xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ดันอันดามันเขตมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (29ธ.ค.) มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานพิจารณาศึกษาเรื่อง การนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามันเป็นเขตมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้พิจารณาเสร็จแล้ว
นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวนำเสนอต่อที่ประชุมว่า การยกให้พื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก ซึ่งอยู่ในโครงสร้างการปฏิรูปแบบควิกวิน ด้วยหลักการที่ว่าทะเลอันดามันมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย ทั้งด้านธรณีสัณฐาน ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้เข้าประเทศ 3 –4 แสนล้านบาทต่อปี หรือเป็นรายได้เกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ โดย 10 ปีที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีแนวคิดที่จะเสนอให้เป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก้ และอยู่ในบัญชีรายชื่อมาตั้งแต่ปี 2547 แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการผลักดันขับเคลื่อนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการได้มอบหมายให้นายธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เป็นประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งได้ไปศึกษาโอกาส และผลดีต่อประเทศ
ซึ่งประโยชน์ที่จะได้กับประเทศไทยนั้น โดยเฉพาะภาคใต้ทั้ง 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน คือ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ทางทะเลมากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร จะเป็นมรดกโลกทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย อีกทั้งเป็นประโยชน์ในแง่การศึกษาวิจัยทรัพยากรธรรมชาติ และทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ ตามมาอีกจำนวนมาก รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติจะขยายตัวขึ้นอีกมาก แต่หากยังชะลอโครงการต่อไป จะเกิดผลเสียต่อทรัพยากรทางทะเล อาทิ แนวปะการัง ที่เสื่อมโทรมลง ทั้งโดยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ รวมทั้งเสียโอกาสที่จะยกระดับพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
นายธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนอันดามันเป็นมรดกโลก ยังอยู่ในขั้นตอนการแสดงเจตจำนงต่อยูเนสโก้เท่านั้น ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติก่อน เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณา และมีมติดำเนินการตามที่เสนอก่อนเดือนมีนาคม 2558 เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลก จะรับเรื่องพิจารณาครั้งสุดท้าย ภายในวันที่ 15 เมษายน 2558 หากล่าช้าต้องรอต่อไปอีก 1 ปี
ส่วนกระบวนการสอบขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อาจต้องใช้เวลาอีก 3 ปีเป็นอย่างน้อย กว่าจะผ่านการพิจารณาเป็นมรดกโลกได้ ส่วนทะเลอันดามันในพื้นที่ประเทศพม่านั้น ทางการพม่าได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกก่อนหน้าไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีการอนุมัติ ก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นเพื่อดูแลผลประโยชน์ร่วมกันของ 2 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้แสดงความเห็นด้วย อาทิ นายจรัส สุทธิกุลบุตร สมาชิก สปช. กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการจัดการดูแลควบคุมเป็นระบบมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะได้รับความสนใจและความร่วมมือจากต่างประเทศในการร่วมกันอนุรักษ์ โดยเฉพาะผลดีในเรื่องการศึกษาด้านวิชาการ เพราะพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามัน มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เพียง 6 จังหวัด ในพื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงไปยังจังหวัดใกล้ เคียงอีกด้วย และจากการที่ได้ลงพื้นที่สอบถามความเห็นประชาชนใน จ.พะเยา ซึ่งส่วนใหญ่ยินดีและสนับสนุนเสนอพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามัน เป็นพื้นที่มรดกโลก
ขณะที่ สมาชิกบางส่วนก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อการประกาศเป็นเขตมรดกโลก โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ มองว่า ไม่ใช่แค่การดึงดูดการท่องเที่ยว แต่จะเป็นการดึงเอาองค์การต่างประเทศเข้ามาผูกมัดแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรหรือไม่
ส่วนนายโกวิท ศรีไพโรจน์ สมาชิก สปช. กล่าวว่า ควรมีการหารือทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการกำหนดเขตอุทยาน เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ กลับกลายเป็นว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ไปกำหนดเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งการเรียกค่าบำรุงอุทยาน และอาจเป็นปัญหาทุจริตเงินค่าธรรมเนียมได้อีก
นายนำชัย กฤษณาสกุล สมาชิก สปช. กล่าวว่า การตัดสินใจที่จะให้อันดามันเป็นมรดกโลก จะต้องเลือกระหว่างการอนุรักษ์ กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน เพราะเกิดความขัดแย้งกันเอง ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนในเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากเพิ่งมีการค้นพบว่า ทะเลอันดามัน เป็นแหล่งฟอสซิลที่มีอยู่ถึง 5 ยุค ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ รวมถึง นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. ที่ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่การผลัดดันอันดามันเป็นมรดกโลก จึงเกิดปัญหามาหลายรัฐบาลที่ไม่สามารถผลักดันได้ และมองว่า การจะผลักดันเรื่องนี้ ควรจะได้รับความเห็นร่วมจากฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้การผลักดันไม่เสียเปล่าต่อไปอีก
เช่นเดียวกับ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิก สปช. ที่เห็นว่า การศึกษารายงานข้อมูลของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกับ 17 อุทยานแห่งชาติทางทะเล ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ เพราะอันดามัน นอกจากเป็นแหล่งของธรรมชาติแล้ว ยังเป็นที่อาศัยของชนเผ่าที่อยู่มาแต่เดิมโดยรอบ อาทิ ชนเผ่ามอร์แกน ชนเผ่าซาไก การศึกษารายงานของคณะกรรมาธิการ ไม่ได้คำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในส่วนนี้ ซึ่งการจะขึ้นทะเบียนเป็นทรัพยากรมรดกโลกแห่งแรก ควรมีความพร้อมในการศึกษารายงาน และสร้างจิตสำนึก ความเข้าใจให้มากกว่านี้
จากนั้น ที่ประชุมก็ได้มีการลงมติตามข้อบังคับการประชุมด้วยเสียง 187 ต่อ 10 งดออกสียง 11 เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรี มีการผลักดัน อันดามัน เป็นเขตมรดกโลก พร้อมกับเห็นควร 196 เสียง ให้มีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมในรายงานตามที่สมาชิกตั้งข้อสังเกต ให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องประโยชน์ต่อการปฏิรูปในด้านใด การเน้นระบบจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรเป็นการภายใน การสร้างความเข้าใจกับในพื้นที่ก่อนเสนอต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น