xs
xsm
sm
md
lg

สางปมทุจริตที่ดินปลูกปาล์มน้ำมัน ปตท. ซื้อที่ดินอินโดฯ ราคาเกินจริง ฟันนายหน้าสนุกมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดมหากาพย์ ปตท. โกงสวนปาล์ม ถึงคราว ป.ป.ช. สอบทุจริตปีหน้า แม้ "ไพรินทร์" ชงบอร์ดอนุมัติขายธุรกิจทิ้ง อ้างเป็นธุรกิจที่ไม่เข้าพวกกับที่ทำอยู่ เผย "เฉลิม" กระทู้สดปี 54 จับผิดบิ๊ก ปตท. - ฝ่ายการเมือง พบที่ดินไร้เอกสารสิทธิ์ น้ำท่วมถึง ตั้งราคาแพงเกินจริง ฟันค่านายหน้าสนุกมือ

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะดำเนินการไต่สวนกรณีการทุจริตโครงการปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียของบริษัทลูกในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีการร้องเรียนเข้ามา ป.ป.ช. ได้รับเรื่องดังกล่าวมาไต่สวน ขณะนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. โดยความคืบหน้าต่างๆ น่าจะออกมาในช่วงต้นปีหน้า

ทั้งนี้ มีรายงานว่า สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นโครงการลงทุนปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศอินโดนิเซีย ของบริษัทในเครือ ปตท. วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ช่วงปี 2550 ซึ่งโครงการดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนเข้ามายัง ป.ป.ช. ว่าพบการทุจริตเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 แสนเฮกตาร์ ที่มีมูลค่าแพงเกินจริง และความไร้ประสิทธิภาพของโครงการ

- ไพรินทร์” ชงบอร์ด ปตท. อนุมัติขายธุรกิจ อ้างไม่เข้าพวกกับที่ทำอยู่

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2557 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยกรณี บริษัท ปตท. กรีน เอนเนอยี จำกัด (PTTGE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจสวนปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มดิบในอินโดนีเซีย ว่า ปตท. มีแผนจะขายธุรกิจสวนปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียออกไป โดยจะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาและอนุมัติ แม้ว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ดี แต่ไม่เหมาะกับธุรกิจ ปตท. ที่เน้นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี รวมทั้งถ่านหิน ทั้งนี้ ธุรกิจปาล์มน้ำมันและผลิตน้ำมันปาล์มดิบในอินโดนีเซียของ PTTGE อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรรมการ ป.ป.ช. โดยก่อนหน้า ปตท. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าว และตั้งคณะกรรมการสอบวินัยด้วย

- ย้อนรอยคำพูด "นิพิฐ" อดีตผู้บริหาร ปตท. ยันโปร่งใส

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ผู้บริหาร ปตท. ขณะนั้น คือ นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGE กล่าวถึงกรณีการตั้งกระทู้สดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2554 มีการพาดพิงถึงการลงทุนของ ปตท. ในธุรกิจปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียว่า PTTGE ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2550 มีวัตถุประสงค์หลักสำหรับลงทุนในธุรกิจปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนให้ประเทศ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน

โดยเข้าลงทุนพัฒนาสวนปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมีความเหมาะสมทางสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ นอกจากนี้พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเพาะปลูกปาล์มในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็มีจำกัด ต่างจากประเทศอินโดนีเซียที่ยังมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการลงทุนปลูกปาล์มใน ระยะยาวของบริษัทฯ สาเหตุที่เลือกจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมัน ปาล์มเช่นเดียวกับบริษัทปาล์มน้ำมันชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก

จากประเด็นที่มีการนำตัวเลขทุนจดทะเบียนของบริษัทที่ สิงคโปร์ ที่ PTTGE เข้าไปซื้อ มาเปรียบเทียบกับราคาที่ PTTGE ตกลงซื้อนั้น โดยข้อเท็จจริง บริษัทต่างๆ ดังกล่าวมีสวนปาล์มที่ตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซียเป็นสินทรัพย์หลัก ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าทุนจดทะเบียนของบริษัทมาก ทั้งนี้ เมื่อ PTTGE ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทชั้นสิงคโปร์แล้ว ก็จะส่งผลให้ PTTGE เป็นเจ้าของสวนปาล์มและทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศอินโดนีเซียทางอ้อม

