยต่อ “ภาษีที่ดิน” คนจน-เศรษฐี ยังมีหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถอยเพื่อตั้งหลักก่อนที่จะเดินหน้าลุยต่อคือหมากรุกของการผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในมือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลานี้ หลังเปิดฉากโยนหินถามทางแล้วเจอก้อนอิฐและรองเท้าจนแทบหลบฉากไม่ทัน

ความจริงแล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะต่อพ่วงไปถึงภาษีการรับมรดก มีการผลักดันกันมายาวนาน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเป็นเครื่องมือที่จะบีบเศรษฐีคายที่ดินในมือให้กระจายออกไปสู่คนจนให้มีที่ดินทำกินมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็มีข้อยกเว้นไม่ไปรีดนาทาเร้นกับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นงานหินที่ยากมากๆ มาทุกรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะผลประโยชน์ขัดกันของบรรดานักธุรกิจการเมืองซึ่งด้านหนึ่งเป็นผู้ถือครองที่ดินในมือในอันดับต้นๆ ของประเทศ

ดังนั้น ความคาดหวังประการหนึ่งต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็คือการทำงานยากให้สำเร็จลุล่วง แต่ว่าอำนาจที่มีหากไร้ฝีมือก็มีแต่ความล้มเหลวรออยู่เบื้องหน้า ดังที่เห็นได้จากการผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของนายสมหมาย ภาษี รมว.กระทรวงการคลัง ที่มีคำอธิบายรายวันชนิดสร้างความสับสนให้กับสังคมกันไปใหญ่ พอๆ กับท่านผู้นำประเทศที่อธิบายเรื่องนี้ต่อสังคมแบบเสียสมาธิไม่เป็นมวยพอๆ กัน สุดท้ายจึงต้องถอยกลับมาตั้งหลักกันใหม่

ต้องบอกว่า ที่ผ่านมาไทยมีการจัดเก็บภาษีฐานรายได้และฐานการบริโภคเป็นหลัก ส่วนฐานทรัพย์สินที่เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินนั้นมีการเก็บภาษีที่ใกล้เคียงมากที่สุด คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งล้าสมัย บังคับใช้มานานแล้ว เหตุนี้ กระทรวงการคลัง จึงต้องการผลักดันร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... มาใช้แทน

การที่ประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สิน (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ส่งผลให้ไม่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เห็นได้จากการถูกปล่อยทิ้งร้างจำนวนมาก เพราะไม่มีต้นทุนการถือครอง และทำให้การถือครองที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุน ร่างกฎหมายดังกล่าว จึงจะเป็นมิติใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยมีระบบการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่พึ่งพารายได้จากภาษีนี้เป็นหลัก และมุ่งกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม สนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากขึ้น นั่นคือหลักที่สำคัญ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อปท. ทั่วประเทศมีรายได้จาการจัดเก็บภาษีเฉลี่ยปีละ 25,000 ล้านบาท เท่านั้นโดยเป็นรายได้จากภาษีบำรุงท้องที่ที่เก็บจากที่ดินและภาษีโรงเรือนที่เก็บจากการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ ทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบลงไปอุดหนุนอปท.มาตลอด โดยปีงบประมาณ 2558 ได้รับการจัดสรรกว่า 250,000 ล้านบาท

การปฏิรูปภาษีที่จะจัดเก็บจากฐานทรัพย์สินของกระทรวงการคลัง ซึ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สอง ภาษีการรับมรดก หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ภาษีมรดก มีการเงื้อค้างมายาวนานนับสิบปี จนกระทั่งร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2553 แต่เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภา และรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เข้ามาบริหารประเทศแทน ก็ไม่ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าวจึงทำให้ถูกตีตกไป

จากนั้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ มีความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะให้มีการปฏิรูปภาษี โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องภาษีโดยจะขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งจะเก็บจากฐานทรัพย์สิน คือ ภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลคสช. ตั้งอยู่บนฐานความคิดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และหาแหล่งรายได้จากภาษีใหม่ จากนั้น คสช.เห็นชอบแผนปฏิรูปภาษีตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2557 โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องทำให้ได้ภายในหนึ่งปี ซึ่งหากนับเวลาจากนี้คือเดือนมี.ค. 2558 ก็เหลืออีกเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น

สำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก” และ “ร่างประมวลรัษฎากรที่ว่าด้วยการรับให้” มีความคืบหน้าไปมากกว่าร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาก โดย ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และนำเข้าที่ประชุม สนช. และสนช. มีมติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 เห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ...

