เลย - CP นำร่องตั้งโรงงานพัฒนาการผลิตและการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพจังหวัดเลย แหล่งปลูกยางพาราใหญ่ภาคอีสาน ดึงเกษตรกรชาวสวนยางพาราร่วมทุกกระบวนการ หวังช่วยชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องรับภาระค่าขนส่งยางไปขายให้โรงงานซึ่งอยู่นอกพื้นที่
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ห้องประชุมชัยพฤกษ์ โรงแรมเลยพาเลส จังหวัดเลย นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ร่วมเป็นประธานการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และเกษตรกร ผนึกนำร่องการพัฒนาการผลิตและการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพของเกษตรกรใน จ.เลย อย่างยั่งยืน
นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ กล่าวว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราครบวงจร และมุ่งสู่การเป็นผู้นำการผลิตยางธรรมชาติที่มีมาตรฐานออกสู่ตลาดโลก ในเบื้องต้นได้ตั้งโรงงานแปรรูปยางแท่งแห่งแรกขึ้นที่ ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปที่มีกระบวนการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัย ตลอดจนมีการควบคุมระบบการทดสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดของระบบคุณภาพ
รวมทั้งมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรองรับผลผลิตยางพาราของจังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงได้ถึง 150,000-200,000 ไร่ ที่สำคัญสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้รับ
นอกจากจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว บริษัทฯ ยังมีแนวคิดที่จะสร้างเครือข่ายสมาชิกในรูปแบบการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำยางคุณภาพดี โดยบริษัทฯ จะให้คำแนะนำตั้งแต่เรื่องของเขตกรรมที่ถูกต้อง การใส่ปุ๋ย การดูแลรักษา และการบริหารจัดการสวนยางพาราอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
นอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำยางให้เกษตรกรได้มากกว่า 10% แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการใส่ปุ๋ยที่ผิดวิธีอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราไทย บริษัทฯ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการ 4 ประสานว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพของเกษตรกรใน จ.เลย อย่างยั่งยืน (Loei Model) ระหว่างสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. เลย จำกัด (สกต.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด
โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายหลักคือ สนับสนุนให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกในโครงการได้เรียนรู้เทคโนโลยี และความรู้ตามหลักวิชาการเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับยางพารา ทั้งในเรื่องการผลิตน้ำยางคุณภาพ และการผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพเพื่อการเพิ่มมูลค่ายางพาราจากเจ้าหน้าที่ สกย. และบริษัทฯ
ขณะเดียวกันยังจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐานในราคาที่เป็นธรรมจาก สกต. ซึ่งจะทำให้สมาชิกสามารถพัฒนาและยกระดับการผลิตยางก้อนถ้วยที่ได้มาตรฐานขึ้น ในส่วนของบริษัทฯ นอกจากจะจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตยางพาราให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกในโครงการแล้ว บริษัทฯ ยังร่วมกับ สกย.กำหนดคุณภาพยางก้อนถ้วยมาตรฐานให้สอดคล้องกับราคารับซื้อที่เป็นธรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพการผลิตและการเก็บน้ำยาง
ทั้งนี้ การตั้งโรงงานในแหล่งผลิตจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องรับภาระค่าขนส่งยางไปขายให้โรงงานซึ่งอยู่นอกพื้นที่
ปัจจุบันยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง โดยในแต่ละปีประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกยางพารา และผลิตภัณฑ์จากยางพารามากกว่า 6 แสนล้านบาท ประกอบกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งประเทศไทยจัดเป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก
รองลงมา คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทั้งนี้ ผลผลิตรวมของทั้งสามประเทศ คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตยางธรรมชาติของโลก