xs
xsm
sm
md
lg

สปช.สั่งทำการบ้าน อภิปรายร่าง รธน. ยันอิสระค้านต้องแจงเหตุ ต้นฤดูฝนถกประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน สปช.เผยหลังรับร่าง รธน. เริ่มอภิปราย 20-26 เม.ย. ยันจะกรองให้ดีที่สุด ขอสมาชิกทำการบ้าน อย่าให้ผิดกติกา พร้อมให้อิสระไร้โพย คาดใช้เวลา 6 วันถกให้เกิดประโยชน์สูงสุด รับ กมธ.ยกร่างฯ ไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอหมด แต่ต้องแจงเหตุผล ส่วนประชามติหรือไม่พิจารณาต้นฤดูฝนนี้ ชี้หลายส่วนตื่นปฏิรูป สปช.จะทำแบบเดิมไม่ได้



วันนี้ (19 มี.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงการเตรียมการรับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า หลังจากรับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 17 เม.ย.แล้ว สปช.จะประชุมและเริ่มอภิปรายรายมาตราตั้งแต่วันที่ 20-26 เม.ย. ยกเว้นวันที่ 23 เม.ย.ที่จะมีการประชุม สนช.ในช่วงเช้า จากนั้น สปช.จะประชุมต่อในเวลา 14.00 น. ส่วนการจัดสรรเวลาอภิปรายกำลังดำเนินการหารือกันอยู่

“เราจะกรอง สังเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดีที่สุด ภายในกรอบเวลาที่จำกัด คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดให้อภิปรายรายมาตราได้ไม่เกิน 10 วัน ซึ่ง สปช.ทุกคนก็จะต้องจับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปชุดที่ตนเองสังกัด โดยเฉพาะภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดองจะมีความสำคัญเป็นพิเศษ ที่ต้องส่งต่อให้กับรัฐบาลที่เข้ามาหลังการเลือกตั้งรับไปดำเนินการต่อเนื่องให้สำเร็จ กรรมาธิการในส่วนนี้จะต้องพิจารณาให้รอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์ โดยขอให้สมาชิกทุกคนทำการบ้าน เพราะนับจากเสร็จสิ้นการอภิปรายเรามีเวลาอีก 30 วันที่ สปช.จะยื่นญัตติขอปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากมีกติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไว้ว่าจะต้องมีจำนวนสมาชิกที่รับรอง และผู้รับรองยื่นซ้ำไม่ได้ เป็นต้น จึงต้องดูให้ดีอย่าทำให้ผิดกติกา”

ประธาน สปช.กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูป 18 คณะจะเดินหน้าอภิปรายในเนื้อหาของตนตามกรอบ ส่วนอีก 5 คณะที่ทำภารกิจร่วม เช่น กมธ.เรื่องการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็น กมธ.กิจการประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป กมธ.ติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่เสริมด้วยการดำเนินการรับฟังความเห็นในพื้นที่ระดับอำเภอ รวมทั้งกลุ่มประชากรต่างๆ แล้วประมวลสังเคราะห์มาได้ระดับหนึ่งก็จะนำความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการอภิปรายซึ่งรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ภาคน้ำหนักไม่เท่ากัน บางภาคเป็นกติกาพื้นฐานของประเทศที่เหมือนกันไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญฉบับไหน อาจใช้เวลาอภิปรายไม่มาก ส่วนภาคที่เป็นการเปลี่ยนแปลงกติกาของประเทศนั้นจะต้องเปิดกว้างให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเป็นอิสระ ไม่มีโพย บางความเห็นอาจไม่ตรงกันก็ได้

นายเทียนฉายกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ อาจไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอของ สปช.ทั้งหมด แต่ต้องชี้แจงหลักการ เหตุและผลว่าจะทำตามหรือไม่ทำตามได้ นี่คือประชาธิปไตยที่ดี และหาก กมธ.ยกร่างฯ ไม่เอาด้วย สปช.เองก็ต้องพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลเหมือนกันว่าจะรับหรือไม่รับทั้งร่างฯ ไม่ใช่พิจารณาด้วยอารมณ์ ซึ่งจะเห็นการลงมติในราวๆ สิงหาคมหรือกันยายนปีนี้ “เขารับฟังแน่ แต่จะเชื่อฟังหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุและผล” ประธาน สปช.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สปช.จะต้องแปรญัตติเป็นประเด็นตามคณะกรรมาธิการที่สังกัดหรือไม่ ประธาน สปช.กล่าวว่าจะไม่มีการล็อกสิทธิ์ตรงนั้น ทุกคนดูภาพรวมได้ เพียงแต่หลายคนมีภารกิจเฉพาะ แต่เขาก็อภิปรายเรื่องอื่นก็ได้