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2558 นายสมหมาย ภาษี รมว.คลังในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. .... ระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาพิจารณา 3-4 สัปดาห์ ก่อนส่งเรื่องให้สนช.พิจารณาเห็นชอบในวาระที่ 3 ได้ทันที โดยสาระสำคัญของภาษีการรับมรดก จะเก็บจากผู้รับมรดกในอัตรา 10% ในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังยักแย่ยักยัน และอาจเป็นความบกพร่องโดยสุจริตของนายสมหมาย หรือไม่ ไม่อาจทราบได้ที่ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ราวกับว่าอยากให้มีปัญหาและถูกแช่แข็งไปซะงั้น โดยงานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเบรกกระแส เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2558 สั่งให้กระทรวงการคลัง ชะลอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ก่อน ด้วยเกรงว่าจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหา

งานนี้ เรียกว่าคนจนก็มีเฮ เศรษฐีที่ดินก็ยิ้มแก้มปริ ที่กฎหมายนี้ส่อเค้าว่าจะถูกดองเค็ม โดยพล.อ.ประยุทธ์ ทำเหมือนลืมไปเสียสนิทว่าเป้าหมายของรัฐบาล คสช. จะทำคลอดกฎหมายนี้ให้ได้ภายในหนึ่งปีหลังแถลงนโยบายต่อ สนช.

แต่อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสมหมาย ภาษี ก็ยังไม่ลดละความพยายาม โดยยืนยันจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ต้องเดินหน้าต่อ เพียงแต่ตอนนี้ต้องเตรียมทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งร่างสุดท้ายของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะจัดทำเสร็จปลายสัปดาห์นี้ จากนั้นจะประชุมคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอีก 2 สัปดาห์ พร้อมกับจะนำเอกสารเต็มรูปแบบที่กระทรวงการคลังจัดทำเสร็จแล้วให้นักวิชาการถกกัน และเปิดให้แสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ คาดว่าภาษีจะเริ่มใช้ได้ปี 2560 ซึ่งปีแรก คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท และเข้าอปท.ทั้งหมด จากปัจจุบันจัดเก็บได้ปีละ 20,000 ล้านบาท เท่านั้น

สำหรับร่างสุดท้ายของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งออกเป็น 4 อัตรา ประกอบด้วย ที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัย ที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินเชิงพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และที่ดินว่างเปล่า

“ทุกวันนี้ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์พูดถึงแต่ภาษีบ้าน ไม่ได้พูดถึงภาษีที่ดินเกษตร ไม่ได้พูดภาษีที่ดินทำธุรกิจ และที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งอยู่ในชุดกฎหมายเดียวกัน คนอ่านกฎหมายไม่ครบกระบวนการและตีตนไปก่อนไข้” นายสมหมาย ตีโต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์

จะว่าไปแล้ว หากนายสมหมาย ชาญฉลาดจุดกระแสในส่วนที่เป็นภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่อยู่ในมือนายทุนและนักการเมืองเป็นธงนำ ป่านฉะนี้คงมีเสียงเชียร์กันสนั่นเมืองแทนที่จะเจอก้อนอิฐกับรองเท้า เพราะใครๆ ก็รู้กันว่า ผู้ครองครองที่ดินรายใหญ่เกือบครึ่งค่อนประเทศนี้ ล้วนแต่เป็นนายทุน นักการเมือง และชนชั้นอีลิทแทบทั้งสิ้น

