xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เน้นโจทย์ปฏิรูป-ปรองดอง นัดถกร่างรธน.20-26เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.) เปิดเผยถึงการเตรียมพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า หลังจากรับร่างรัฐธรรมนูญ จากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนวันที่ 17 เม.ย.แล้ว สปช.จะประชุมและเริ่มอภิปรายรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 20 –26 เม.ย. ยกเว้นวันที่ 23 เม.ย. ที่จะมีการประชุมสนช. ในช่วงเช้า ซึ่ง สปช.จะประชุมในช่วงบ่าย
"เราจะกรอง สังเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดีที่สุด ภายในกรอบเวลาที่จำกัด คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดให้อภิปรายรายมาตราได้ไม่เกิน 10 วัน ซึ่งสปช. ทุกคนก็จะต้องจับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปชุดที่ตนเองสังกัด โดยเฉพาะภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง จะมีความสำคัญเป็นพิเศษ ที่ต้องส่งต่อให้กับรัฐบาลที่เข้ามาหลังการเลือกตั้งรับไปดำเนินการต่อเนื่องให้สำเร็จ กรรมาธิการในส่วนนี้จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยขอให้สมาชิกทุกคนทำการบ้าน เพราะนับจากเสร็จสิ้นการอภิปราย เรามีเวลาอีก 30 วันที่ สปช. จะยื่นญัตติขอปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากมีกติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไว้ว่า จะต้องมีจำนวนสมาชิกที่รับรอง และผู้รับรองยื่นซ้ำไม่ได้ เป็นต้น จึงต้องดูให้ดีอย่าทำให้ผิดกติกา"
ประธานสปช. กล่าวว่าขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูป 18 คณะ จะเดินหน้าอภิปรายในเนื้อหาของตนตามกรอบ ส่วนอีก 5 คณะที่ทำภารกิจร่วม เช่น กมธ. เรื่องการมีส่วนร่วม รับฟังความเห็น กมธ.กิจการประชาสัมพันธ์ เพื่อการปฏิรูป กมธ.ติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่เสริม ด้วยการดำเนินการรับฟังความเห็นในพื้นที่ระดับอำเภอ รวมทั้งกลุ่มประชากรต่างๆ แล้วประมวลสังเคราะห์มาได้ระดับหนึ่ง ก็จะนำความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการอภิปราย ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ภาค น้ำหนักไม่เท่ากัน บางภาคเป็นกติกาพื้นฐานของประเทศที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญฉบับไหน อาจใช้เวลาอภิปรายไม่มาก ส่วนภาคที่เป็นการเปลี่ยนแปลงกติกาของประเทศนั้น จะต้องเปิดกว้างให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเป็นอิสระ ไม่มีโพย ซึ่งบางความเห็นอาจไม่ตรงกันก็ได้
อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯอาจไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอของสปช. ทั้งหมด แต่ต้องชี้แจงหลักการ เหตุและผล ว่าจะทำตามหรือไม่ทำตามได้ นี่คือประชาธิปไตยที่ดี และหากกมธ. ยกร่างฯ ไม่เอาด้วย สปช.ก็ต้องพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลเหมือนกัน ว่าจะรับหรือไม่รับทั้งร่าง ไม่ใช่พิจารณาด้วยอารมณ์ ซึ่งจะเห็นการลงมติในราวๆ เดือนสิงหาคม หรือกันยายนปีนี้
"เขารับฟังแน่ แต่จะเชื่อฟังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุและผล" ประธานสปช. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าสปช. จะต้องแปรญัตติเป็นประเด็นตามคณะกรรมาธิการที่สังกัดหรือไม่นั้น ประธานสปช.กล่าวว่า จะไม่มีการล็อกสิทธิ์ตรงนั้น ทุกคนดูภาพรวมได้ เพียงแต่หลายคนมีภารกิจเฉพาะ แต่เขาก็อภิปรายเรื่องอื่นก็ได้