ต่อข้อถามถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายเทียนฉายกล่าวว่า คงจะไปพิจารณาอีกครั้งราวต้นฤดูฝน แต่ทุกฝ่ายจะต้องรับรู้ตรงกันว่าหากจะมีการทำประชามติจะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน แล้วถ้าจะมีเงื่อนไขว่าหากประชามติไม่ผ่านแล้วจะเป็นอย่างไร เช่น เอาฉบับไหนมาแทน หรือไม่ก็อยู่ที่ตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั่น

ประธาน สปช.กล่าวว่า นอกจากเรื่องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว วาระของการปฏิรูป 36 ด้าน และวาระพัฒนา 7 ด้านที่ต้องขับเคลื่อนนั้น สิ่งที่เป็นห่วงคือแนวคิดการปฏิรูปไม่ได้ปรากฏเฉพาะในสภาปฏิรูปเท่านั้น แต่ปรากฏตามกระทรวง ทบวง กรมและกลุ่มคนต่างๆ เป็นนิมิตที่บอกว่าทุกคนตื่นแล้ว เราจะปฏิบัติตัวแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว ต้องปรับตัวเองเพื่อแก้ไขสิ่งที่ยังไม่ดีให้ดีขึ้น ปรับตัวรองรับโลกข้างหน้า แต่ก็เกิดคำถามใหม่ขึ้น ว่าจะทำให้แนวคิดของสภาปฏิรูปสอดคล้องหรือไม่ขัดแย้งกับส่วนอื่นอย่างไร ในแม่น้ำ 5 สายคุยกันว่าจะต้องมีการประสานงานสองระดับ ทั้งกระบวนการเป็นทางการ กับแบบเป็นการภายใน ซึ่งต้องเตรียมการล่วงหน้า เช่น กระซิบบอกว่ากำลังจะส่งเรื่องไปยัง สปช.แล้วให้เตรียมรับ รวมทั้ง ครม.ก็ต้องเตรียมรับไปเวียนถามความเห็นกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งประเด็นปฏิรูปแบบควิกวิน ส่งไปถึงรัฐบาลต้องรีบดำเนินการ กระทรวง ทบวง กรมจะได้ไม่ตกใจว่าไม่เคยเห็นเรื่องนี้มาก่อน และหากบังเอิญเป็นเรื่องที่กระทรวง ทบวง กรมเตรียมการปฏิรูปด้วยก็จะได้ดูว่ามีทางพิจารณาร่วมกันให้เนื้อหาสนิทเป็นเนื้อเดียวกันจะได้ไม่เกิดความขัดแย้ง

ส่วนประเด็นปฏิรูปทั้ง 36 ประเด็นนั้น คณะกรรมาธิการทุกคณะได้ส่งมาที่ประธานแล้วเมื่อ 27 ก.พ. ขณะนี้คณะทำงานของประธานสภาเก็บประเด็นไปวิเคราะห์ ว่า 1. พร้อมดำเนินการทำแผนปฏิรูปได้ หรือ 2. ยังต้องปรุงแต่งเสริมให้สมบูรณ์ หรือ 3. อาจยังไม่ตรงประเด็นต้องปรับจูนอีก ซึ่งจะเอาเข้าที่ประชุม สปช. เพื่อขอความเห็นก่อนว่าจัดกลุ่มถูกต้องหรือไม่ และทยอยเข้าตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และสัปดาห์ต่อไปนี้ก็จะเป็นวาระที่ใหญ่มากของสภาปฏิรูปซึ่งบังเอิญเจอวันหยุดมากทำให้จำเป็นต้องเปิดประชุมจันทร์ อังคาร พุธ 3 วันเต็ม มีวาระพิจารณาเข้มข้นมาก เช่น เรื่องระบบการงบประมาณท้องถิ่น ระบบสาธารณสุขทั้งระบบ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น