ผ่าประเด็นร้อน
คำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยเพรสซิเดนฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” พิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ แถลงผลประกอบการของบริษัทตอนหนึ่งว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกของบริษัทฯ ที่ก่อตั้งมานานกว่า 42 ปี ที่มียอดขายรวมมาม่าเติบโตต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์คือไม่ถึง 1% อีกทั้งในแง่ของตลาดประเภทถ้วย ปกติตลาดรวมจะเติบโต 2 หลัก แต่มาปีนี้ตลาดรวมก็แย่เติบโตแค่หลักเดียว
“สาเหตุหลักมาจากปีนี้สภาพเศรษฐกิจแย่มาก กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ค่อยดี ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำ จำนำข้าวก็ไม่ดีมีปัญหา มันไม่เติบโตจากรากหญ้า ขนาดซองยังไม่โตเลย ซึ่งไม่เคยเกิดภาวะอย่างนี้มาก่อน ทั้งๆ ที่ในอดีตเมื่อภาวะ เศรษฐกิจไม่ดีมาม่าจะต้องขายดีเป็นดัชนีชี้ชัดอย่างดี แต่ปีนี้แย่มากถึงขนาดคนไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อมาม่ากินเลย”
นั่นเป็นรายงานผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากว่าร้อยละ 50 และที่ผ่านมายอดขายสินค้าประเภทบะหมี่ถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดภาวะเศษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี และชัดเจนที่สุด จะเรียกดีกว่าผลสำรวจหรือการประเมินผลของสำนักเศรษฐกิจหลายแห่งด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่าทั้งคำพูดของผู้บริหารบริษัทและรายงานตัวเลขออกมาดังกล่าว อาจสร้างความขุ่นเคืองให้กับฝ่ายรัฐบาล รวมไปถึงผู้สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาควาสงบแห่งชาติ (คสช.) ในทำนองว่า “ดิสเครดิต” หาว่าอคติอะไรมั่ง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันอย่างรอบด้านก็ต้องยอมรับความจริงว่า กรณียอดขายมาม่าตกฮวบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์รอบ 42 ปี นี้เป็นเพียงการตอกย้ำให้เห็นความจริงในบั้นปลายเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นก่อนหน้านี้ ที่สำคัญก็คือตัวเลขที่สะท้อนออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่าคนไทยมี “หนี้ครัวเรือน” ที่สูงลิบลิ่วและขยายฐานออกไปในวงกว้างเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อการจับจ่าย ทำให้กำลังซื้อของประชาชนหดตัว และนี่อาจเป็นคำตอบว่าทำไมเศรษฐกิจถึงไม่ฟื้น ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาเป็นผลต่อเนื่องของการ “มีหนี้เพิ่ม” แบบพรวดพราดก็คือผลจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สินค้าตัวหลักราคาตกหมด เป็นผลมาจากการส่งออกที่ติดลบ รายได้จากการท่องเที่ยวไม่เข้าเป้า นี่คือข้อสรุปที่ตรงกันแล้วว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ต่ำกว่าร้อยละ 1 จากเดิมที่ คสช.เข้ามาคาดหมายว่าจะโตร้อยละ 2 แล้วลดลงมาเหลือร้อยละ 1.5 และร้อยละ 1 จนในที่สุดก็ต่ำกว่าอย่างที่เห็น
ขณะที่การคาดการณ์ในปีหน้าซึ่งถือว่าเป็นยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจ ที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะโตร้อยละ 4 แต่ล่าสุดหลายฝ่ายก็ออกมาเตือนแล้วว่าไม่น่าจะถึง อาจจะเพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากปัจจัยภายนอกที่เกิดวิกฤตหลายแห่งในโลก วิกฤตยูเครน-รัสเซีย เศรษฐกิจยุโรป ยังไม่ฟื้น เศรษฐกิจของจีนโตต่ำกว่าเป้าหมาย ยิ่งทำให้ไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักก็ทำท่าไม่สดใสตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันด้วยความเป็นธรรม ก็ต้องบอกว่าต้นตอของวิกฤตเศรษกิจแบบนี้ล้วนเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้นโยบาย “ประชานิยม” ใช้งบประมาณของรัฐมาหาคะแนนนิยมทางการเมืองอย่างมักง่าย รวมไปถึงการออกนโยบายแบบมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ชี้นำให้ให้ชาวบ้านก่อหนี้แบบไม่มีเหตุผล หรือใช้งบประมาณไปใช้แบบไม่รับผิดชอบ ก่อหนี้สาธารณะกันอย่างมโหฬาร ดังเห็นได้จากผลกระทบต่อเนื่องจาก “โครงการรถคันแรก” โครงการรับจำนำข้าว เอาเฉพาะสองโครงการดังกล่าวก็สร้างความพินาศย่อยยับให้กับบ้านเมืองแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุหลักๆที่ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้จนไม่มีเงินเหลือพอที่จะจับจ่าย ซึ่งการขาดกำลังซื้อดังกล่าวคือต้นตอของเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ประกอบผลจากปัจจัยภายนอกประเทศกระหน่ำเข้ามาซ้ำอีก จึงกลายเป็นว่ายังไม่ผ่านมรสุมไปได้เสียที
ดังนั้น ด้วยสภาพที่ยังเป็นอยู่แบบนี้ก็ย่อมถือเป็นข่าวร้ายสำหรับคนไทย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาลงได้แค่ไหน เพราะอย่างที่รู้กันว่าเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และที่สำคัญให้จับตาการออกมา “แว้งกัด” ของพวกเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ที่จะอาศัยลูกมั่วใช้เรื่องเศรษฐกิจมาโจมตี ทั้งที่ต้นตอของปัญหามาจากนโยบายประชานิยมทั้งสิ้น แต่ตราบใดที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ยอมเปิดโปงหรือชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายให้ชาวบ้านได้ตาสว่าง จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สถานการณ์ก็อาจพลิกกลับมาป่วนอีกรอบก็เป็นได้!!