ผ่าประเด็นร้อน
การเร่งรัดแก้ไขปัญหาความยากจนของคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าไปเมื่อวันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในที่ประชุมได้เชิญตัวแทนจากธนาคารของรัฐมาให้ความเห็นว่าจะสามารถช่วยเหลือแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการหาทางบรรเทาเรื่องหนี้สิน รวมทั้งสาเหตุของความยากจนอื่นๆ เช่นเรื่องภัยแล้ง เป็นต้น
นอกเหนือจากนี้ยังเกี่ยวเนื่องจากนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อช่วยแก้ปัญหา เช่นการทำให้ราคาสินค้าการเกษตรมีราคาดีขึ้น ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายเพิ่ม มีกำไรอย่างยั่งยืน ก็จะช่วยลดความยากจนลงมา นั่นเป็นภาพรวมๆที่สะท้อนออกมาให้เห็น
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเรื่องดังกล่าวที่เพิ่งมีการประชุมเร่งรัดการแก้ปัญหากันไปนั้น แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของฝ่ายอำนาจรัฐ ซึ่งรวมถึงรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พยายามแก้ปัญหาโดยใช้กลไกของรัฐเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของรัฐที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือเรื่องหนี้สิน ฝ่ายกองทัพจะเข้ามาดูแลช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำการแก้ปัญหาบรรเทาเรื่องภัยแล้ง
ก่อนหน้านี้ก็มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง กำลังอนุมัติงบประมาณอีกประมาณกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อเติมเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 7 พันแห่งที่ผ่านการตรวจสอบและมีผลการดำเนินการที่ดี รวมไปถึงเข้าไปปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพแล้วค่อยเติมเงินเข้าไป ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นการเสริมสร้างอาชีพ ลดความยากจน ขณะเดียวกันยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปถึงระดับฐานรากได้อีกทางหนึ่ง
อีกทั้งยังมีการเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนของหน่วยงานรัฐให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น นี่คือภาพรวมๆ สะท้อนให้เห็นว่าความยากจนยังเป็นหัวใจหลักของความมั่นคง ทั้งความมั่นคงของบ้านเมือง หรือแม้แต่ความมั่นคงของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมไปถึงตัวผู้นำเอง ก็เลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาไม่ตก หรือไม่ดีขึ้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง รายได้ตรำและค่าครองชีพสูง ตราบใดที่เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนแล้วไม่ดีขึ้น มันก็ส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปที่กำลังดำเนินการอยู่ ทุกอย่างก็จะล้มเหลวหรือ “สูญเปล่า”
จากรายงานล่าสุดพบว่า ตัวเลขของหนี้ครัวเรือนกำลังพุ่งสูงจนน่าเป็นห่วง มองในอีกมุมหนึ่งด้วยความเป็นธรรม มันเป็นผลต่อเนื่อง เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลก่อน เป็นผลมาจากนโยบายประชานิยมที่สนับสนุนให้ชาวบ้านใช้จ่ายเกินตัว เหมือนอย่างที่ ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำนโยบายประชานิยมมาขยายผลด้วยการใช้เงินหลวงมาแจก เพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง หรือวลี “ต้องเป็นหนี้ก่อนถึงจะรวยได้” ทำให้ความยากจน ปัญหาหนี้สินขยายตัวขึ้นมาแบบพรวดพราดจนแทบเอาไม่อยู่แล้ว มีผลต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะชาวบ้านไม่มีเงินเหลือในการจับจ่าย ไม่มีกำลังซื้อ ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ค่อยได้ผล
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการแก้ปัญหาหนี้สินและภัยแล้งอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศและรัฐบาลรวมทั้ง คสช.แล้ว หากคิดจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนก็ต้องหาทางปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยในเรื่อง “ขยัน อดออมและปลอดอบายมุข” ขณะเดียวกัน ในหน่วยงานรัฐบาล และข้าราชการจะต้องควบคุมป้องปรามการทุจริตกันอย่างจริงจัง เพราะนี่คือปัญหาของการฉุดรั้งการพัฒนา และความยากจนของประเทศ ซึ่งมีการรับรู้กันอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง
ดังนั้น จะว่าไปแล้วในยุคอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือว่ามีโอกาสดีที่สุดแล้ว จะแก้ปัญหาความยากจนที่เป็นปัญหารากฐานของชาติ และนำไปสู่การปฏิรูปทุกภาคส่วน ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริง และความกล้าหาญ ที่จะทำโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พวกพ้องเป็นเรื่องรอง หากมีความสำเร็จหรือมีความก้าวหน้าจนเกิดข้อเปรียบเทียบให้เห็นชัด มันก็ย่อมเป็นเกียรติยศกับคณะผู้นำชุดนี้ด้วย แต่ขณะเดียวกันหากไม่สำเร็จหรือไม่ตั้งใจจริง ทุกอย่างก็ล้มเหลวสูญเปล่า ระบบการเมืองห่วยๆ ก็จะกลับมาอีกหลังการเลือกตั้งในปีหน้า!!