ศาลฎีกายกฟ้อง “สมหมาย ภาษี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับพวกรวม 5 คน ไม่ผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สั่งพักงานอดีตรอง ผอ.บริษัท ไทยเดินเรือทะเล เมื่อปี 47 ชี้กระทำตามอำนาจหน้าที่
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณาคดี 802 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่หมายเลขดำ อ.2633/2548 ที่นายทัศพงศ์ วิชชุประภา อดีตรองผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตประธานสภากรรมการบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) นายสมพร แก้วงาม, นายนพพร เทพสิทธา, นายจิระเสกข์ ตรีเมธสุนทร และนายเตชะ บุณยะชัย ทั้งหมดเป็นกรรมการบริษัทไทยเดินเรือฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยขอให้ลงโทษฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2547 จำเลยทั้งห้ามีมติให้พักงานโจทก์โดยการอาศัยบัตรสนเท่ห์กล่าวหาโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งๆ ที่อยู่ในขั้นตอนสอบข้อเท็จจริงจากบัตรสนเท่ห์ ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า โจทก์มิได้ทุจริตเห็นควรยุติเรื่องโดยรายงานสรุปความเห็นให้จำเลยทราบ แต่พวกจำเลยกลับมิได้ดำเนินการอย่างไรกับโจทก์ที่ถูกสั่งพักงานไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และขาดรายได้เลี้ยงชีพเป็นเวลา 8 เดือน นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ยังลงนามสั่งพักงานโจทก์ โดยไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจในการสั่งพักงานประจำเป็นอำนาจของ ผู้อำนวยการบริษัท ไทยเดินเรือฯ จำกัด ตามระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง ฯลฯ พุทธศักราช 2540 ข้อ 42 ต่อมาจำเลยที่ 1 กับพวกยังพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงขึ้นใหม่โดยเปลี่ยนข้อเท็จจริงจากการกล่าวหาโดยบัตรสนเท่ห์เป็นกล่าวหาโดย นาวาตรีปรารมภ์ โมกขะเวส อดีตผู้อำนวยการบริษัท ไทยเดินเรือฯ เพิ่มเติมในรายงานการประชุมของสภากรรมการของบริษัทในวันที่ 2 เมษายน 2548 ที่ได้มีการรับรองรายงานการประชุมไปแล้ว อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและกลับไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวน การกระทำของจำเลยกับพวกมีเจตนาทุจริตกลั่นแกล้งโจทก์และปกปิดการกระทำผิดในการที่สั่งพักงานโจทก์ที่ผิดพลาด เป็นการกระทำโดยมิชอบ เหตุเกิดที่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อปี 2550 ให้จำคุกจำเลยที่ 1-5 คนละ 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยมีคุณงามความดี จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี แต่พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะร้ายแรง โทษจำคุกจึงไม่รอลงอาญา ขณะที่เมื่อปี 2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย
โดยในวันนี้จำเลยทั้ง 5 คน พร้อมทนายความและผู้ติดตามได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาล
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ตามปกติ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องจำเลย