จากรายงานการประเมินราคาโดยบริษัทประเมินสินทรัพย์ชั้นนำของโลก พบว่าสินทรัพย์ของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียมีราคาที่สอดคล้องกับราคาเข้าซื้อจริงของบริษัท โครงการที่บริษัท PTTGE เข้าลงทุนในธุรกิจสวนปาล์มนั้นมีที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีขั้นตอนการศึกษาอย่างละเอียดก่อนการพิจารณาเข้าลงทุน ดังนั้น PTTGE ขอยืนยันว่า ไม่ได้ซื้อของแพงอย่างที่กล่าวอ้าง เนื่องจากราคาที่ PTTGE เข้าซื้อนั้นมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดในช่วงนั้น อย่างเห็นได้ชัด

อีกทั้งเนื่องด้วยการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นในอัตราสูง เพราะสามารถนำไปใช้ได้หลายรูปแบบ ทำให้ธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันได้รับผลตอบแทนดีมาก เป็นผลให้ราคาสวนปาล์มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทรัพย์สินที่ PTTGE ลงทุนไปมีมูลค่าสูง ขึ้นอย่างมาก
ยืนยันว่าการใช้เงินลงทุนของ ปตท ผ่าน PTTGE เพื่อลงทุนในธุรกิจปาล์มน้ำมัน มีการดำเนินการไปอย่างโปร่งใส และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การลงทุนของกลุ่ม ปตท และสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งการลงทุนโครงการปลูกปาล์มของ PTTGE ก็ได้สร้างมูลค่าและผลตอบแทนให้กับ ปตท เป็นจำนวนมาก

- ป.ป.ช. รับลูก "สารวัตรเฉลิม" สอบขุมทรัพย์ ปตท.

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2554 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดเรื่อง ปัญหาการนำเงินไปลงทุนของ ปตท. โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ถามว่า ปตท. ไปตั้งบริษัทลูกในสิงคโปร์ และมีการแยกเป็นบริษัทลูกอีก 3 บริษัท เพื่อลงทุนปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย มีการจ่ายเงินลงทุนแพงกว่าราคาทุนที่บริษัทนั้นตั้งไว้หรือไม่ และเหตุใดถึงต้องไปลงทุนที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกตรวจสอบก่อให้เกิดการทุจริตหรือไม่

ขณะเดียวกัน การดำเนินการดังกล่าวยังขัดต่อ พ.ร.บ.พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะมติของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2546 ระบุว่าการที่ ปตท.ไปลงทุนอะไรต้องขอความเห็นของจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน แต่นี่ทำไปแล้วจึงมาแจ้ง ครม. เพื่อทราบภายหลัง เป็นการขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ดังนั้นขอให้รอเจอกันในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน (ในขณะนั้น) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ให้ชี้แจงแทน กล่าวว่า ยอมรับว่า ปตท. ไปตั้งบริษัทลงทุนในประเทศสิงคโปร์จริง เนื่องจากมีสิทธิพิเศษทางภาษี และต้องตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อจะเข้าปลูกปาล์มที่ประเทศอินโดนีเซียจริง เพราะกฎหมายอินโดนีเซียกำหนดไว้อย่างนั้น ทั้งหมดเป็นการพิจารณาเพื่อสิทธิพิเศษทางภาษี เพราะหาก ปตท. ไปตั้งบริษัทที่ประเทศอินโดนีเซียเลย รายได้จะต้องหัก ณ ที่จ่ายในการปันผลมาที่ประเทศไทยถึง 15% แต่หากไปลงทุนที่สิงคโปร์จะมีสิทธิพิเศษทางภาษี ทำให้ ปตท.หักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 10% ยืนยันว่าการลงทุนของ ปตท. ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ทุกกรณี และการบริหารงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการแจ้งแผนการลงทุนให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบแล้ว

