xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เตรียมส่งมติคว่ำสัมปทานปิโตรเลียมถึงมือ “บิ๊กตู่” - ย้ำต้องฟังเสียงประชาชนปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
“อลงกรณ์” เผยเตรียมส่งมติคว่ำเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้นายกฯ ชี้เสียงข้างมากเสนอ 2 ทาง คือ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต กับใช้ระบบผสม ให้สัมปทานเฉพาะแปลงศักยภาพต่ำ ลั่นต่อไปผลักดันไม่ต่อสัญญา “เชฟรอน - ปตท.” ด้าน “คำนูณ” เตือนนายกฯ ต้องฟังเสียงประชาชนปฏิรูปพลังงาน และเสียง สปช. ตามรัฐธรรมนูญ เชื่อยอมรับฟัง ส่วนทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยเชื่อไม่เสียหาย หลังราคาพลังงานโลกลดฮวบ



วันนี้ (14 ม.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม สปช. ได้มีมติ 130 ต่อ 79 เสียง ไม่เห็นด้วยกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ที่มีมติเห็นควรให้มีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แบบไทยแลนด์ทรี พลัส พร้อมให้กระทรวงพลังงาน ศึกษาเตรียมการให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพการปิโตรเลียมที่เหมาะสมให้พร้อมไว้ ว่า ขั้นตอนต่อไป สภาฯ จะส่งมติดังกล่าวไปให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงข้อมูลต่างๆ คือ รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมขององค์กรที่สำคัญ ที่ได้รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเครือข่ายต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 รวมถึงจุดยืนของสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยให้มีการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไปพร้อมๆ กัน ทั้งจุดยืนของ สปช. เสียงข้างมากที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทาน

ทั้งนี้ การมีมติในเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามที่รัฐบาลได้มีการขอหารือมายัง สปช. ว่าอยากให้สมาชิกมีความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานไปดำเนินการศึกษา โดยมีการเชิญนักวิชาการและประชาชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความคิดเห็น เมื่อที่ประชุม สปช. มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวแล้ว หลังจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปว่าจะเดินหน้าเปิดสัมปทานหรือจะมีการทบทวน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศเชิญชวนให้ยื่นประกวดเพื่อเข้าสำรวจขุดเจาะ โดยเปิดระหว่างวันที่ 27 ต.ค. 2557 และสิ้นสุดวันที่ 18 ก.พ. 2558 โดยจะมีการให้สัมปทานรอบที่ 21 จะมีการเปิดสำรวจใน 29 แปลง ซึ่งในข้อประกาศเชิญชวนได้กำหนดให้รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือขยายระยะเวลาตามความเหมาะสม เท่ากับว่าไม่ผูกพันกับการที่รัฐต้องเร่งเปิดสัมปทานดังกล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในที่ประชุม สปช. เสียงข้างมากมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวสองแนวทาง คือ 1. เห็นควรให้มีการชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้วนำระบบการแบ่งปันผลผลิต มาใช้แทนระบบสัมปทาน 2. ให้รัฐใช้ระบบผสม โดยในแปลงที่มีศักยภาพด้านพลังงานสูง ให้รัฐใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต ส่วนในแปลงที่มีศักยภาพพลังงานต่ำ ก็ให้รัฐใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าในแหล่งที่คาดว่ามีศักยภาพอย่าง 4 แปลงในทะเลที่อยู่ติดกับแหล่งเดิม คือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช นั้น รัฐสามารถใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิตเข้ามาจัดการได้ ซึ่งในสองแหล่งดังกล่าวในสัมปทานรอบที่ 20 รัฐให้กับบริษัทเชฟรอน ซึ่งจะหมดเวลาสัมปทานใน 7-8 ปีข้างหน้า หมายความว่า อุปกรณ์ขุดเจาะทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ ซึ่งตนเห็นว่าหลังจากหมดสัมปทานรัฐควรเข้าไปดำเนินกิจการเอง สามารถลดต้นทุนในด้านอุปกรณ์ได้ระดับหนึ่ง โดยตนจะผลักดันเป็นเรื่องต่อไปว่าจะไม่ให้รัฐต่อสัญญากับเซฟรอน และ ปตท.

นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ ยังกล่าวว่า ในวันที่ 15 ม.ค. เวลา 14.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะมาหารือร่วมกับ สปช. โดยมีประธาน สปช. และกรรมาธิการทุกคณะ เข้าร่วมหารือ เพื่อประสานงานกันระหว่างกัน ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ ครม. และ สปช. เนื่องจาก สปช. มีการเสนอประเด็นการปฏิรูปด่วน (ควิกวิน) และการปฏิรูปภายใน 1 ปี ก็จะได้มีการหารือเพื่อปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเร่งรีบมีมติออกมา เลยว่าสนับสนุนให้มีการเปิดสัมปทานรอบ 21 แทนที่จะเปิดทางเลือกให้สมาชิกได้เสนอความเห็น หรือลงมติในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เมื่อที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติไม่เห็นด้วยเช่นนี้ ก็ต้องถือว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไปเลย แต่จะให้ทำอย่างไรนั้น เนื่องจากว่า คณะกรรมาธิการไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นไว้ สปช. ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่แม้จะมีอำนาจหน้าที่ แต่อย่าลืมว่า สปช. ถือกำเนิดขึ้นจากสถานการณ์ความเรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ และความเห็นของ คสช. เองต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน รวมถึงพลังงานด้วย แต่เมื่อมติ สปช. ออกมาว่าไม่ให้เปิดสัมปทานรอบ 21 ทันที โดยมีความเห็นแตกออกเป็นหลายประเด็น ทางที่เป็นไปได้ สปช. ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน แต่หากรัฐบาลจะเร่งจะตัดสินใจโดยเร่งด่วนก็ต้องถือเป็นการตัดสินใจเองของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอผลการรับฟังความคิดของประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 หากดูในรายละเอียดจะพบว่า สปช. ที่มาจากต่างจังหวัดก็ลงมติไม่เห็นด้วย แปลว่าก็มีการรับฟังความเห็นของประชานในพื้นที่ที่กังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชน และเสียงของ สปช. ที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นเสียงที่มีน้ำหนัก โดยตนยังเชื่อว่ารัฐบาลจะยอมรับฟัง เฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า อยากฟังเสียง สปช. ในเรื่องนี้

“แม้ที่ประชุมจะไม่ได้มีมติให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทาน แต่โดยนัยยะก็เห็นชัดว่า อยากให้มีการปฏิรูป หากยังใช้ระบบสัมปทานแล้วจะปฏิรูปอย่างไร แม้จะเปิดทางให้มีการศึกษาระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อใช้ในการพิจารณาให้สัมปทานรอบต่อไป แต่อย่าลืมว่า สัมปทานรอบที่ 21 จะกินเวลาถึง 29 ปี เป็นอย่างน้อย และพื้นที่สัมปทานก็แทบจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศอยู่แล้ว ฉะนั้น ก็จะไม่เหมือนได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่หน้าที่ สปช. แต่เป็นของฝ่ายบริหาร การที่รัฐบาลเสนอมา ย่อมหมายว่าเขาต้องการให้ สปช. มีข้อเสนอในเชิงปฏิรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง และกรรมาธิการเสียงข้างน้อยก็ไมได้ปฏิเสธการสัมปทานทั้งหมด แต่เมื่อมติออกมาไม่รับเลยมันก็ลำบาก อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวก็คิดว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากก็ควรมีการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ว่า เมื่อที่ประชุมมีมติอย่างนี้ จะทบทวนโดยการนำเรื่องกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางที่เป็นรูปธรรม หรือจะยืนตามเดิม แล้วอ้างความจำเป็นอย่างเดียว” นายคำนูณ กล่าว

เมื่อถามว่าหากรัฐบาลจะดึงดันเปิดสัมปทานรอบ 21 จะเกิดความขัดแย้งในกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ในกฎอัยการศึก ตนคิดว่าคงไม่มีเหตุความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่ไม่ว่าเป็นรัฐบาลใดควรรับฟังเสียงประชาชน น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประชาชนตื่นตัวเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ตามตนเชื่อมั่นในสติปัญญา วิสัยทัศน์ของพล.อ.ประยุทธ์ที่แม้จะเป็นการปกครองในระบบพิเศษ แต่ก็ต้องยึดหลักการพื้นฐาน คือ รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนที่ เมื่อมีความเห็นออกมาเช่นนี้ รัฐบาลก็ต้องรับฟัง

ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า การยกเลิกให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะยังมีเวลาให้พิจารณาได้ เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันและก๊าซในโลกมีราคาลดลงอย่างมาก โดยหลักคิดเดิมเห็นว่า การให้สัมปทานครั้งที่ 21 นี้ก็เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขุดได้ในประเทศที่จะหมดลง แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกมีราคาต่ำมาก และมีแนวโน้มที่จะราคาต่ำอีกเป็นระยะเวลานานพอสมควร ดังนั้นประเทศไทยยังสามารถนำเข้าน้ำมันและก๊าซได้ในราคาต่ำไปอีกพักใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็คาดหวังให้บริษัทที่ได้สัมปทานเสนอให้ผลประโยชน์แก่รัฐเพิ่มขึ้นคงเป็นไปได้ยาก

“ตอนนี้ราคาพลังงานโลกมีราคาลดลงมาก บริษัทที่เข้ามารับสัมปทานคงไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิมได้ ขนาดผลตอบแทนเดิมก็อาจจะไม่คุ้มด้วยซ้ำ เนื่องจากแหล่งพลังงานของไทยเป็นแหล่งเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่ที่มีปริมาณพลังงานมากๆ ดังนั้นต้นทุนในการนำพลังงานขึ้นมาจะมีราคาสูง เมื่อราคาพลังงานถูกลง ก็อาจจะไม่คุ้มกับการนำขึ้นมาใช้ ซึ่งหากให้สัมปทานไปได้ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ไปมากแล้ว ดังนั้นจึงอยากฝากให้เป็นข้อคิดว่าปัจจุบันสิ่งต่างๆในโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากประเทศไทยไม่ปรับตัวให้ทันก็อาจจะล้าหลังได้” นายพิชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น