xs
xsm
sm
md
lg

เล็งจัดตั้ง “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแทนกระทรวงการคลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รมว.คลัง” เผยที่ประชุม “ซูเปอร์บอร์ด” วันนี้นัดหารือตั้ง “องค์กรพิเศษ” ขึ้นใหม่เพื่อกำกับดูแลและบริหารงาน “รสก.” ทั้งหมด หวังใช้สกัดนักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยจะเร่งศึกษารูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสม แย้มอาจยึด “ธปท.” เป็นต้นแบบ

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย และกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด วันที่ 2 มี.ค.2558 จะมีการหารือถึงการตั้งองค์กรพิเศษใหม่ขึ้นมากำกับดูแล และบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ารูปแบบใดมีความเหมาะสม และเป็นเรื่องที่ยังต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า องค์กรพิเศษที่จะตั้งขึ้นมามีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่น่าเป็นไปได้ที่สุดที่จะมีการหารือกับในซูเปอร์บอร์ด คือ การตั้งเป็นองค์กรอิสระในรูปแบบบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง โดยจะเป็นผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแทน กระทรวงการคลัง พร้อมกันนี้ ก็จะรวบอำนาจการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้กับซูเปอร์โฮลดิ้งทั้งหมด เพื่อให้การบริหางานมีเอกภาพ และไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซง หรือแสวงหาผลประโยชน์

“ซูเปอร์โฮลดิ้งจะมีอำนาจในฐานะผู้ถือหุ้น แต่งตั้งกรรมการ และผู้บริหารที่เหมาสมเข้าไป รวมถึงเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติงานของรัฐวิสากิจด้วย โดยจะมีการออกแบบให้การเมืองแทรกแซงซูเปอร์โฮลดิ้งไม่ได้ง่ายๆ เช่น การปลดกรรมการผู้จัดการซูเปอร์โฮลดิ้ง จะต้องมีความผิดร้ายแรงถึงจะทำได้ เหมือนกับปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่ใช่คิดจะปลดก็ปลดโดยให้เหตุผลเพื่อความเหมาะสมเท่านั้น”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งมาบริหารรัฐวิสาหกิจจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ ทั้งสาขาขนส่ง พลังงาน การสื่อสาร รวมถึงสถาบันการเงิน ที่อำนาจกระจายอยู่ในกระทรวงต้นสังกัด ทั้งที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้น แต่กลับไม่มีอำนาจบริหาร หรือส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการ ปัญหาดังกล่าวก็จะหมดไป

อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์บอร์ดจะมีการหารือถึงการตั้งหน่วยงานอิสระรูปแบบอื่นด้วย เช่น การตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมาใหม่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการเมืองจะแทรกแซงได้ง่าย

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบหน่วยงานอิสระเหมือนกับ ธปท. หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่ก็มีข้อเสียว่าจะทำหน้าที่กำกับได้อย่างเดียว แต่ไม่มีอำนาจเข้าไปบริหาร ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐวิสาหกิจที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง หนึ่งในกรรมการซูเปอร์บอร์ด แสดงความเห็นว่า ต้องรับฟังความคิดของกรรมการซูเปอร์บอร์ด ว่า ส่วนใหญ่เห็นว่ารูปแบบไหนเหมาะสม ในส่วนของกระทรวงการคลัง ก็ต้องเตรียมข้อมูลให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณาว่า หากมีการตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งขึ้นมาดูแลรัฐวิสาหกิจแบบเบ็ดเสร็จ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะมีบทบาทหน้าที่อย่างไรต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานฐานะของรัฐวิสาหกิจ 9 สาขา จำนวน 55 แห่ง ณ เดือน มิ.ย.2557 พบว่า มีทรัพย์สินรวมกัน 11.8 ล้านล้านบาท มีหนี้สิน 9.33 ล้านล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 1.36 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายการดำเนินงาน 1.21 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7.1 หมื่นล้านบาท มีเงินนำส่งรัฐในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา 1.36 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น