xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เห็นชอบเสนอ ครม.ชง “อันดามันเป็นเขตมรดกโลก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปช. ลงมติเห็นชอบเสนอ ครม. ผลักดัน อันดามันเป็นเขตมรดกโลก “ปราโมทย์” เชื่อหากสำเร็จไทยจะได้รับผลประโยชน์อื้อ ด้าน “ธรณ์” แนะเร่งเสนอ ยูเนสโกก่อน มี.ค. 58 เหตุพม่าชิงยื่น กก.มรดกโลกตัดหน้าไทย ต้องตั้ง กก.ร่วมดูแลผลประโยชน์ ด้านสมาชิกห่วงกระทบเศรษฐกิจประเทศ ดึงองค์กรต่างชาติผูกมัดแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรไทย แนะทำความเข้าใจชุมชนในพื้นที่


การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม วันนี้ (29 ธ.ค.) พิจารณารายงานพิจารณาศึกษาเรื่อง การนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามันเป็นเขตมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้พิจารณาเสร็จแล้ว

นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวนำเสนอต่อที่ประชุมว่า การยกให้พื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นมรดกโลก ซึ่งอยู่ในโครงสร้างการปฏิรูปแบบควิกวิน ด้วยหลักการที่ว่าทะเลอันดามันมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยทั้งด้านธรณีสัณฐาน ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้เข้าประเทศ 3 - 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือเป็นรายได้เกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ โดย 10 ปีที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชมีแนวคิดที่จะเสนอให้เป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก และอยู่ในบัญชีรายชื่อเมาตั้งแต่ปี2547 แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการผลักดันขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการได้มอบหมายให้ นายธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เป็นประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ไปศึกษาโอกาสและผลดีต่อประเทศ

ซึ่งประโยชน์ที่จะได้กับประเทศไทยนั้น โดยเฉพาะภาคใต้ทั้ง 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน คือ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ทางทะเลมากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร จะเป็นมรดกโลกทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย อีกทั้งเป็นประโยชน์ในแง่การศึกษาวิจัยทรัพยากรธรรมชาติ และทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ ตามมาอีกจำนวนมาก รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติจะขยายตัวขึ้นอีกมาก แต่หากยังชะลอโครงการต่อไปจะเกิดผลเสียต่อทรัพยากรทางทะเล อาทิ แนวปะการัง ที่เสื่อมโทรมลงทั้งโดยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ รวมทั้งเสียโอกาสที่จะยกระดับพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล

ด้าน นายธรณ์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนอันดามันเป็นมรดกโลก ยังอยู่ในขั้นตอนการแสดงเจตจำนงต่อยูเนสโก้เท่านั้น ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติก่อน เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติดำเนินการตามที่เสนอก่อนเดือนมีนาคม 2558 เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลก จะรับเรื่องพิจารณาครั้งสุดท้ายภายในวันที่ 15 เม.ย 2558 หากล่าช้าต้องรอต่อไปอีก 1 ปี ส่วนกระบวนการสอบขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อาจต้องใช้เวลาอีก 3 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าจะผ่านการพิจารณาเป็นมรดกโลกได้ ส่วนทะเลอันดามันในพื้นที่ประเทศพม่านั้น ทางการพม่าได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกก่อนหน้าไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีการอนุมัติก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นเพื่อดูแลผลประโยชน์ร่วมกัน 2 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้แสดงความเห็นด้วย อาทิ นายจรัส สุทธิกุลบุตร สปช. กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการจัดการดูแลควบคุมเป็นระบบมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะได้รับความสนใจและความร่วมมือจากต่างประเทศในการร่วมกันอนุรักษ์ โดยเฉพาะผลดีในเรื่องการศึกษาด้านวิชาการ เพราะพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามัน มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เพียง 6 จังหวัด ในพื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย และจากการที่ได้ลงพื้นที่สอบถามความเห็นประชาชนใน จังหวัดพะเยา ซึ่งส่วนใหญ่ยินดีและสนับสนุนเสนอพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามัน เป็นพื้นที่มรดกโลก

ขณะที่ สมาชิกบางส่วนก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อการประกาศเป็นเขตมรดกโลก โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ มองว่า ไม่ใช่แค่การดึงดูดการท่องเที่ยว แต่จะเป็นการดึงเอาองค์การต่างประเทศเข้ามาผูกมัดแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรหรือไม่ ส่วน นายโกวิท ศรีไพโรจน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ควรมีการหารือทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการกำหนดเขตอุทยาน เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ กลับกลายเป็นว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ไปกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งการเรียกค่าบำรุงอุทยาน และอาจเป็นปัญหาทุจริตเงินค่าธรรมเนียมได้อีก

นายนำชัย กฤษณาสกุล สปช. กล่าวว่า การตัดสินใจที่จะให้อันดามันเป็นมรดกโลก จะต้องเลือกระหว่างการอนุรักษ์กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือทะเลน้ำลึกฝั่งอันดามัน เพราะเกิดความขัดแย้งกันเอง ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนในเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากเพิ่งมีการค้นพบว่าทะเลอันดามันเป็นแหล่งฟอสซิลที่มีอยู่ถึง 5 ยุค ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ รวมถึงนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่การผลัดดันอันดามันเป็นมรดกโลก จึงเกิดปัญหามาหลายรัฐบาลที่ไม่สามารถผลักดันได้ และมองว่าการจะผลักดันเรื่องนี้ ควรจะได้รับความเห็นร่วมจากฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้การผลักดันไม่เสียเปล่าต่อไปอีก

เช่นเดียวกับ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เห็นว่า การศึกษารายงานข้อมูลของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกับ 17 อุทยานแห่งชาติทางทะเล ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ เพราะอันดามัน นอกจากเป็นแหล่งของธรรมชาติแล้ว ยังเป็นที่อาศัยของชนเผ่าที่อยู่มาแต่เดิมโดยรอบ อาทิ ชนเผ่ามอแกน / ชนเผ่าซาไก การศึกษารายงานของคณะกรรมาธิการไม่ได้คำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในส่วนนี้ ซึ่งการจะขึ้นทะเบียนเป็นทรัพยากรมรดกโลกแห่งแรกควรมีความพร้อมในการศึกษารายงาน และสร้างจิตสำนึก ความเข้าใจให้มากกว่านี้

จากนั้น ที่ประชุมก็ได้มีการลงมติตามข้อบังคับการประชุมด้วยเสียง 187 ต่อ 10 งดออกสียง 11 เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีมีการผลักดัน อันดามันเป็นเขตมรดกโลก พร้อมกับเห็นควร 196 เสียง ให้มีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมในรายงานตามที่สมาชิกตั้งข้อสังเกตให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องประโยชน์ต่อการปฏิรูปในด้านใด การเน้นระบบจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรเป็นการภายใน การสร้างความเข้าใจกับในพื้นที่ก่อนเสนอต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป









กำลังโหลดความคิดเห็น