**ต้นฤดูฝนรู้ประชามติหรือไม่

ต่อข้อถามถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายเทียนฉาย กล่าวว่า คงจะไปพิจารณาอีกครั้งราวต้นฤดูฝน แต่ทุกฝ่ายจะต้องรับรู้ตรงกันว่า หากจะมีการทำประชามติ จะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน แล้วถ้าจะมีเงื่อนไขว่า หากประชามติไม่ผ่าน แล้วจะเป็นอย่างไร เช่น เอาฉบับไหนมาแทน หรือไม่ก็อยู่ที่ตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว นั่น
ประธาน สปช. กล่าวว่า นอกจากเรื่องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว วาระของการปฏิรูป 36 ด้าน และวาระพัฒนา 7 ด้าน ที่ต้องขับเคลื่อนนั้น สิ่งที่เป็นห่วงคือ แนวคิดการปฏิรูปไม่ได้ปรากฏเฉพาะในสภาปฏิรูปเท่านั้น แต่ปรากฏตามกระทรวง ทบวง กรม และกลุ่มคนต่างๆ เป็นนิมิตที่บอกว่า ทุกคนตื่นแล้ว เราจะปฏิบัติตัวแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว ต้องปรับตัวเองเพื่อแก้ไขสิ่งที่ยังไม่ดีให้ดีขึ้น ปรับตัวรองรับโลกข้างหน้า แต่ก็เกิดคำถามใหม่ขึ้นว่า จะทำให้แนวคิดของสภาปฏิรูปสอดคล้องหรือไม่ขัดแย้งกับส่วนอื่นอย่างไร ในแม่น้ำ 5 สายคุยกันว่า จะต้องมีการประสานงานสองระดับ ทั้งกระบวนการเป็นทางการ กับแบบเป็นการภายใน ซึ่งต้องเตรียมการล่วงหน้า เช่น กระซิบบอกว่ากำลังจะส่งเรื่องไปยัง สปช. แล้วให้เตรียมรับ รวมทั้ง ครม. ก็ต้องเตรียมรับไปเวียนถามความเห็นกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งประเด็นปฏิรูปแบบ‘ควิกวิน’ส่งไปถึงรัฐบาล ต้องรีบดำเนินการ กระทรวง ทบวง กรม จะได้ไม่ตกใจว่าไม่เคยเห็นเรื่องนี้มาก่อน และหากบังเอิญเป็นเรื่องที่กระทรวง ทบวง กรม เตรียมการปฏิรูปด้วย ก็จะได้ดูว่ามีทางพิจารณาร่วมกันให้เนื้อหาสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน จะได้ไม่เกิดความขัดแย้ง
ส่วนประเด็นปฏิรูปทั้ง 36 ประเด็นนั้น คณะกรรมาธิการทุกคณะ ได้ส่งมาที่ประธานแล้วเมื่อ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ขณะนี้คณะทำงานของประธานสภาเก็บประเด็นไปวิเคราะห์ ว่า 1. พร้อมดำเนินการทำแผนปฏิรูปได้ หรือ 2. ยังต้องปรุงแต่งเสริมให้สมบูรณ์ หรือ 3. อาจยังไม่ตรงประเด็นต้องปรับจูนอีก ซึ่งจะเอาเข้าที่ประชุม สปช. เพื่อขอความเห็นก่อนว่าจัดกลุ่มถูกต้องหรือไม่ และทยอยเข้าตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และสัปดาห์ต่อไปนี้ ก็จะเป็นวาระที่ใหญ่มากของสภาปฏิรูป ซึ่งบังเอิญเจอวันหยุดมาก ทำให้จำเป็นต้องเปิดประชุมจันทร์ อังคาร พุธ สามวันเต็ม มีวาระพิจารณาเข้มข้นมาก เช่น เรื่องระบบการงบประมาณท้องถิ่น ระบบสาธารณสุขทั้งระบบ เป็นต้น

**สั่งทุกกระทรวงส่งความเห็น ร่าง รธน.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ สมาชิกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เสนอให้มีการนิรโทษกรรม ผู้ชุมชุมทางการเมืองทุกฝ่าย เพื่อสร้างความปรองดองว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่ได้เสนอมาที่ตน คิดว่าน่าจะเสนอไปที่ นายกรัฐมนตรี จากนั้นค่อยมาถึงตน ตอนนี้เห็นแต่เพียงในข่าว
ส่วนที่นายกฯ มอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมศึกษาร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนดูในภาพรวมของรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะต่อไปรัฐบาลต้องทำความเห็นส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ คล้ายๆ กับการแปรญัตติ เป็นการเตรียมการเมื่อถึงเวลาที่ คสช. รัฐบาล และ สปช. ต้องแจ้งความเห็นไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ว่าอยากให้แก้ไขในเรื่องอะไร ถ้าเห็นด้วย ก็แก้ให้ ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ไม่แก้ให้ เพราะหลายคนมีความเห็นไม่เหมือนกัน จะเอาใจทุกคนไม่ได้ โดยตนจะทำหน้าที่ดูในส่วนของรัฐบาล เมื่อมีความเห็นแล้ว จะต้องรายงานไปยัง ครม.ให้เห็นชอบ เพื่อเป็นท่าทีของครม.ไปถึง กมธ.ยกร่างฯ ตอนนี้ ได้ให้แต่ละกระทรวงดูว่า มีปัญหาขัดข้องตรงไหน ซึ่งมีการรายงานมาแล้วกว่าสิบกระทรวง แต่อยากให้ทำความเห็นมาใหม่ เพราะตอนที่ทำความเห็นนั้นเป็น ร่างรธน. เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา มีการแก้ไขอะไรแล้ว ก็ให้ช่วยดูใหม่
ทั้งนี้ การเสนอความคิดเห็นไปยังกรรมาธิการนั้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลเห็นว่า ควรจะต้องแก้ไข โดยจะทำเป็นบัญชีแรก แต่ในส่วนที่คนอื่นเขาเห็นว่าเป็นปัญหา แล้วรัฐบาลไม่เห็นด้วย ตอนนี้กำลังพิจารณาว่า อาจจะทำเป็นบัญชีที่สองหรือไม่ เพราะเขาอาจจะไม่มีช่องทางเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของ ครม.
กำลังโหลดความคิดเห็น