xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ลดดอกเบี้ยคลายกดดันไม่ใช่ขาลง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยการลดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ครั้งล่าสุด ไม่ไช่การส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาลง แต่ช่วยผ่อนคลายทางการเงิน ประคองเศรษฐกิจ พร้อมปรับลดได้อีกถ้าจำเป็น เผยพอใจแบงก์พาณิชย์สนองตอบปรับลดดอกเบี้ย ย้ำต้องใช้นโยบายด้านอื่นด้วย ส่วนแนวคิด สปช.ตั้งองค์กรใหม่ดูแลสหกรณ์ ธปท.เห็นด้วย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเด็นภาคเอกชนชะลอการลงทุน เพื่อรอดูทิศทางดอกเบี้ยขาลงนั้นต้องเข้าใจว่าการตัดสินนโยบายการเงินมีการถ่วงดุลคณะบุคคลและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)กรรมการแต่ละคนมีหลักการวิเคราะห์ตัวเอง จึงมีความเห็นตรงและต่างกันบ้าง แต่บางเรื่องที่เห็นตรงกัน คือ ในยามนี้นโยบายการเงินต้องการผ่อนคลาย เพื่อช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนเอกชนยังไม่เกิดขึ้นขณะนี้เพราะภาคธุรกิจบางรายอาจยังไม่กล้าขยายกำลังการผลิตเมื่อดูจากยอดขาย หรือบางรายรอดูการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และบ้างก็รอดูความต่อเนื่อง ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นหลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย
นายประสารกล่าวว่า ไม่อยากให้ฟันธงว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาลง แต่ที่แน่ๆ นโยบายการเงินของไทยยังไม่หมดกระสุน ถ้าจำเป็นต้องใช้ ไม่มีปัญหา จึงไม่ต้องกังวล
“ที่ผ่านมาการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าคาดการณ์ไว้มาก ในการประชุมของ กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมาเป็นเหตุผลหลักนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% แตะที่ระดับ 1.75%ต่อปี ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจ ต่างกับช่วง 3-4 เดือนก่อนหน้านี้ กนง.มองว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้น”
ส่วนภาพรวมผลต่อตลาดการเงินและภาคธุรกิจตอบสนองทิศทางบวก ซึ่งผ่านไป 1 สัปดาห์ หลังปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทางธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับตัว ถือว่าไม่ช้ากว่าเรามองไว้ ดังนั้น การนโยบายการเงินมีข้อจำกัดเชิงของผลและต้องระมัดระวังในการใช้จังหวะเหมาะสมด้วย เหมือน กนง.ย้ำเสมอว่าต้องทำด้านอื่นประกอบด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่ง

**ลดดบ.-ปัจจัยตปท.ทำบาทอ่อน**
ยอมรับว่าในการประชุมบอร์ดกนง.ที่ผ่านมาได้หารือประเด็นลดดอกเบี้ย เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งหลังประกาศลดดอกเบี้ย ทำให้เงินบาทอ่อนค่า แต่ในช่วง 1-2 วันหลังจากนั้นมีปัจจัยต่างประเทศอย่างเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น จึงมีผลต่อเงินบาทด้วย อย่างไรก็ตาม แม้การฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐชัดเจนขึ้นต่างกับเศรษฐกิจไทย แต่การเคลื่อนย้ายเงินทุนยังปกติ
โดยบางช่วงไหลเข้าหรือออกเล็กน้อย แต่ไม่ได้เอียงด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันเกินดุลบัญชีเดินสะพัดผลจากค่าใช้จ่ายน้ำมันลดลงค่อนข้างมาก
หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกแถลงการณ์ครั้งล่าสุดว่าจะยังคงดอกเบี้ยต่อไป ทำให้ประเทศต่างๆ เบาใจระดับหนึ่ง ซึ่งกังวลว่าจะมีผลต่อตลาดการเงินประเทศต่างๆ จึงมองว่าไทยควรสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาคควรมีความสมดุลไม่เปราะบาง อีกทั้งสร้างเครื่องมือนโยบายต่างๆ ยืดหยุ่นรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีรับมือตลาดการเงินระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเงินทุนสำรองทางการช่วยเสริมความเชื่อมั่น
ทั้งนี้ ที่ประชุมสอบถามมากเกี่ยวกับการโอนอำนาจกำกับดูแลสถาบันการเงินรัฐมายัง ธปท.พร้อมทั้งสอบถาม ธปท.หารือร่วมกันคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) เกี่ยวกับพระราชบัญญัติเก็บเงินนำส่งอย่างไร ส่วนการโอนอำนาจกำกับดูแลเรื่องยังมาไม่ถึงธปท. คาดว่าอยู่ระหว่างเสนอกันเองภายในกระทรวงการคลัง ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ชะลอโอนอำนาจดังกล่าว ตนยังไม่เห็นอย่างเป็นทางการ เพราะเรื่องทุกอย่างให้เสนอผ่านซุปเปอร์บอร์ดได้เลย

**ตั้งองค์กรใหม่กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ **

เมื่อวานนี้ (19มี.ค.) คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เชิญผู้ว่าการธปท.แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการปฏิรูประบบการเงินและสถาบันการเงิน
นายประสาร กล่าวว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากกว่าข้อเสนอ ส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็นไม่ต่างกันมากและย้ำว่าต้องให้กำลังใจซึ้งกันและกัน เพราะสิ่งทำไม่ใช่ประสบความสำเร็จง่ายๆ โดยสอบถาม 2 ส่วน ส่วนแรกปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของประเทศมองว่าควรส่งเสริมความสามารถแข่งขันของเศรษฐกิจไทย หลีกเลี่ยงนโยบายประชานิยมไม่รับผิดชอบ
ป้องกันคอรัปชั่่นและแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ส่วนสองกรรมการให้ความสำคัญพัฒนาการสหกรณ์ออมทรัพย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และพัฒนาการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
ทั้งนี้ กรรมการเสนอตั้งองค์กรใหม่ทำหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งธปท.เห็นด้วย ถ้าทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเห็นตัวอย่างที่ไปได้ดีและไม่เป็นตามคาดหวัง ส่วนให้ธปท.ดูแลโดยตรงคงไม่ได้ เพราะปัจจุบันธปท.มีภาระกิจค่อนข้างเยอะ อีกทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศมีถึง 1,400 แห่ง ซึ่งขนาดใหญ่มี 108 แห่ง
ถือว่าเนื้องานค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ส่งเจ้าหน้าที่อบรมฝ่ายตรวจสอบ ธปท.และอนาคตจะส่งไปยังธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งกำลังเจรจาสมาคมธนาคารไทย.
กำลังโหลดความคิดเห็น