xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปเริ่มแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองได้มีการประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานไปแล้ว มีผู้เสนอตัว 2 ท่านคือ คุณชัย ชิดชอบ นักการเมืองอาวุโสซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 รุ่นเดียวกับคุณชวน หลีกภัย ส่วนอีกคนหนึ่งคือ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา 2516 ที่จริงสองท่านนี้เคยอยู่พรรคการเมืองเดียวกันมาก่อนคือ พรรคไท ในระยะหลังๆ ดร.สมบัติมาเป็นนักวิชาการได้เป็นอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเมื่อมีการเคลื่อนไหวของ กปปส. ดร.สมบัติ ก็เป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่ง คณะกรรมาธิการทั้งหมดมี 27 คน แต่มาประชุมเพียง 25 คน ดร.สมบัติได้ 13 คะแนน คุณชัยได้ 12 คะแนน นับว่าสมศักดิ์ศรี การแข่งขันครั้งนี้จะเรียกว่า “พลิกล็อก” ก็ได้

คณะกรรมาธิการตั้งรองประธาน 3 คน เลขานุการ และทีมโฆษก 3 คน แล้วยังมีประธานและรองประธานที่ปรึกษาอีก นัยว่าเป็นธรรมเนียมซึ่งผมเห็นว่ามีจำนวนตำแหน่งมากจนเกินไป บางคณะมีรองประธานถึง 4 คน ทีมงานโฆษกอีก 4 คน

คณะกรรมาธิการแต่ละชุด จะได้เริ่มทำงานกำหนดแนวทางและลงไปดูเนื้อหาสาระของข้อเสนอในการปฏิรูป ซึ่งแต่ละชุดต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาหลักของประเทศไทยเป็นปัญหาด้านตัวบุคคลมากกว่าระบบ เพราะระบบเราก็เป็นระบบสากล และดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องบุคคลนั้นเป็นเรื่องของพฤติกรรม ดังนั้นผมจึงเห็นว่าตัวระบบคงมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก แต่เรื่องพฤติกรรมเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรม และการกล่อมเกลาตลอดจนทัศนคติซึ่งต้องแก้ไขตั้งแต่ครอบครัวและโรงเรียน แม้ว่าระบบอาจควบคุมกำหนดกรอบพฤติกรรมได้บ้าง แต่คนก็หาทางเลี่ยงได้ จึงมีคนเรียกว่าสังคมไทยเป็น “สังคมศรีธนญชัย”

ผมไม่แน่ใจว่ามาตรการด้านการจำกัดพฤติกรรมนี้จะเป็นอย่างไร เช่น การทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นต้น ส่วนข้อจำกัดในการใช้อำนาจก็คงจะเป็นการจัดความสัมพันธ์ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน เรื่องใหญ่ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงก็คือ การแยกอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติ โดยกำหนดให้แต่ละฝ่ายมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และไม่สามารถล้มล้างกันได้ ส่วนการเลือกฝ่ายบริหารนั้น จะเลือกเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี หรือเลือกคณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็ได้ หากมีการแยกอำนาจเด็ดขาดเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีก็ไม่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในสภาฯ หมายความว่าผู้เป็นฝ่ายบริหารไม่ต้องสังกัดหรือมีพรรคการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้เสนอว่าเมืองไทยควรมี “อภิรัฐมนตรี” ความคิดนี้น่าจะมาจาก คสช.ด้วย คณะอภิรัฐมนตรีเคยมีสมัยรัชกาลที่ 7 โดยมีการตั้งเจ้านายผู้มีอาวุโสเป็นอภิรัฐมนตรี จะว่าไปแล้วก็คล้ายๆ กับการให้คณะองคมนตรีมีบทบาททางการเมืองนั่นเอง แต่ครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าอภิรัฐมนตรี จะมีบทบาทอย่างไร ไปๆ มาๆ ก็จะเป็น “โปลิตบูโร” แบบไทยๆ หรือเป็นการแปลงร่างของ คสช.เพื่ออยู่ในอำนาจคอยคุมเกมต่อไปนั่นเอง

เรื่องใหญ่ที่ไม่มีคนพูดถึง และไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการไว้ก็คือ การทหาร คำถามมีว่า คณะทหารหรือกองทัพต้องการการปฏิรูปหรือไม่ ในสภาปฏิรูปคราวนี้มีนายทหารระดับนายพลหลายสิบคนกระจายไปอยู่ตามคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่จริงมีหลายประเด็น เช่น บทบาทของกองทัพในการพัฒนา ขนาดของกองทัพ กองทัพกับการแทรกแซงทางการเมือง การทำให้กองทัพทันสมัย เป็นต้น แต่ก็ไม่มีใครสนใจหรือกล้าๆ ที่จะพูดกัน คงกลัวบ่อนแตกเสียก่อน แต่เรื่องนี้น่าจะมีการพูดอ้อมๆ ไปได้

ไม่เป็นที่แปลกใจที่มีคนพูดถึงการศึกษามาก ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผมเห็นว่าปัจจัยหลักอยู่ที่ครู ตราบใดที่ครูยังเป็นหนี้มาก และคนเก่งๆ ไม่ค่อยอยากเป็นครูแบบนี้ เราก็คงจะหวังอะไรมากไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น