xs
xsm
sm
md
lg

การแก้ไขราคายางกับการบังคับใช้กฎหมายเกษตรกรรมและการค้า

เผยแพร่:   โดย: สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์

กรณีปัญหาราคายางตกต่ำประกอบกับการที่ต้องรองรับผลงานโดยการรับช่วงงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ในการระบายยางในสต๊อกกว่า ๒ แสนตัน ที่เก็บพอกพูนไว้ในรัฐบาลก่อน จนมีปัญหาที่จะกระทบกับยางฤดูใหม่ที่จะออกมาในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ นี้ ที่จะยิ่งทำให้ราคายางจะตกต่ำลงไปอีก และเป็นผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้ปลูกยางจำนวนหลายล้านครอบครัว

สถาบันวิจัยและพัฒนากฎหมาย ของสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เห็นว่ากรณีจะเป็นประโยชน์ถ้าได้มีการศึกษาติดตามและนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะสั้นและระยะยาวของเกษตรกรผู้ผลิตน้ำยางสด ยางแผ่นรมควัน และอุตสาหกรรมยางในอนาคตของประเทศไทย จึงได้พิจารณาออกบทความฉบับนี้ที่หากจะเป็นประโยชน์สำหรับใช้เป็นแนวทางในการปรับยุทธศาสตร์ทางการเกษตร โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเกษตรกรรม การค้าและอุตสาหกรรม ให้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ข้อเท็จจริง

อุตสาหกรรมการผลิตน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควันในหลายประเทศได้มีอัตราเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๕ ปัจจัยที่สำคัญก็คือการบริโภคยางจากประเทศจีน นับจนถึงปัจจุบันประเทศจีนมีความต้องการยางที่จะใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าปีละประมาณ ๘๐ ล้านตัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปริมาณที่ใช้มากที่สุดในโลกนอกเหนือจากตลาดของประเทศยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่การแข่งขันการผลิตยางก็มีทุกประเทศในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงไทย ปัจจุบันเพิ่มเวียดนาม ลาว รวมถึงตอนใต้ของจีนที่เริ่มปลูกยาง นอกจากนี้ก็ยังมีอินเดียและหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่ผลิตยางออกขายในทุกตลาดเป็นจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ราคายางที่ผันผวนสูงขึ้นหรือต่ำลงจึงขึ้นอยู่กับผลผลิตรวมทั่วโลกที่มีความสามารถในการผลิตยางในแต่ละปี

ประเทศไทยนั้นได้มีการปลูกยางกันมากขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพราะราคายางพุ่งขึ้นสูงสุดประมาณ ๑๕๐ บาท/กิโลกรัม ระหว่างปี ๒๕๕๕ ทำให้มีการเร่งปลูกยางในหลายพื้นที่ และทำให้ผลผลิตยางของประเทศจะมากขึ้นหลายเท่าในอนาคต และเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาให้คำชี้แนะแก่เกษตรกร ประเทศไทยเองก็มีราคายางในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแสดงให้เห็นเป็นข้อมูลอยู่ทุกวันถึงอัตราการเคลื่อนไหวราคายางขึ้นลงที่มีอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดีข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยให้มีการลดการผลิตยางแต่อย่างใด ปริมาณการผลิตยังมีเพิ่มเติมเพราะมีการปลูกยางมากขึ้น เกษตรกรโดยเฉพาะบรรดานายทุนทางการเกษตรส่วนใหญ่มีความคาดหมายว่าราคายางที่สูงขึ้นจะส่งผลกำไรให้ได้ดีกว่าพืชเกษตรอื่น แต่ในที่สุดต้นทุนการผลิตยางต่อกิโลกรัมเกินกว่า ๖๐ – ๗๐ บาท การที่ราคายางตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละประมาณ ๖๐ บาท ทำให้มีผลขาดทุนค่อนข้างจะชัดเจน ต่อปัญหาที่ว่าราคายางที่ตกต่ำอยู่ขณะนี้จะทำอย่างไร ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับโดยเฉพาะในเรื่องของการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าก็มีตลาดกลางอย่างที่กล่าวแล้ว มีความพยายามที่จะซื้อยางจากภาครัฐเพื่อดึงราคาให้สูงขึ้นแต่ก็ทำได้ชั่วคราว ขณะนี้มีข้อเสนอของผู้นำทางเกษตรกรด้านการปลูกยางพาราต่อรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลควรจะให้ความสนใจและโดยเฉพาะข้อเสนอที่จะให้งดขายยางในสต๊อก ๒ แสนตัน เพราะจะทำให้ราคายางตกต่ำมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีการเสนอว่าควรจะให้มีการระงับการผลิตยางเป็นระยะเวลา ๖ เดือน ซึ่งก็มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีประเด็นว่าหากระงับการผลิตยาง ๖ เดือน เกษตรกรก็ไม่มีเงินทองที่จะไปจับจ่ายใช้สอย ประเด็นต่อไปมีว่าถ้าให้ผลิตทั้ง ๆ ที่รู้ว่าขาดทุนก็จะทำให้เกิดผลซ้ำเติมแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว แม้จะเอาเงินที่ขาดทุนนั้นมาจับจ่ายใช้สอยได้ก็เป็นเพียงระยะสั้นเป็นวงจรสั้น รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติปัจจุบันก็เลยพิจารณาว่าจะยับยั้งการขายยาง ในขณะเดียวกันก็จะจัดสรรเงินเข้ามาช่วยในลักษณะจะเป็นการให้เปล่า ซึ่งเรื่องนี้ถ้าพิเคราะห์ให้ดีก็จะเป็นเรื่องประชานิยมกลาย ๆ เหมือนกัน