รายงานวิจัยเรื่อง การกระจุกตัวความมั่งคั่งในสังคมไทย โดย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นข้อมูลการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในประเทศไทยว่ามีการกระจุกตัวสูงมาก และมีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงมาก

ทั้งนี้ ประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยของการถือครองที่ดินอยู่ที่ 13.97 ไร่ โดยบุคคลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศเป็นนิติบุคคล ถือครองที่ดินจำนวน 2,853,859 ไร่ และเมื่อแบ่งผู้ถือครองที่ดินทั้งประเทศออกเป็น 5 กลุ่ม พบว่า กลุ่มคนที่ถือครองพื้นที่น้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก ถือครองที่ดินเฉลี่ย 0.086 ไร่ ขณะที่กลุ่มคนที่ถือครองพื้นที่มากที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ท้าย ถือครองที่ดินเฉลี่ย 6.3 แสนไร่ ซึ่งมีความต่างกันประมาณ 729 เท่า

นอกจากนั้น ผู้ถือครองที่ดินทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีคน 10% ครอบครองที่ดินเป็นจำนวน 80% ของพื้นที่มีโฉนด ที่เหลืออีก 90% ครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วน 20 % ของพื้นที่มีโฉนดที่เหลือ สะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอย่างมาก ตัวเลขดังกล่าวหากรวมผู้ที่ไม่มีที่ดินถือครองจะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นไปอีก

จากข้อมูลการศึกษาวิจัยการถือครองที่ดินที่มีโฉนด เมื่อปี 2555 ซึ่ง ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล เป็นผู้ศึกษา พบว่าประเทศไทยมีที่ดินทั้งหมด 320.70 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิที่ออกโดยกรมที่ดิน คือ โฉนดที่ดิน, น.ส.3 ก, น.ส. 3 และใบจอง จำนวน40% หรือ 130.74 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นที่ป่าสงวนฯ 144.54 ล้านไร่ (ร้อยละ 45.19) ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 34.76 ล้านไร่ (ร้อยละ 10.87) และที่ดินราชพัสดุ 9.78 ล้านไร่ (ร้อยละ 3.06)

ผลวิจัยระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีผู้ครอบครองที่ดินรวม 15.90 ล้านรายเศษ แบ่งเป็นในนามบุคคลธรรมดา 15.68 ล้านราย และนิติบุคคล อีก 2.12 แสนราย ถ้าจำแนกตามปริมาณการถือครองที่ดิน (ณ ปี 2555) มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยมีผู้ถือครองที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ มีจำนวน 601,815 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.17 ส่วนผู้ที่ถือครองที่ดินตั้งแต่กว่า 1-5 ไร่ มีจำนวน 3.48 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 21.9% ขณะที่ผู้ที่ถือครองที่ดินเกินกว่า 1,000 ไร่ ขึ้นไป มีจำนวนรวม 837 ราย คิดเป็น 0.01% ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนถึงการถือครองที่ดินกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มอย่างชัดเจน

แน่นอน ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ จะส่งผลสะเทือนต่อแลนด์ลอร์ดเมืองไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

หากถามว่า ใครคือแลนด์ลอร์ดเมืองไทย “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับตีพิมพ์วันที่ 18 มิ.ย. 2557 ได้เปิดเผยโฉมหน้ากลุ่มแลนด์ลอร์ดเมืองไทย โดยอ้างอิงจากผลศึกษาของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่วิจัยและเก็บข้อมูลการถือครองเอกสารสิทธิจากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน พบว่า กลุ่มทุนตระกูลดังถือครองที่ดินแปลงใหญ่น้อยกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยเฉพาะกรุงเทพฯ หัวเมืองหลัก และเมืองท่องเที่ยว

ข้อมูลจากการสำรวจศึกษา ระบุว่า ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ทั้งประเทศไล่เรียงตามลำดับ ดังนี้

1)"สิริวัฒนภักดี" กว่า 6.3 แสนไร่ ทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว และผ่านบริษัทต่างๆ โดยหนึ่งในที่ดินแปลงใหญ่ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดี ครอบครองกรรมสิทธิ์ อาทิ ที่ดินในอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี รวม 1.2 หมื่นไร่ ที่ดินในอ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 1.5 หมื่นไร่ ฯลฯ

