xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งทำก็ยิ่งจน : ชาวนาไทยวันนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ถ้าย้อนเวลาไปในอดีตประมาณ 30 ปีหรือกว่านี้ และในเวลานั้นท่านผู้อ่านเดินไปยังทุ่งนาในฤดูทำนาในช่วงเวลาก่อนเที่ยงวัน ท่านจะได้เห็นคนไถนาโดยใช้แรงงานวัวหรือควาย และในแปลงนาข้างๆ ท่านอาจได้เห็นคนถอนกล้าหรือดำนา แต่ถ้าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวท่านจะได้เห็นคนเกี่ยวข้าวโดยใช้เคียว หรือถ้าเป็นในภาคใต้จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แกะเป็นรวงข้าวแต่ละรวง ข้าวที่เกี่ยวแล้วจะถูกมัดเป็นฟ่อน และที่เก็บด้วยแกะจะถูกมัดเป็นกำเรียกว่า เลียง แล้ววางเรียงไว้บนตาชั่งเพื่อรอการนำไปเก็บในยุ้งฉาง และนำออกมาขายเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นการใช้เงิน หรือนำออกมาแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อการบริโภค และจะขายออกไปทั้งหมดเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวใหม่มาถึง และเหลือไว้เพียงเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก

แต่ในวันนี้ ถ้าท่านผู้อ่านไปยังทุ่งนาจะเห็นคนขับรถไถนาดำนาด้วยใช้เครื่องดำ และถ้าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวก็จะเห็นรถเกี่ยวนวด และบรรจุเมล็ดข้าวใส่กระสอบหรือรถบรรทุกเพื่อนำไปขายที่โรงสีหรือแหล่งรับซื้อข้าวเปลือกที่เรียกว่า ท่าข้าว

เมื่อท่านผู้อ่านนำภาพชาวนาในอดีตมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยใช้สิ่งที่เห็นเป็นประเด็นการเปรียบเทียบ โดยในส่วนลึกก็จะอนุมานได้ว่าชาวนายุคนี้จะสบาย และอยู่กินดีกว่าในยุคก่อนค่อนข้างแน่นอน

แต่ถ้าดูให้ลึกลงไปในรายละเอียดในเรื่องของต้นทุนการผลิต และราคาขาย รวมไปถึงภาวการณ์มีหนี้แล้วก็จะพบว่า ชาวนาในยุคปัจจุบันสะดวกสบายในทางกายภาพคือ ทำนาเหมือนน้อยลง และใช้แรงงานน้อยลงก็จริง แต่ในด้านจิตใจเดือดร้อน และหลายรายเป็นทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตายมาแล้ว ทั้งนี้ด้วยเหตุประการเดียวคือการมีหนี้สิน และเหตุที่ทำให้ชาวนามีหนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความสะดวกสบายที่ท่านเห็นนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ราคาน้ำมันหรือพลังงานอื่นใดซึ่งใช้ในการขับเคลื่อนจักรกลมีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ต้นทุนในการทำนา รวมไปถึงปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่น ปุ๋ย และน้ำยาปราบศัตรูพืชมีแนวโน้มแพงขึ้นด้วย ดังนั้น ต้นทุนการทำนาจะต้องสูงขึ้นตาม

2. ในขณะที่ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น ราคาข้าวเปลือกซึ่งผูกอยู่กับราคา ข้าวสารที่ส่งออกไปต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกข้าวซึ่งเป็นคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม เป็นต้น มีต้นทุนในการทำนาถูกกว่า และแถมผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยจึงสามารถขายในราคาต่ำกว่า จึงทำให้ราคาขายในตลาดโลกถูกลง

3. ถึงแม้รัฐบาลช่วยเหลือชาวนา โดยการเข้าไปแทรกแซงราคาในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น ก็เป็นการช่วยเหลือที่ปลายเหตุ และเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ข้อจำกัดในด้านงบประมาณ และเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สักวันหนึ่งการช่วยเหลือในลักษณะนี้ก็จะต้องเลิก เพราะขืนช่วยในทำนองนี้ต่อไปจะทำให้ประเทศล่มจม เนื่องจากใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นเหตุอ้างให้เกษตรกรแขนงอื่นถือเป็นตัวอย่างขอความช่วยเหลือบ้าง ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของชาวสวนยางพารา ยิ่งกว่านี้โครงการให้ความช่วยเหลือชาวนาจะยิ่งเลวร้าย และเป็นเหตุให้ประเทศหายนะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการรั่วไหลโดยอาศัยความเดือดร้อนของชาวนา ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นข่าวฉาวโฉ่อยู่ในขณะนี้

