xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปยางพาราไทย (ตอนจบ) การทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
โดย..สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง

การปลูกยางพารา ต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการคือ พันธุ์ยาง ความเหมาะสมของพื้นที่ และการจัดการสวนยาง พันธุ์ยางที่นิยมปลูก คือ RRIM 600 ซึ่งให้ผลผลิตน้ำยาง 289 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี หากเป็นพื้นที่ลมไม่แรงเลือกพันธุ์ยาง RRIT 251 ซึ่งให้ผลผลิตน้ำยางสูงถึง 346 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี การปลูกยางส่วนใหญ่ใช้ระยะการปลูก 3 × 7 เมตร ปลูกได้ 76 ต้นต่อไร่ เปอร์เซ็นต์น้ำยาง 25-45% ปีหนึ่งกรีด 120 วัน ผลผลิตยางสามารถรีดเป็นยางแผ่น หรือทำยางถ้วยที่เรียกว่าเศษยาง หรือจะเลือกวิธีขายเป็นน้ำยาง ซึ่งจะมีโรงงานรับซื้อ

การปฏิรูปยางพาราในมิติความยั่งยืนการปลูกยางต้องใช้ยางพันธุ์ดี ที่ผ่านงานวิจัยและทดลองปลูกที่ให้ผลผลิตน้ำยาง 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เปอร์เซ็นต์น้ำยาง 40-50% ระยะการปลูก 3×9 เมตร การปลูกยางพันธุ์ดี นอกจากได้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้น และน้ำยางคุณภาพดีแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนเพราะใช้ปุ๋ยน้อยลง ประหยัดแรงงาน เพราะจำนวนต้นยางน้อยลง อีกทั้งยังสามารถปลูกต้นไม้ พืชเสริม และเลี้ยงสัตว์ในสวนยางได้อีกด้วย

เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของชาวสวนยาง ทางแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จึงได้นำแนวคิดของคุณพงศา ชูแนม แห่งธนาคารต้นไม้ มานำเสนอดังนี้ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนปรับวิถีชีวิตสู่สังคมเศรษฐกิจพอเพียง 1.ขั้นพึ่งตนสร้างกระบวนการส่งเสริมการพึ่งตนเอง 4 ด้าน 1.1.อาหาร ส่งเสริมให้ปลูกข้าวไร่ ในสวนยางที่ตัดโค่นแล้ว เป็นเวลา 2-3 ปี และปลูกพืชอาหารชนิดอื่นๆ ผสมในสวนยาง 1.2.พลังงาน ส่งเสริมการผลิตพลังงานชีวมวลจากเศษไม้ยางพารา ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล ระดับตำบล 1.3.ปัจจัยการผลิต ส่งเสริมการรับรองต้นไม้ให้เป็นทรัพย์ ป้องกันการสูญเสียที่ดิน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ย และสร้างระบบนิเวศสมดุล ให้น้ำ ดินสมบูรณ์ 1.4.ชุดความรู้ ส่งเสริมการวางแผนปลูกยาง การจัดการด้วยชุดความคิดเรื่องป่ายางพารา

2.ขั้นการแบ่งปัน ได้แก่ การสร้างกระบวนการในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันอาหาร พืชอาหาร พันธุ์พืช ความรู้ ฯลฯ ระดับชุมชน 3.ขั้นรวมพลังสร้างเครือข่าย สร้างกระบวนการกลุ่ม ชุมชนชาวสวนยางให้เกิดการรวมกลุ่มในระดับชุมชน ระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับชาติ ในการวางแผนร่วมการจัดการพื้นที่สวนยาง ให้เกิดการจัดการวิถีชีวิตเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

การส่งเสริมแรงจูงใจ ให้ปลูกต้นไม้ในสวนยางตามแนวคิดธนาคารต้นไม้ โดยการขยายระยะการปลูก และลดจำนวนลง ให้ปลูกต้นไม้มากขึ้น และรับรองต้นไม้ให้เป็นทรัพย์ ลักษณะอสังหาริมทรัพย์เชิงซ้อนของที่ดิน โดยให้มูลค่าต้นไม้เสมือนพันธบัตรรัฐบาล และรัฐช่วยค่าตอบแทน 5% ของมูลค่าไม้ต่อปีเป็นการชดเชยเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่สวนยาง ให้เป็นป่ายางพารา แต่การรับรองให้มีค่าเป็นพันธบัตรรัฐบาล เฉพาะเวลาที่ต้นไม้มีชีวิต เมื่อตัดต้นไม้สภาพการเป็นพันธบัตรรัฐบาล และอสังหาริมทรัพย์หายไป