2) "ตระกูลเจียรวนนท์" ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจการเกษตรครบวงจร ในนามกลุ่มซีพี ธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม บมจ.ซี.พี.แลนด์ และกลุ่มแมกโนเลียส์ธุรกิจโทรคมนาคม ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ โดยแปลงใหญ่อยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1 หมื่นไร่

3) บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันปาล์มรายใหญ่ในภาคใต้ ถือครองที่ดิน 4.44 หมื่นไร่

4) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันมีที่ดินรวมประมาณ 3 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ราว 7% ปล่อยเช่าสร้างรายได้เชิงพาณิชย์

5) บมจ.ไออาร์พีซี ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ มีที่ดินรวมประมาณ 1.7 หมื่นไร่ แปลงใหญ่อยู่ที่อ.จะนะ จ.สงขลา

6)"ตระกูลมาลีนนท์" กลุ่มทุนธุรกิจสื่อสารถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่

7)นายแพทย์บุญ วนาสิน" ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี มีที่ดินในมือประมาณ 1 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 1 พันไร่

8)วิชัย พูลวรลักษณ์" อดีตผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์เครืออีจีวี ซึ่งที่ผ่านมาเบนเข็มมารุกธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม "วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้" ครอบครองอยู่ 7-8 พันไร่

9)ตระกูล "จุฬางกูร" อาณาจักรซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่วงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีที่ดินทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5-6 พันไร่ อาทิ สนามกอล์ฟซัมมิทฯ ที่บางนาและเชียงใหม่ ที่ดิน 100 ไร่ในจังหวัดภูเก็ต ฯลฯ

และ 10) ไพวงษ์ เตชะณรงค์ ผู้ก่อตั้งโบนันซ่า มีที่ดินในเขาใหญ่ รวม 5 พันไร่

ส่วนในกลุ่มนักการเมือง จากผลการศึกษา พบว่า นายอำนาจ คลังผา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 2,030 ไร่, นายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทย 2,000 ไร่, นายเสนาะ เทียนทอง และนางอุไรวรรณ เทียนทอง 1,900 ไร่, นายอนุชา บูรพชัยศรี 1,284 ไร่, นายอดิศักดิ์ โภคสกุลนานนท์ 1,197 ไร่ นายทศพร เทพบุตร 1,095 ไร่, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี 1,095 ไร่, นายสุชน ชามพูนท 1,060 ไร่, นายชัย ชิดชอบ และภรรยา 854 ไร่, นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ 755 ไร่ ฯลฯ

แต่ถ้าหากจะดูการถือครองที่ดินของพรรคการเมือง ข้อมูลจากรายงานการวิจัย เรื่องการถือครองที่ดินในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2555 (เอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดิน) โดย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า จากขนาดการถือครองและมูลค่าที่ดินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำแนกตามพรรคการเมือง (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2556) พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีจำนวนส.ส. 282 คน ถือครองพื้นที่ 17,897 ไร่ มูลค่า 7,131 ล้านบาท อันดับสอง พรรคประชาธิปัตย์ จำนวนส.ส. 151 คน ถือครองจำนวน 12,765 ไร่ มูลค่า 6,513 ล้านบาท อันดับสาม พรรคภูมิใจไทย จำนวนส.ส. 33 คน ถือครอง 3,034 ไร่ มูลค่า 570 ล้านบาท

เห็นโฉมหน้าแลนด์ลอร์ดเมืองไทยและความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม รวยกระจุก จนกระจาย ก็ได้แต่เอาใจช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. รวมถึงนายสมหมาย ภาษี รมว.กระทรวงการคลัง ให้เดินหน้าผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีการรับมรดกให้สำเร็จ

อย่าเพิ่งถอดใจ ปากกล้า ขาสั่น ถอยหลังง่ายๆ เพราะหากทำสำเร็จ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับการจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น