ข้อกฎหมาย

ทั้งหมดจากข้อเท็จจริงข้างต้นจะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาทางการค้านั้นก็มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องแรกคือเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้นั้นก็หมายความว่ารัฐต้องเจียดเงินภาษีอากรหรือเงินที่เก็บสะสมไว้มาใช้จ่ายโดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์เพิ่มเติมในเชิงเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้ประชาชนพอใจได้ระยะหนึ่งเท่านั้นและเป็นเพียงระยะสั้น ๆ ดังนั้นหากจะคิดใหม่โดยเลือกที่จะปรับกฎหมายในรูปของการทำสัญญาแบบเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ปลูกยางเข้าร่วมมือด้วย กล่าวคือในกรณีที่เห็นด้วยกับการระงับการผลิตยางไว้ก่อนเพื่อรอการจำหน่ายขาดตลาดใน ๖ เดือนข้างหน้าว่าจะได้ราคาที่สูง รัฐบาลก็ต้องเชิญชวนให้เกษตรกรหยุดกรีดยาง แต่ต้องไม่ใช่นำเงินงบประมาณหรือเงินกองทุนไปใช้ให้เกษตรกรใช้เปล่า ๆ

ความเห็น

สถาบันวิจัยและพัฒนากฎหมายมีความเห็นว่ารัฐบาลควรจะขายยางจำนวน ๒ แสนตันเศษที่มีอยู่และนำเงินทั้งหมดที่ได้มาใช้เป็นการวางมัดจำ
จะให้หน่วยงานใดรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนสงเคราะห์เกษตรกรผู้ปลูกยางหรือเป็นหน่วยงานในก็เป็นกรณีที่รัฐบาลต้องพิจารณา เงินที่ได้จากการขายยางก็นำมาใช้เป็นเงินวางประกันการซื้อยางล่วงหน้าจากเกษตรกรในอีก ๖ เดือนข้างหน้าโดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าเกษตรกรต้องดูแลรักษาต้นยางให้ดี พร้อมที่จะกรีดได้ ๖ เดือนข้างหน้า โดยรัฐบาลร่วมมือกับผู้ประกอบการค้ายางโรงงานผลิตควรจะร่วมกันซื้อในราคาที่คาดหมายว่าสูงกว่าปัจจุบันไม่น้อยกว่าประมาณ ๑๐% ถึง ๒๐% ซึ่งในกรณีนี้ต้องศึกษาการตลาดและการผลิตของคู่แข่งด้วย ถ้าเป็นไปได้หมายถึงว่าเกษตรกรที่ผลิตยางก็จะได้รับเงินสำหรับการซื้อขายในอนาคตเหมือนเช่นกับประเพณีการค้าดอกลำไยทางภาคเหนือ หรือประเพณีการตกหรือซื้อข้าวเขียว เป็นการซื้ออนาคตหรือซื้อเวลาเพื่อรอให้ตลาดสินค้านั้นมีความต้องการมากขึ้น หากทำได้ดังนี้แล้วก็เชื่อได้ว่าเกษตรกรต้องผูกพันตามสัญญา จะไม่กรีดยางแต่ก็จะมีเงินใช้จากการที่จะขายยางของตนเองโดยได้รับเงินมัดจำมาก่อน กลไกนี้ถ้าทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมใจช่วยกู้สถานะของเกษตรกรผู้ปลูกยางของประเทศและให้เกษตรกรที่กรีดยางสามารถลืมตาอ้าปากได้ก็จะเป็นการแก้ไขสถานการณ์ในปีการผลิต ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ ไปได้

อย่างไรก็ดี ความจำเป็นในการวางกลยุทธ์การตลาดโดยร่วมมือประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ หรือทุกรายให้ช่วยการคุมการผลิต วางนโยบายเรื่องราคายางร่วมกันในทำนองเดียวกับการรวมกลุ่มตั้งราคาน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) ที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการสร้างระดับราคายางในตลาดโลกให้เหมาะสมกับภาคการผลิตของทุกประเทศได้

สถาบันวิจัยและพัฒนากฎหมาย เห็นว่าการปรับกลไกและวางยุทธศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การทำสัญญาร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน สัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศอาเซียน สร้างความสมดุลย์ในด้านการขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ถูกจังหวะถูกเวลาน่าจะเป็นประโยชน์ที่ดีของประเทศผู้ผลิตยางในการที่จะทำให้สินค้ายางดีขึ้น ทำให้เกษตรกรได้ลืมตาในอนาคตได้อย่างมั่นคงไม่มากก็น้อย

สถาบันวิจัยและพัฒนากฎหมาย
สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่มา :
หลักสูตรทนายความชำนาญการกฎหมายเกษตร ป่าไม้และที่ดิน และ หลักสูตรทนายความชำนาญการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗
กำลังโหลดความคิดเห็น