ส่วนเรื่องการลงทุนซื้อถูกหรือแพงนั้น ในฐานะ รมว.พลังงานมีอำนาจกำกับดูแลเชิงนโยบาย ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เพราะถือเป็นอำนาจคณะผู้บริหารของ ปตท. แต่ก็พร้อมจะตรวจสอบให้ ขอให้ ร.ต.อ.เฉลิม ส่งเอกสารหลักฐานมา หรือถ้าไม่มั่นใจจะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบก็ได้

- เปิดมหากาพย์ ปตท.กว้านพื้นที่ดินอินโดฯ ปลูกปาล์ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้ ปตท. อ้างโครงการดังกล่าวเนื่องจากราคาน้ำมันแพง ทำให้ ปตท. เห็นว่าถ้ามีพลังงานทดแทนเข้ามาเสริมศักยภาพได้ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อองค์กรและประเทศชาติ แต่ด้วยกฎหมายของอินโดนีเซียได้จำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มไว้บริษัทละไม่เกิน 125,000 ไร่ หลายบริษัทมักเข้าไปจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อขอสัมปทานเพิ่ม

สำหรับ ปตท. เข้าไปทำธุรกิจปาล์มภายใต้บริษัท PTTGE ว่ากันว่าบริษัทนี้มีการจดทะเบียนขึ้นในประเทศสิงคโปร์ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 40 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 942.5 ล้านบาท โดย ปตท. ถือหุ้น 100% เพื่อเป็นตัวแทนในการลงทุนโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย รองรับความต้องการในตลาดโลก

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าที่จังหวัดกาลิมันตัน ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ได้รับใบอนุญาตครอบครองสิทธิ์ปลูกปาล์มอยู่ประมาณ 1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ดูเหมือนว่ามีการปลูกปาล์มไปแล้วไม่น้อยกว่า 1.4 แสนไร่ ส่วนที่เมืองปอนติอานักมีพื้นที่อีกไม่ต่ำกว่า 87,500 ไร่ จากนั้นเมื่อประมาณปี 2550 ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ได้เข้าไปซื้อกิจการ PT Mitra Aneka ReZeki หรือ PT.MAR ใช้เงินไปราว 14.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินไทยคงจะอยู่ที่ราว 400 กว่าล้านบาท เพื่อครอบครองหุ้นใหญ่บริษัทแห่งนี้

การตั้งกระทู้สดของ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า ที่ ปตท. ปล่อยให้บริษัทลูกออกไปทำธุรกิจต่างแดน มี ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ไปกว้านซื้อที่ดินในอินโดนีเซียถึง 5 แปลง พื้นที่นับล้านไร่ เพื่อหวังที่จะปลูกปาล์ม โดยคิดว่าอยากให้ ปตท. เป็นรายใหญ่ในการปลูกปาล์มที่อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม มีการตรวจพบกระทำการที่ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในหลายประเด็น อาทิ การเข้าไปซื้อที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ดินน้ำท่วมถึงในบางแปลง บางแปลงก็พอจะใช้การได้อยู่ มีการตรวจพบการตั้งราคาซื้อที่ดินเกินกว่าความเป็นจริงไม่น้อยกว่า 35% แถมมีการตั้งราคาจ่ายค่านายหน้ากันสนุกมือ มีค่าใช้จ่ายมากมายเรียกว่าแทบจะไม่ก่อประโยชน์อะไรกับ ปตท. คาดว่า มีการใช้เงินลงทุนไปแล้วไม่น้อยกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้เกือบครึ่งถูกใช้จ่ายกับการซื้อขายที่ดินและค่านายหน้า

คำถามที่ตามมาคือการจ่ายค่าที่ดินปลูกปาล์มในราคาสูงลิ่ว จ่ายให้กับใคร? นายหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือใคร? เส้นทางเงินที่ถูกแจกจ่ายไปยังใคร ข้อมูล ป.ป.ช. อาจมีระดับบิ๊กไม่ต่ำกว่า 5 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำผิด ยังไม่นับลิ่วล้ออีกนับสิบที่คอยเป็นมือรับใช้

ขณะที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ประธานบอร์ด ปตท. ก็ต้องหาคำตอบให้ได้.



กำลังโหลดความคิดเห็น