xs
xsm
sm
md
lg

“มาม่า” โต 0.2% ต่ำสุดรอบ 42 ปี ดิ้นฝ่าวิกฤตลุยเปิดร้านอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุชัย  รัตนเจียเจริญ (ที่2จากซ้าย) และ พิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ (ที่3จากซ้าย)
“ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” เผยตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปีนี้โตแค่ 1.4% จากปีที่แล้วโต 7.5% ส่วนมาม่าเดี้ยงโตไม่ถึง 1% ต่ำสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัทฯ รอบ 42 ปี เหตุกำลังซื้อลดฮวบ เศรษฐกิจแย่ ดิ้นสารพัดทาง ตั้งเป้า 20,000 ล้านบาทใน 10 ปี

นายสุชัย รัตนเจียเจริญ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” เปิดเผยว่า ตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 15,400 ล้านบาท (แบ่งเป็นแบบถ้วย 30% และแบบซอง 70%) ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่ำมากแค่ 1.4% เท่านั้นเอง ลดลงจาก ปีที่แล้วที่มีการเติบโตมากถึง 7.5% โดยประเภทซองตลาดรวมในประเทศทรงตัว ส่วนประเภทถ้วยมีการเติบโตที่ลดลงเช่นกันจาก 20.3% ในปีที่แล้วเหลือเพียง 7.95% ในปี 2557

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2557 นี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 10,186 ล้านบาท เติบโต 0.2% และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 1,468 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของรายได้รวม ขณะที่มาม่ายังคงเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 50%

นายพิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกของบริษัทฯ ที่ก่อตั้งมานานกว่า 42 ปี ที่มียอดขายรวมมาม่าเติบโตต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์คือไม่ถึง 1% อีกทั้งในแง่ของตลาดประเภทถ้วย ปกติตลาดรวมจะเติบโต 2 หลัก แต่มาปีนี้ตลาดรวมก็แย่เติบโตแค่หลักเดียว

สาเหตุหลักมาจากปีนี้สภาพเศรษฐกิจแย่มาก กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ค่อยดี ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำ จำนำข้าวก็ไม่ดีมีปัญหา มันไม่เติบโตจากรากหญ้า ขนาดซองยังไม่โตเลย ซึ่งไม่เคยเกิดภาวะอย่างนี้มาก่อน ทั้งๆ ที่ในอดีตเมื่อภาวะ เศรษฐกิจไม่ดีมาม่าจะต้องขายดีเป็นดัชนีชี้ชัดอย่างดี แต่ปีนี้แย่มากถึงขนาดคนไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อมาม่ากินเลย

อีกทั้งปริมาณการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยก็เริ่มอิ่มตัวมาหลายปีแล้ว โดยอยู่ที่เฉลี่ย 45 ยูนิตต่อคนต่อปี จากค่าเฉลี่ยของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลกที่อยู่ที่ 40 ยูนิตต่อคนต่อปี โดยประเทศที่อัตราการบริโภคต่อคนต่อปีมากคือ อินโดนีเซีย ประมาณ 60.3 ยูนิต, ฮ่องกง 57.5 ยูนิต, เวียดนาม ประมาณ 57.3 ยูนิต, มาเลเซีย 46 ยูนิต ขณะที่ประเทศที่บริโภคน้อยคือ ปากีสถาน ประมาณ 0.8 ยูนิต, บังกลาเทศ ประมาณ 1.4 ยูนิต อินเดียประมาณ 4 ยูนิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะเช่นนี้บริษัทฯ ได้ปรับตัวมาก่อนหน้าแล้ว ด้วยกลยุทธ์หลักคือ ควบคุมค่าใช้จ่าย, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, หาแหล่งวัตถุดิบคุณภาพต้นทุนต่ำ, การหาตลาดใหม่ๆ, การลงทุนในต่างประเทศ และการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาทำมาบ้างแล้ว เช่น การผลิตแป้งเอง โดยร่วมทุนกับเคอร์รี่ฟลาวมิลล์ การเพิ่มการบริโภคประเภทถ้วยเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าตลาด การลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับปี 2558 มีแผนที่จะลงทุนต่อเนื่อง เช่น ลงทุน 400 ล้านบาท เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ 4 เครื่องเป็นแบบซองเหมือนเดิม ลงทุน 120 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องจักรใหม่ผลิตแบบถ้วยที่โรงงานระยอง เพิ่มกำลังผลิตอีก 30% จากเดิมผลิตได้ประมาณ 800,000 หีบต่อวัน ขณะที่แบบซองนั้นมีกำลังผลิตรวม 6 ล้านซองต่อวัน และปีหน้าเตรียมที่จะก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่พม่าหลังจากที่ได้ที่ดินแล้ว คาดว่าต้องลงทุน 300 ล้านบาท ล่าสุดเปิดโรงงานผลิตที่ฮังการีแล้ว ลงทุน 330 ล้านบาท กำลังผลิต 10 ล้านซองต่อเดือน

นอกจากนั้นยังมองหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมและขยายเพิ่มด้วย เช่น เม็กซิโก กับบราซิล ซึ่งที่ผ่านมาสัดส่วนตลาดส่งออกของบริษัทฯ แบ่งเป็น อเมริกา 23% ยุโรป 32% เอเชีย 34% แคนาดา 6% ออสเตรเลีย 4% แอฟริกา 1% รวมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาหารด้วย ซึ่งที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาคือ ร้านอาหาร ที่อาจจะมีบะหมี่เป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งมีการเจรจากันทั้งกลุ่มทุนจากยุโรป อเมริกา แต่ยังไม่มีข้อสรุป

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า นโยบายของบริษัทฯ จากนี้มีเป้าหมายที่จะต้องเพิ่มรายได้รวมของบริษัทฯ เป็น 20,000 ล้านบาทภายใน 10 ปีเริ่มจากปีนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น