การขยายระยะการปลูกยาง และการปลูกต้นไม้ในสวนยาง ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณน้ำยาง กลับเพิ่มปริมาณน้ำยางให้มากขึ้น เพราะต้นยางจะมีลำต้นที่ใหญ่ขึ้น และยังทำให้เกิดความสมดุลนิเวศในสวนยางพาราลักษณะป่ายางพารา สามารถแก้ปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง ได้เป็นอย่างดี และผลผลิตจากไม้ยางพารา และไม้ยืนต้นมีค่าทางเศรษฐกิจ จะทำให้ชาวสวนยางมีความมั่นคงทางรายได้ตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นตลอดจนถึงการตัดโค่น

วิธีการปลูกต้นไม้ และพืชเสริมในสวนยาง ต้องแก้ระเบียบสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยางที่ไม่อนุญาตให้มีต้นไม้ยืนต้นในสวนยางพารา และเสนอให้บังคับเกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกใหม่ให้ลดความหนาแน่นการปลูกยาง พร้อมปลูกต้นไม้ โดยมีวิธีดังนี้ ดูตามรูปนะครับ

 
ปลูกยาง ระยะ 3×9 เมตร ปลูก 59 ต้นต่อไร่ ต้นไม้ ระยะ 4×9 เมตร ปลูก 44 ต้นต่อไร่ พืชเสริม ระยะ 2×4.5เมตร ปลูก 118 ต้นต่อไร่ ปลูกยางพารา ใช้ยางพันธุ์ดี ให้น้ำยางสูง ต้นไม้ตะเคียนทอง จำปาทอง ยางนา พยอม ฯลฯ พืชเสริม ผักเหลียง ระกำ สละ ไผ่ พริกไทย ฯลฯ

โดยทั่วไปนิยมปลูกต้นไม้ และพืชเสริมหลังปลูกยาง 2-5 ปี รายละเอียดและวิธีการมีครับแต่จะนำเสนอในหนังสือคู่มือชาวสวนยางของแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง กำลังจัดพิมพ์ ในสังคมทุนนิยม ข้อเสนอเพื่อความยั่งยืนอาจไม่โดนใจชาวสวนยางทั่วไป ในขณะนี้เพราะทุกคนมีกิเลส และมีความคาดหวังว่าราคายางพาราเป็นไซเคิล มีขึ้นมีลง

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนตามแนวทางข้างต้นจะเกิดขึ้นในชาวสวนยางที่ตื่นรู้ มีปัญญา และเป็นชาวสวนยางตัวจริง เสียงจริง ที่ยึดเอาอาชีพการทำสวนยางพาราเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว และเชื่อว่ายางจะล้นตลาดในอนาคตอันใกล้ เพราะมีการปลูกทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนและเศรษฐกิจโลกไม่ดีมากนัก ทำให้ตลาดชะลอตัวเฉพาะในประเทศไทย 2 ปีข้างหน้าผลผลิตยางจะเพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 5 ล้านต้น เผลอๆ อาจได้เห็นราคายาง 3 กิโลร้อย

ส่วนพวกเจ้าของสวนยางตามแฟชั่น เช่น ข้าราชการ ครู พ่อค้าท้องถิ่น นักการเมือง หรือใครก็ตาม ทำสวนยางเพราะราคายางดีพอราคายางไม่ดี ก็พร้อมที่จะโค่นยางเพื่อทำอาชีพอย่างอื่น หรือขายสวนยางก็ไม่ว่ากัน

การแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน และสิทธิทำกินชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิต้องรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิในการครอบครองที่ดิน และสิทธิในที่ทำกิน โดยทำยุทธศาสตร์แนวร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินที่เข้มแข็งในภาคใต้ เช่น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และร่วมเสนอกฎหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับให้เป็นจริง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น