จากปัจจัย 3 ประการนี้ค่อนข้างเชื่อได้ว่าความทุกข์ของชาวนาจะยังคงมีอยู่ต่อไป ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นทุน และดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องกันจนกว่าปัญหาของชาวนาจะหมดไปอย่างถาวร และการแก้ปัญหาอย่างถาวรน่าจะดำเนินการได้ดังต่อไปนี้

1. รัฐควรจะจัดการปฏิรูปที่ดินเพื่อการทำนา เพื่อให้ชาวนาทุกครอบครัวมีที่ทำกินเป็นของตนเองอย่างน้อยครอบครัวละ 20 ไร่ในเขตชลประทาน และ 50 ไร่ในเขตนอกชลประทาน

ในการจัดหาที่ทำกินให้แก่ชาวนา อาจทำได้หลายวิธีเริ่มตั้งแต่นำที่ดินรกร้างซึ่งเป็นของราชพัสดุมาให้ชาวนาเช่าทำนาในราคาไม่แพงนักไปจนถึงออกกฎหมายเวนคืนที่ดินจากผู้ถือครองที่ดิน แต่ไม่ทำกิจกรรมใดๆ โดยเฉพาะไม่ทำการเกษตร โดยไม่ทำกิจกรรมใดๆ โดยเฉพาะไม่ทำการเกษตรโดยให้ค่าตอบแทนในราคาประเมิน และทำที่ดินมาให้ชาวนาที่ไม่มีที่ทำกินหรือมีแต่น้อยกว่าที่กำหนดเช่าซื้อ โดยผ่อนชำระเป็นรายปีในอัตราที่เคยเช่านาเขาทำ และเมื่อชำระหมดก็ให้โอนเป็นของชาวนา

2. รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ทุ่มงบประมาณค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการทำนาเริ่มตั้งแต่คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และการใช้ปุ๋ยให้สอดคล้องกับสภาพของที่ดิน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอก

3. ควรจะแบ่งเขตการปลูกข้าวแต่ละชนิดให้ชัดเจน โดยมุ่งเน้นทั้งจำนวน และคุณภาพของข้าวที่ปลูกได้เป็นสำคัญ เมื่อทดลองได้ผลแล้วก็ส่งมอบให้ชาวนาไปดำเนินการเพาะปลูกต่อไป

4. ควรจัดให้ชาวนามีการรวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์เพื่อลดต้นทุน โดยใช้เครื่องมือทำการเกษตรร่วมกัน และมีอำนาจต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิตจากผู้ขาย ทั้งนี้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการขายข้าวด้วย

ในส่วนของชาวนาเอง ก็จะต้องมีการปรับตัวเพื่อสนองมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวข้างต้น ด้วยการฝึกตนเองให้อยู่ในกรอบแห่งคุณธรรม 4 ประการดังต่อไปนี้คือ ขยัน อดทน ประหยัด และซื่อสัตย์ต่อตนเอง

โดยสรุป ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาที่ชาวนาประสบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้สินส่วนหนึ่ง หรือส่วนใหญ่ก็ว่าได้เกิดจากตัวชาวนาคือไม่พยายามช่วยตนเองเอาแต่เรียกร้องให้รัฐช่วย และที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือมีความหวังลมๆ แล้งๆ กับโครงการขายฝันของนักการเมืองที่ใช้ชาวนาเป็นเครื่องมือ โดยการมอมเมาให้หลงเชื่อในสิ่งที่จะได้รับโดยการแลกกับการลงคะแนนให้ และนั่งรอ เมื่อรอไม่ไหวก็เดินไปประท้วง และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของม็อบแบมือ และเป็นเหตุให้ประเทศหายนะดังที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว และโครงการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในทำนองนี้

ดังนั้น ถ้าจะให้ชาวนาโดยปลอดหนี้ทั้งชาวนาและรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องเลิกมอมเมาประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม และหันมาแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยยึดความเป็นจริง และประโยชน์อันจะเกิดแก่ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ก็จะแก้ปัญหานี้ได้ แต่อาจต้องใช้เวลาบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น